ข่าว

กทม. เตรียมทำ "แซนด์บ็อกซ์เด็กเล็ก" อย่างน้อย 30​ แห่งในปี2566

กทม. เตรียมทำ "แซนด์บ็อกซ์เด็กเล็ก" อย่างน้อย 30​ แห่งในปี2566

28 ม.ค. 2566

"ศานนท์ หวังสร้างบุญ" เผย เมืองหลวงเต็มไปด้วยคนจนเมือง ชุมชนแออัด พ่อแม่มีลูกไม่พร้อม เด็กปฐมวัยเข้าไม่ถึงระบบการเรียนฟรี 15 ฟรี มีเด็ก 63,997 คนไม่มีหน่วยงานดูแล ลั่นปี2566 กทม. เล็งทำ "แซนด์บ็อกซ์เด็กเล็ก" สร้างต้นแบบพัฒนาคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกมิติ

“การเฝ้าระวังและฟื้นฟูผลกระทบต่อเด็กในภาวะยากลำบากภายหลังการระบาดของ โควิด-19”และนโยบายของกรุงเทพมหานคร ในการเฝ้าระวังและฟื้นฟูผลกระทบต่อเด็กจากภาวะยากลำบากภายหลังการระบาดของ โควิด-19โดยความร่วมมือระหว่าง สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยามหิดล ร่วมกับ สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร,สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2566 ที่โรงแรมมารวยการ์เด้น ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กทม.

 

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แม้ในประเทศไทยจะมีหลักประกันสุขภาพให้การดูแลเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดา มีระบบการส่งเสริมการศึกษาของเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 2 ปี แต่ในกรุงเทพมหานคร(กทม.)ซึ่งเป็นเมืองหลวงที่เจริญที่สุดกลับมีปัญหาคนจนเมืองและมีความเหลื่อมล้ำของการดูแลและให้การศึกษาของเด็กเล็กๆหรือที่เรียกว่าเด็กปฐมวัย

 

พบว่า มีเด็กเล็กๆ ที่อยู่ในครอบครัวยากจน ชุมชนแออัด พ่อแม่มีความไม่พร้อมด้วยเหตุหลายประการ เช่น เป็นวัยรุ่น เป็นประชากรแฝง เลี้ยงเดี่ยว ติดยา ครอบครัวใช้ความรุนแรง แตกแยก เด็กในครอบครัวเหล่านี้หลุดออกจากการดูแลสุขภาพในระบบประกันสุขภาพ เข้าไม่ถึงระบบการเรียนฟรี 15 ฟรี

 

หลายคนหลายครอบครัวเข้าไม่ถึง หรือไม่มีสิทธิในโครงการเงินอุดหนุนทารกแรกเกิด หรือโครงการช่วยเหลือความยากจนอื่นๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัวยากจนเหล่านี้มากขึ้น

 

กรุงเทพมหานคร จึงได้ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ติดตามปัญหานี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบค้นหาคัดกรอง และ ช่วยเหลือเด็กปฐมวัยในครัวเรือน บรรเทาความเดือดร้อนจากการระบาดของ โควิด-19 และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ พัฒนาการ ศักยภาพการเรียนรู้ และพฤติกรรมของเด็กในระยะยาว

 

รองผู้ว่าฯกทม. ระบุว่า กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนและการดูแลเด็กปฐมวัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยรวมพลังความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ โดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลผลิตการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ได้ให้เกียรติร่วมเป็นกรรมการด้วย เพื่อเป้าหมายหลัก 2 ประการ ได้แก่

 

1. พัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ กทม. และการพัฒนาทักษะให้แก่ครูผู้ดูแลเด็ก ที่ไม่จำกัดเพียง ศพด. ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. 278 ศูนย์ ดูแลเด็ก 18,864 คน อยู่ในพื้นที่ 45 เขตเท่านั้น จากที่กทม. มีทั้งหมด 50 เขต แต่ต้องมีแนวทางให้การสนับสนุนศูนย์ในชุมชนที่ไม่ได้รับการจัดตั้ง และ ช่วยเหลือเด็กกทม.อีก 63,997 คน ที่ยังไม่ทราบว่าอยู่ในการดูแลของสังกัดใด จากการสำรวจของสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2564

 

2. ติดตามกลุ่มเด็กยากจน เด็กในภาวะยากลำบากต่างๆ สนับสนุนการพัฒนากำลังคนและความสามารถของคนในชุมชนที่ต้องทำงานกับเด็กและครอบครัวที่มีภาวะยากลำบาก ให้มีความรู้และทักษะ ในการเฝ้าระวังและให้การดูแล ฟื้นฟู และป้องกันเด็กในภาวะยากลำบาก และจะขยายให้การดำเนินงานนี้ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่ ครอบคลุมเด็กในภาวะยากลำบากทุกคน

 

อย่างไรก็ตาม กทม. มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระเบียบต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดให้ศูนย์สามารถดูแลเด็กๆได้อย่างเต็มที่และมีคุณภาพ เช่น

  1. การปรับสถานะของศูนย์ให้มีความเป็นอิสระให้สามารถบริหารจัดการตนเองได้มากขึ้น
  2. การปรับสถานะครูให้ได้รับการพัฒนาทักษะและได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม
  3. การปรับเงินอุดหนุน ค่าอาหาร ค่านม และค่าอุปกรณ์การเรียนรู้ของเด็กรายบุคคลให้เหมาะสมและเพียงพอ โดยเบื้องต้น กทม. ได้ปรับระเบียบเงินอุดหนุนค่าอาหารและนมของเด็กต่อวันจาก 20 บาท เป็น 32 ต่อคนต่อวัน ค่าอุปกรณ์การเรียนการสอน/เสริมทักษะ จาก 100 บาท เป็น 600 บาทต่อคนต่อปี เรียบร้อยแล้ว
  4. การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่อยู่ภายใต้การดูแลของฝ่ายพัฒนาชุมชน สำนักงานเขต ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือสงเคราะห์มากกว่าด้านการจัดการเรียนรู้ ต้องเป็นจุดเชื่อมโยงอสม. อพม. โรงเรียนอนุบาล ให้เป็นทีมบูรณาการในพื้นที่เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย

 

ภายใน ปี 2566 กทม. มีแผนทดลองนำร่องการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ผ่านกลไก Sandbox ​ หรือ “แซนด์บ็อกซ์เด็กเล็ก” อย่างน้อย 30​ แห่ง ร่วมกับองค์กรภาคี ได้แก่ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา (กสศ.), รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป, สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม

 

"เพื่อสร้างต้นแบบการพัฒนาคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกมิติ ตั้งแต่อายุ 2 ถึง 8 ปี ให้มีความพร้อมเพื่อพัฒนาสุขภาพ ศักยภาพการเรียนรู้ และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของเด็กๆ ให้เติบโตไปด้วยกันทั้งเด็กปกติและเด็กที่อยู่ครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤติต่างๆ ของสังคม" รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวสรุป