
ภาคเอกชนค้านยุบสภาหอการค้าแนะรัฐยึด4ข้อ
"อยู่ต่อแก้เศรษฐกิจ-สางคอรัปชั่น-สร้างความเชื่อมั่นต่างชาติ-ผลักดันมาบตาพุด" สอน นปช. "อดทน อดกลั้น" นัดแถลงจุดยืน 5 เม.ย. "กรณ์" ย้ำอีก 9 เดือนเหมาะที่สุด ฟุ้งวางแผนบริหารยาว 9 ปี
ภายหลังการล้มโต๊ะเจรจาครั้งที่ 2 ระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมฝ่ายรัฐบาล กับแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง นำโดย นายวีระ มุสิกพงศ์ เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีจุดยืนในการยุบสภาไม่ตรงกัน ฝ่ายคนเสื้อแดงขีดเส้นตายให้นายกรัฐมนตรียุบสภาภายใน 15 วัน แต่นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่าต้อง 9 เดือนเท่านั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 เมษายน นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการหอการค้าไทย ออกแถลงการณ์ว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากเกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมาก ที่มีข่าวการยิงและขว้างระเบิดเผยแพร่ไปทั่วโลกเกือบทุกวัน เป็นเหตุให้หลายประเทศขาดความเชื่อมั่นและแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวของตนให้ทบทวนการเดินทางมาประเทศไทย
จากการประเมินสถานการณ์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ตามสถิตินักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ที่ผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ ปกติในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 4.5 หมื่นคนต่อวัน ล่าสุดอยู่ที่ 3.8 หมื่นคนต่อวัน และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจะหายไป 20-30% มูลค่าความเสียหาย 8,000-10,000 ล้านบาท นอกจากนี้จะมีผลกระทบไปถึงการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของประชาชนและการจ้างงาน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งขณะนี้พบว่าการบริโภคเริ่มหดตัวลงเฉลี่ยวันละ 500-800 ล้านบาท ส่วนการท่องเที่ยวมีรายได้หดตัวลงวันละ 200-500 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน นักลงทุนและนักธุรกิจชาวต่างชาติเริ่มหวั่นไหวต่อสถานการณ์ที่ไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่ายๆ หอการค้าไทยเป็นห่วงว่าหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป เศรษฐกิจสังคมของประเทศจะเข้าขั้นวิกฤติ เนื่องจากเงินทุนหมุนเวียนไม่เข้าประเทศ ขาดเงินไปจ้างงาน ไม่มีเงินไปจับจ่ายเพื่อการบริโภค การพัฒนาประเทศจะหยุดชะงักและสูญเสียโอกาสในการแข่งขันลงอย่างน่าเสียดาย
ตามที่รัฐบาลได้จัดการเจรจากับแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้สร้างความยินดีแก่ประชาชนโดยทั่วไปเป็นอย่างยิ่งและสร้างความหวังว่า จะเป็นจุดที่สามารถสร้างความปรองดอง เหตุการณ์ต่างๆ จะได้ยุติลงด้วยดี แต่เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่ในที่สุดการเจรจาก็ไม่สัมฤทธิผลดังที่ได้ทราบกันอยู่แล้ว
ทั้งนี้ หอการค้าไทยขอเรียกร้องให้ทั้งรัฐบาล และ นปช. พิจารณาและดำเนินการดังนี้ 1.ให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและงานที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จสิ้นและจัดทำแผนงานให้ชัดเจนในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ 2.การแก้ปัญหาปราบปรามคอรัปชั่น สร้างความโปร่งใสให้เกิดความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นธรรมในสังคม 3.รักษาและบังคับใช้กฎหมาย ไม่ให้เกิดข้อครหาในเรื่องสองมาตรฐาน และให้เกิดความสงบปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพื่อให้ต่างชาติเกิดความเชื่อมั่น 4.แก้ไขปัญหาโครงการอุตสาหกรรมมาบตาพุดให้เป็นที่เรียบร้อย
ในส่วนของ นปช. ควรพิจารณาในประเด็นดังต่อไปนี้ 1.ขอให้ใช้ความอดทน อดกลั้น โดยคำนึงถึงจุดมุ่งหมายหลักของท่านและความสงบสุขในการชุมนุม รวมทั้งดำเนินการพิจารณาแต่งตั้งตัวแทนเข้าหารือกับรัฐบาล เพื่อหาทางออกให้แก้ปัญหาของประเทศชาติต่อไป 2.เนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ จึงหวังว่าประชาชนชาวไทยทุกคนจะได้ฉลองเทศกาลสงกรานต์กับครอบครัวด้วยความสุข ปราศจากความกังวลทั้งมวล
ดังนั้น หอการค้าไทยได้แสดงจุดยืนผ่านสื่อ และจะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันเอกชน ประกอบด้วยสภาหอฯ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในการประชุมวันที่ 5 เมษายนนี้ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชน (กรอ.) ต่อไป
วันเดียวกัน นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจกรณีที่จะมีการประกาศยุบสภาทั้งในระยะสั้น และระยะ 9 เดือน ตามที่นายกรัฐมนตรีระบุไว้พร้อมกับจัดเตรียมแผนเศรษฐกิจเพื่อรองรับกรณีดังกล่าว ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงอยู่แล้วที่ต้องจัดทำแผนเพื่อดำเนินการในเรื่องต่างๆ ให้แล้วเสร็จ ไม่ว่าการยุบสภาจะมีเวลาอีก 2 สัปดาห์ 3 เดือน หรือ 9 เดือน ส่วนการเรียกร้องให้ยุบสภาภายใน 15 วัน ไม่ใช่จังหวะที่ดี เพราะไม่สามารถจัดทำแผนเพื่อป้องกันผลกระทบต่อนโยบายและดูแลเศรษฐกิจของประเทศได้ แต่หากพิจารณาตามเหตุผลที่เหมาะสม อย่างน้อยที่สุดสิ้นปีนี้ จึงจะสามารถยุบสภาโดยไม่เกิดผลกระทบ
"โดยรวมผมวางแผนบริหารเศรษฐกิจไว้ประมาณ 9 ปี ซึ่งผมคุยกับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ยังดุผมเลยว่าแผนเศรษฐกิจวางไว้แค่ 9 ปี ได้อย่างไรต้องวางกัน 20 ปี แต่ผมคิดว่าอายุ 55 ก็พอแล้ว ซึ่งหาก 9 เดือนมีการยุบสภาแล้วมีการเลือกตั้งใหม่ ผมกลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลังอีก 4 ปีแน่นอน รวมแล้วผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ 5 ปี ผมก็อายุ 51 ปี ผมก็มีอีก 4 ปี ที่จะเป็นรัฐมนตรีคลังอีกสมัย ซึ่งจะเป็นจนอายุครบ 55 ปี แล้วก็จะหยุดเล่นการเมือง" นายกรณ์กล่าว
ทั้งนี้ วาระเร่งด่วนที่กระทรวงการคลังจะเร่งผลักดันดำเนินการให้แล้วเสร็จ คือ การผ่านร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายปี 2554 ที่ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ 2.07 ล้านล้านบาท เป็นงบขาดดุล 4.2 แสนล้านบาท คาดว่าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 27 เมษายนนี้ พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท การผลักดันกฎหมายเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ขณะนี้ได้เร่งให้รัฐมนตรีช่วยว่าการคลังทั้ง 2 คน สรุปโครงสร้างภาษีของหน่วยงานที่รับผิดชอบมาเสนอแล้ว โดยหนึ่งในนั้น คือ ร่างกฎหมายภาษีสิ่งแวดล้อม
ส่วนร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ยืนยันจะผลักดันให้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะเข้าที่ประชุมได้หลังเทศกาลสงกรานต์ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนร่างกฎหมายอื่นที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาก็จะเร่งผลักดันเช่นกัน นอกจากนี้ จะเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ การขับเคลื่อนนโยบายสินเชื่อขนาดเล็ก (ไมโครไฟแนนซ์) รวมถึงการปฏิรูประบบโทรคมนาคม ส่วนโครงการลงทุนไทยเข้มแข็งยังเดินหน้าได้ตามปกติ แต่ที่จะทบทวนได้เสมอ คือ แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี ทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มขึ้น
"หากมีการยุบสภา และต้องไปใช้งบประมาณปี 2553 เงินที่จะเข้าไปดูแลประชาชนหายไป 3 แสนล้านบาท ทั้งในเรื่องของประกันรายได้ และโครงการเรียนฟรี ที่ยังต้องมีต่อเนื่อง ขณะที่ พ.ร.บ. 4 แสนล้านบาท ที่จะใช้โครงการไทยเข้มแข็ง จะเอาเงินมาจากไหน" นายกรณ์กล่าว
ขณะเดียวกัน นายวิโรจน์ จิรัฐติกาลโชติ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ เขตพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของ นปช.ที่ให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 15 วัน ภาคเอกชนเห็นว่าหากยุบสภาตามที่ นปช.เรียกร้อง ประชาชนและประเทศชาติจะได้ประโยชน์อะไร เพราะเศรษฐกิจของประเทศกำลังฟื้นตัวและขับเคลื่อนไปได้ดี ข้อเสนอที่ให้มีการยุบสภาภายใน 15 วัน เหมือนคนทั้งประเทศกำลังถูกจับเป็นตัวประกันหรือไม่ ประเทศชาติจะเดินไปข้างหน้าต่อได้อย่างไร ส่วนข้อเสนอของรัฐบาลที่ระบุว่าจะยุบสภาภายใน 9 เดือน เห็นว่ามีเหตุผลที่ยอมรับได้ เนื่องจากต้องเตรียมขั้นตอนทุกอย่างให้พร้อมก่อนประกาศยุบสภา ทำให้เอกชนรู้กรอบเวลาที่ชัดเจนและเตรียมตัวได้ทัน และใช้เวลาอีก 9 เดือน เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ก็ไม่ล่าเกินไป เพราะรัฐบาลจะได้มีเวลาดูแลนโยบายและเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวให้มีเสถียรภาพมากกว่านี้