ข่าว

ไขปม เสื้อแดงยึดเมืองสร้าง"ขอนแก่นโมเดล"

ไขปม เสื้อแดงยึดเมืองสร้าง"ขอนแก่นโมเดล"

03 พ.ค. 2553

การระดมคนเสื้อแดงตั้งด่านสกัดตำรวจ ทหาร และค้นรถที่ต้องสงสัยในพื้นที่ภาคอีสาน หรือแม้กระทั่งการสกัดหน่วยทหารและยุทโธปกรณ์ ที่จะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ จนแผ่ลามไปในหลายพื้นที่ จนกลายเป็น "ขอนแก่นโมเดล"

กรณีตัวอย่างเช่น จ.ขอนแก่น ที่กำลังเป็นพื้นที่นำร่องการทำโมเดลการต่อสู้ของคนเสื้อแดง ที่ถ่ายทอดเอาความรุนแรงในการชุมนุมกระจายลงในพื้นที่นั้น ปัจจัยที่ทำให้เสื้อแดงคลั่งลามขยายอย่างได้ใจคงไม่พ้น ผลพวงของ "รัฐตำรวจ" ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร วางรากฐานไว้ และมันได้สนองตอบเขาได้อย่างคุ้มค่า

 ยิ่งเมื่อถอดรหัสความคิดของนายตำรวจระดับรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น อย่าง  "พ.ต.อ.คัชชา ธาตศาสร์" ที่กล่าวถึงการลุกฮือของคนเสื้อแดงในพื้นที่ ที่ว่า "จากการสืบสวนและรวบรวมข้อมูลพบว่า คนรากหญ้าถูกดูหมิ่นเหยียดหยามว่ากลุ่มที่มาชุมนุมนั้นถูกจ้างมา โดยเฉพาะโฆษกรัฐบาลหรือโฆษกต่างๆ มักจะพูดว่าเป็นม็อบรับจ้าง จุดนี้ทำให้กลุ่มคนรากหญ้าเขาโกรธมาก ซึ่งเขาบอกว่าเขาก็มีศักดิ์ศรีเช่นกัน การพูดเช่นนี้เหมือนกับเป็นการหมิ่นศักดิ์ศรี พวกเขามีค่าของความเป็นคนเช่นกัน นั่นแสดงให้เห็นว่า การไปประท้วง มิได้ถูกรับจ้าง มาด้วยใจ มาด้วยจิตวิญญาณ มาด้วยอุดมการณ์ จะสังเกตได้ว่า เขาไม่ได้ถูกจ้างมา การชุมชุมทุกครั้งที่ขอนแก่นจะมีการบริจาคหรือตู้บริจาคในแต่ละคืน ได้เงินเกือบแสนบาท"

    ความโกรธแค้นของคนเสื้อแดงที่ถูกปลุกระดมเพื่อสร้างความเกลียดชัง และก่อการเคลื่อนไหวโดยเสรี โดยที่แขน ขาของรัฐในพื้นที่แทบไม่ทำอะไร ด้านหนึ่งทำให้เกิดความ "ได้ใจ" ทำให้การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงฮึกเหิม ยิ่งเมื่อตำรวจแทบทั้งเมืองถูกมองว่าเป็น "ตำรวจมะเขือเทศ" ยิ่งทำให้ผู้ที่เคยถูกกดขี่จากอำนาจรัฐผ่านตำรวจยิ่งคึกคะนองจนเกิดการปฏิบัติการแบบไร้ขอบเขต

 ผลพวงการสร้างรัฐตำรวจของทักษิณ ที่ยังชดใช้บุญคุณกันยังไม่เสร็จนั้น นับเป็นผลประโยชน์ที่ตำรวจได้กันอย่างน่าทึ่ง เช่นตำรวจในโรงพักขนาดใหญ่ ก่อนหน้านี้มีผู้กำกับยศ พ.ต.อ. มีตำรวจระดับ พ.ต.ท.ไม่เกิน 3 คน แต่ปัจจุบันเมื่อมีการขยายตำรวจ แต่ละโรงพักนับตำรวจยศ พ.ต.ท.ถึง 12 คน และยังมี พ.ต.ท.ระดับ (สบ 4)  เทียบเท่าผู้กำกับฯ ตำรวจที่จบโรงเรียนพลตำรวจ เมื่อเปลี่ยนระบบเงินเดือนเป็นแบบแท่ง ลักษณะเดียวกับ ก.พ. ที่เดิมเงินเดือนติดตามชั้นยศถูกโละ แม้ยศจะตันที่ดาบตำรวจถ้าไม่สอบเป็นนายตำรวจสัญญาบัตรก็ตาม แต่เงินเดือนไม่เคยตัน ทั้งตำรวจชั้นสัญญาบัตร และชั้นประทวนมีเงินประจำตำแหน่งกันถ้วนหน้า...

 ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตำรวจยศ พ.ต.อ.เป็นผู้กำกับฯ สภ.ยังใช้รถตราโล่ขับไปทำหน้าที่ดีเจ ในสถานีวิทยุคนเสื้อแดงปลุกระดมชาวบ้านให้เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ ตำรวจระดับรองๆ รวมถึงระดับประทวนบางโรงพักกล้าใช้รถตราโล่ขับตระเวนรับชาวบ้านเสื้อแดงมาชุมนุม และบางคนเป็นแกนนำการ์ดเสื้อแดงที่ชุมนุมใน กทม.

 วงการครูที่เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้และอยู่ใกล้ชิดชาวบ้าน ที่ส่วนหนึ่งถึงเป็นทั้งแนวร่วม และมีไม่น้อยประกาศตัวอยู่ข้างเสื้อแดง ปัจจัยหลักด้านหนึ่งก็มีที่มาที่ไปไม่ต่างกับวงการตำรวจที่ยังคิดว่าได้อะไรมากมายภายใต้ระบบทักษิณ และยังถือว่าเป็นกลุ่มคนที่ได้มากกว่าตำรวจด้วยซ้ำไป ที่แม้จะถูกสังคมตั้งข้อสงสัยว่าครูส่วนใหญ่มุ่งแต่ทำผลงานไม่สอนเด็กก็ตาม แต่ผลประโยชน์ตอบสนองก็คุ้มค่า เพราะหากได้ตำแหน่ง อ.3 ก็จะได้เงินประจำตำแหน่งทันทีเดือนละ 1.1 หมื่นบาท หากได้ตำแหน่งชำนาญการพิเศษ รับเดือนละ 1.4 หมื่นบาท ซึ่งได้มากกว่าข้าราชการระดับ 8 ทั่วไป ที่ได้เพิ่มเดือนละ 4,000 บาท    

 เงินประจำตำแหน่งรายเดือนก็ได้ ความดีความชอบ การแต่งตั้งโยกย้าย ส.ส.ในพื้นที่ยังคงมีอำนาจ ซึ่งหากไล่เรียงรายชื่อ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ละเขตพื้นที่การศึกษา หรือ อกคศ. ที่กรรมการ 13 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 4 คน ที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ จากพรรคประชาธิปัตย์ ลงนามเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปรากฏว่าแทบทั้งหมดที่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ ล้วนเป็นคนของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยทั้งนั้น

 เมื่อการวิ่งเต้นเอาความดีความชอบ และการแต่งตั้งโยกย้าย ดาบอยู่ที่ อกคศ.ที่มีนักการเมืองพรรคเพื่อไทยคุมอยู่ รัฐมนตรี หรือคนในรัฐบาลจะมีค่าอะไรที่จะให้ครูวิ่งเข้าหา...

  วงการนักการเมืองท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับ อบจ. เทศบาล หรือ อบต.ที่มีนักการเมืองท้องถิ่นสัมพันธ์กับชาวบ้านที่ใกล้ชิดแม้ ส.ส.เพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านก็ตาม แต่เครือข่ายวงในของมหาดไทย ก็ยังเกรงใจ ส.ส.ในพื้นที่ ส.ส.สนับสนุน อบต.เพื่อเป็นช่องทางในการจัดงบประมาณลงพื้นที่ ส.ส.ได้ทำธุรกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ผลงาน และได้เงินส่วนต่างก็สมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

 กรณีโมเดลที่ขอนแก่น ที่ ส.ส.เพื่อไทย ในพื้นที่ขอนแก่น 8 คน และว่าที่ผู้สมัครที่นำมาเสริมทีมให้เร่งทำผลงาน มีการตั้ง สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ รมว.ยุติธรรม เป็นประธานเครือข่ายวิทยุคนเสื้อแดง และให้ ส.ส.แต่ละท้องที่สร้างสถานีวิทยุชุมชน รวมทั้งจังหวัด ไม่ต่ำกว่า 5 สถานี เชื่อมเครือข่าย ในการจัดกิจกรรม ถ่ายทอดข่าวสารคนเสื้อแดงผ่านสถานีวิทยุ จัดกิจกรรมคนเสื้อแดงในแต่ละท้องที่และถ่ายทอดสดทางวิทยุให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม ระดมคนทำบัตร นปช.โดยมีการสร้างแรงจูงใจ ใครเป็นสมาชิก นปช.หากชุมนุมได้รับบาดเจ็บ จะได้รับความช่วยเหลือ 1 แสนบาท หลังการเคลื่อนไหวถ้าชนะ และทักษิณกลับมาจะได้รับเงิน 1 แสนบาท แถมสิทธิพิเศษทั้งเรื่องการปลดหนี้ การใช้บริการร้านเครือข่ายคนเสื้อแดงแล้วได้รับส่วนลด ทำให้ชาวบ้านแห่ทำบัตรทั้งจังหวัดแล้วไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน

    การปลุกระดมทั้งการจัดกิจกรรม และการโหมทางวิทยุคนเสื้อแดง พร้อมแจกจานดาวเทียมตามหมู่บ้านให้รับชมพีเพิล แชนแนล ทำให้เกิดกระแสคนเสื้อแดงฟูในพื้นที่ ขณะที่ฝ่ายรัฐ ทั้งตำรวจ ข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ส่วนหนึ่งเอนเอียงกับ "ทักษิณ" อยู่แล้ว ก็ยิ่งมั่นใจในการเปิดตัวกับเสื้อแดง ขณะที่ส่วนที่ลังเล หรือไม่เห็นด้วยตกอยู่ในสภาพถูกล้อมกรอบจากมวลชน

 ...นี่เป็นอีกกระแสที่เมื่อใครก็ตามจะสำรวจ หรือสุ่มความคิดชาวบ้านเพื่อประกอบการตัดสินใจในการวางตัว ต่างขนลุก เมื่อเช็กทางไหนก็เจอแต่กระแสเสื้อแดงเต็มพื้นที่

 "เวลาเรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เราก็พยายามทำให้เขารับรู้ถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่แท้จริง ให้ช่วยถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารทางราชการที่เป็นประโยชน์ แต่พอกลับไปถึงหมู่บ้านก็เกิดปัญหา แค่ไปถ่ายทอดบางอย่างในมุมของรัฐบาล ผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนันบางคนถูกชาวบ้านขว้างก้อนหิน ท่อนไม้ใส่บ้าน ทำให้พวกเขาที่ไม่ใช่สีแดงต้องอยู่เฉยๆ หรืออำนวยความสะดวกให้แก่คนเสื้อแดงเพื่อความอยู่รอด" นายอำเภอบางคนใน จ.ขอนแก่นกล่าว 

 ขณะที่นักสังเกตการณ์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า ม็อบเมื่อจุดติดแล้วลงยาก ช่วงแรกแม้จะมีการจ้างวาน แต่เมื่อสถานการณ์พาไปชาวบ้านส่วนหนึ่งไปชุมนุมด้วยจิตวิญญาณที่ผ่านการจัดตั้งทางความคิดของคนเสื้อแดง เขามีความฮึกเหิม เพราะสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เป็นใจ  

 จากการก่อกระแสความเกลียดชังจนสุกงอมจนกลายเป็นพลัง ขณะที่บุคลิกของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ถูกมองว่า เป็นผู้มีการศึกษาดี พูดสวยหรู แต่จับเนื้อหาไม่ได้ในความคิดของชาวบ้าน และไม่สามารถนำเสนอความเป็นผู้นำให้แก่ข้าราชการในพื้นที่ ที่ทำให้เกิดความเกรงกลัว เมื่อถึงคราวคับขันจึงยากที่จะมีใครกล้าร่วมสู้กับรัฐบาลแบบถวายหัว...ดีที่สุดก็คือลอยตัว เกียร์ว่าง

  แต่ท้ายที่สุด ที่ศีลธรรมประจำตัวของคนจน คือ "ความกลัว" จะส่งผลดีกับฝ่ายรัฐในการคลี่คลายปัญหาการชุมนุมของคนเสื้อแดงได้หรือไม่...หรือแม้แต่การไร้ซึ่ง "ทักษิณ" จะด้วยวิธีใดก็ตาม การฟื้นสถานการณ์ยังเป็นโจทย์ที่ซับซ้อน ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่สามารถทำงานเชิงรุกในพื้นที่ ปล่อยพื้นที่ให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยปลุกระดมคนเสื้อแดง และยึดกุมหน่วยงานของรัฐที่เป็นกลไกทำงานเชิงรุกไว้ได้

 นั่นจะไม่เฉพาะเกียร์ว่าง หรือถอดเกียร์ แต่อาจเกิดปรากฏการณ์ขับรถพวงมาลัยซ้าย วิ่งสวนเลนกับฝ่ายรัฐมากขึ้นจนยากจะควบคุม

ศูนย์ข่าวภาคอีสาน