‘วิษณุ’ แจงคนที่ถูกให้ ‘หยุดปฏิบัติหน้าที่’ เสนอชื่อโหวตนายกฯ ไม่ได้
'วิษณุ' แจงข้อกฎหมาย คนที่ถูกให้ 'หยุดปฏิบัติหน้าที่' ไม่สามารถเสนอชื่อ 'โหวตเป็นนายกฯ' ได้ ย้ำใครทูลเกล้าฯ ชื่อมีปัญหา ต้องรับผิดชอบ แนะ สส.จะยื่นตาม ม.82 สอยใคร ให้รอถวายสัตย์ปฏิญาณตน พร้อมชี้ช่อง ม.151 ศาลยุติธรรมใช้เวลานาน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถูกฟ้องร้องมีคดีความอยู่ และในขณะนั้นมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ การโหวตนายกรัฐมนตรี โดยศาลสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ มีขั้นตอนกฎหมายใดที่ขัดขวางไม่ให้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่ ว่า ปกติการแต่งตั้งตำแหน่งใดก็ตาม เป็นพระราชอำนาจ
โดยกรณีแต่งตั้งข้าราชการประจำ ผู้พิพากษา อัยการ อธิบดี หรือแม้แต่ขอประทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้มีข้อตกลงกับสำนักพระราชวังมา 2-3 ปีแล้วว่า ให้เข้มงวดกวดขัน ถ้ามีก็ให้กราบบังคมทูลขึ้นไปว่า มีเหตุแบบนี้อยู่ แล้วจะโปรดเกล้าฯ อย่างไรก็แล้วแต่
ประธานสภาฯ รับผิดชอบโหวตนายกฯ
ในกรณีของนายกรัฐมนตรี ก็ใช้หลักเดียวกัน พร้อมย้ำว่า เมื่อโปรดเกล้าฯ ก็เป็นเรื่องของพระราชอำนาจ ก็ไม่ต้องสงสัยอะไร แต่ต้องกราบบังคมทูลขึ้นไปว่าเกิดอะไรขึ้น และผู้ที่รับผิดชอบ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น คือผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็คือประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งการรับสนองก็คือการรับผิดชอบแทน
พร้อมยกตัวอย่างในอดีต สภาฯ โหวต พล.อ.อ. สมบูรณ์ ระหงษ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในขณะนั้น ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาฯ เป็นคนเสนอชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น นายอาทิตย์ก็ต้องรับผิดชอบไป
เมื่อถามย้ำว่า ถ้ามีวาระการ โหวตเลือกนายกฯ ประธานสภาฯ ก็ต้องรับผิดชอบ ถ้ากล้าเปิดให้มีการโหวต นายวิษณุ กล่าวว่าประธานสภาฯ ก็ต้องดูแลให้ถูกต้อง ให้ดี จะเบรกอะไรก็เบรกในชั้นประธานสภาฯ
ส่วนกรณีมีใครถูกสั่งให้ 'หยุดปฎิบัติหน้าที่' ชื่อคนนั้นจะนำไปเสนอโหวตเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ นายวิษณุ ยืนยันว่า “ไม่ได้” แม้คดีจะยังไม่สิ้นสุด เพราะถือว่า 'หยุดปฏิบัติหน้าที่' แล้ว ก็เข้าไปทำหน้าที่ไม่ได้ แล้วจะไปตั้งทำไม
เมื่อถามทำย้ำว่า ครั้งที่แล้ว นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ถูกให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เหตุใดจึงมีการเสนอชื่อเข้าไปได้ นายวิษณุ กล่าว ตนเข้าใจว่า โหวตเลือกนายกฯ ไปแล้ว 2 วัน จึงถูกให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ 2 สมัย
ฟ้อง ม.151 ใช้เวลาพิจารณานานมาก
นายวิษณุ ยังกล่าวอีกว่า ปกติศาลจะไม่สั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ เพราะเร็วเกินไป ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ส่วนถ้า กกต. จะฟ้อง ม.151 ศาลอาญาก็ต้องใช้เวลาพิเคราะห์นานพอสมควร ทั้งนี้ หากเรื่องอยู่ในศาลอาญา ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีการให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ แต่ ม.151 เป็นที่มาของทุกเรื่อง ถือว่าถูกต้องแล้ว ที่ดรอปเรื่องอื่นให้หมด แล้วเหลือ ม.151 เพราะถ้าใช้มาตรานี้ ผลที่ออกมาจะครอบคลุมทั้งหมด แต่ใช้เวลานาน
ส่วนกรณี สส. เข้าชื่อ 50 คน สามารถนำ ม.151 ไป ยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ใช้ ม.151 แต่ใช้ ม.82 ซึ่งถ้าฝั่ง สว.จะยื่นก็ใช้ 25 คน เพราะ สว.สามารถลงชื่อเพื่อตรวจสอบ สส. และ สว. รวมถึงรัฐมนตรีได้ โดยยื่นผ่านประธานรัฐสภา เมื่อมีการเลือกกันแล้ว และอีกช่องทางหนึ่งคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เป็นผู้ยื่น