จี้ กกต. เร่ง 'รับรองผลเลือกตั้ง' ให้ 'จัดตั้งรัฐบาล' ได้โดยเร็ว
สรุปบทเรียนเลือกตั้ง66 ต้องเพิ่มความรู้ กปน. เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม เร่ง 'รับรองผลการเลือกตั้ง' ให้ 'จัดตั้งรัฐบาล' ได้โดยเร็ว
iLaw แถลงสรุปผลการจับตาและรายงานผลการนับคะแนนในการเลือกตั้ง66 โดย vote62 ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง iLaw, Rocket Media Lab, Opendream และองค์กรพันธมิตรอีกมากมาย ทั้ง We Watch ทะลุฟ้า ActLab มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)
เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 ฯลฯ ที่ร่วมระดมแรงหาอาสาสมัครเพื่อร่วมกันจับตาและรายงานผลการนับคะแนนในการเลือกตั้ง66 มีข้อเสนอต่อ กกต. ดังต่อไป
ข้อเสนอในระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า
ในสถานการณ์ปัจจุบัน กกต. ควรเร่งรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุด แม้ในระเบียบข้อ 215 จะให้เวลากกต. 60 วัน แต่หากกกต. ตรวจสอบแล้วว่าการเลือกตั้ง ในพื้นที่ใดไม่มีข้อสงสัยเรื่องการทุจริตก็ควรประกาศรับรองในวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2566
เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่สามารถเดินหน้าไปได้โดยไม่เปิดช่องว่างให้เกิดการเจรจาต่อรอง เพื่อเปลี่ยนแปลงแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลให้แตกต่างไปจากที่ประชาชนได้ออกเสียงมา
สําหรับเขตเลือกตั้งที่มีข้อร้องเรียนว่าผลคะแนนรวมไม่ตรงกับจํานวนผู้มาใช้สิทธิ เลือกตั้ง ระเบียบข้อ 177 วรรคสี่ และข้อ 223 ให้อํานาจกกต. สั่ง นับคะแนนใหม่ ได้และ ควรสั่งโดยเร็ว เมื่อมีข้อครหาเกี่ยวกับการนับคะแนนและการรายงานผลคะแนน
การสั่งให้นับ คะแนนใหม่ควรจะเป็นวัฒนธรรมพื้นฐานที่สร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส ไม่ใช่การเพิ่มภาระและไม่ใช่การเสียหน้าสำหรับกกต.
สําหรับเขตเลือกตั้งที่ยังมีข้อสงสัย และมีข้อร้องเรียน กกต. ควรเร่งตรวจสอบและชี้แจงต่อสาธารณะให้เร็วที่สุด เช่น กรณีการรวมคะแนนแล้วผู้สมัครบางคนมีคะแนนเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว กรณีข้อมูลที่แสดงผลจากระบบ ECTReport มีลักษณะ บัตรเขย่ง คือ
คะแนนของผู้สมัครทุกคนรวมกันมากกว่าจํานวนผู้มาใช้สิทธิและเลิกพฤติกรรมการ กาหัว ประชาชนที่แสดงความคิดเห็นว่าไม่เป็นความจริงแต่ใช้การอธิบายข้อเท็จจริงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ชัดเจนแทน
ข้อเสนอแนะสําหรับการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป
กกต. ควรเปิดเผยข้อมูลที่จําเป็นอย่างเป็นระบบและเป็นกิจจะลักษณะ เช่น ข้อมูล สถานที่ตั้งหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ ข้อมูลจํานวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าแต่ละพื้นที่ ข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ข้อมูลค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ข้อมูลเรื่องร้องเรียนและผลการ พิจารณา ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนตรวจสอบและสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งได้สะดวกขึ้น และเกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางมากขึ้น
กกต. ควรให้ความรู้และจัดอบรมให้กับกรรมการประจําหน่วย (กปน.) ให้เข้าใจระบบ การจัดการเลือกตั้งภาพรวมให้มากขึ้น ให้มีความรู้เรื่องขั้นตอนการปฏิบัติและเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้เข้าใจและเคารพประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมสังเกตการณ์การนับคะแนน
เปิดให้ประชาชนตรวจสอบ สอบถาม ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งลดขั้นตอนที่ไม่จําเป็นเพื่อลดภาระและเพิ่มประสิทธิภาพของ กปน. ด้วย
กกต. ควรถอดบทเรียนจากระบบการรายงานผลคะแนนในปี 2566 และพัฒนาระบบที่ดีขึ้น โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบกฎหมาย ระเบียบ และพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการรายงานผลคะแนนที่รวดเร็ว ถูกต้อง และโปร่งใสกว่าเดิม