ข่าว

100ปีพระราชวังพญาไท

100ปีพระราชวังพญาไท

17 พ.ค. 2553

ย้อนหลังกลับไปประมาณ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินบริเวณถนน “ซางฮี้” (ปัจจุบันเรียก ซังฮี้) เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่เศษ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนัก

สำหรับเป็นที่แปรพระราชฐาน เพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถ โดยพระราชทานนามว่า “พระตำหนักพญาไท” ภายหลังการก่อสร้างพระตำหนักแล้วเสร็จ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ จัดการบำเพ็ญพระราชราชกุศลราชคฤหมงคลพระตำหนักพญาไท โดย พระโหราธิบดี หลวงญาณเวท และ ขุนเทพพยากรณ์ คำนวณพระมหาศุภมงคลการ พระราชพิธีถวายพระฤกษ์ ในวันที่ 15 พฤษภาคม พุทธศักราช 2453

 ณ ตำหนักพญาไท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดใช้เป็นที่ทดลองปลูกธัญพืชต่างๆ มีการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นที่วังนี้ เมื่อถึงฤดูทำนา สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงนำเจ้านายและพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จลงดำนาด้วยพระองค์เอง เพื่อเป็นการประเดิมชัยในการเกษตรกรรมของประเทศในแต่ละปี และ ณ ที่แห่งนี้เอง ทรงโปรดให้สร้างโรงเรือนหลังแรกขึ้นคือ "โรงนา" และพระราชทานนามว่า  “โรงนาหลวงคลองพญาไท”

 หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จมาประทับที่พระราชวังพญาไทบ่อยครั้ง ครั้งสุดท้ายที่เสด็จประพาสตรงกับวันที่ 16 ตุลาคม 2453 ก่อนเสด็จสวรรคตเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว เป็นผลให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีทรงพระประชวร พระอนามัยทรุดโทรมลง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กราบบังคมทูลให้แปรพระราชฐาน จากพระบรมมหาราชวังมาประทับที่วังพญาไทเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมให้ทรงสำราญและเพื่อความสะดวกของแพทย์ ที่จะถวายการรักษาตลอดจนพระประยูรญาติจะได้เข้าเยี่ยมได้โดยง่าย หลังจากที่สมเด็จฯ ประทับอยู่เป็นเวลาร่วม 10 ปี ก็สวรรคต ในปี พ.ศ. 2462

 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระราชดำริที่จะสร้างพระราชมณเฑียรสถานขึ้นใหม่ เป็นหมู่พระที่นั่ง 3 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งพิมานจักรี พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน และพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส เพื่อเป็นที่ประทับในวังพญาไท และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบรมชนกนาถ และพระบรมราชชนนี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีเฉลิมพระที่นั่ง และสถาปนาวังพญาไทยให้เป็น “พระราชวังพญาไท” ในวันที่ 16-17 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2465

 กว่าจะมาเป็น พระราชวังพญาไท ดังที่ได้เห็นในปัจจุบันก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกมากมายในสถานที่แห่งนี้ ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า การที่จะดูแลรักษาพระราชวังแห่งนี้ให้ดำรงสภาพที่งดงามอยู่ตลอดไปนั้นจะต้องสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์เป็นจำนวนมาก จึงทรงมีพระราชปรารภเป็นการส่วนพระองค์กับพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงในเวลานั้น ว่าเห็นสมควรปรับปรุงพระราชวังให้เป็นโรงแรมชั้นหนึ่งเพื่อให้ชาวต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อกับประเทศสยามได้ใช้เป็นที่พักอาศัย อันจะนำมาซึ่งรายได้สำหรับการบำรุงสถานที่ แต่ยังไม่ทันที่จะดำเนินการแต่ประการได พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคตก่อน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติต่อ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงปรับปรุงพระราชวังพญาไท เป็นโรงแรมชั้นหนึ่งชื่อโฮเต็ลพญาไท (Phya Thai Palace Hotel) เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2468

 ในปี 2473 พระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ได้ทรงเปิดการส่งวิทยุกระจายเสียงจาก "สถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ที่พญาไท" ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่พระที่นั่งไวกูณฑเทพยสถาน ในบริเวณโฮเต็ลพญาไท โดยได้อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสตอบ เนื่องในการพระราชพิธีฉัตรมงคลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยถ่ายทอดจากท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย มาตามสายแล้วเข้าเครื่องส่งกระจายเสียงสู่ประชาชนเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2473 นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย

 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โฮเต็ลพญาไทต้องประสบภาวะการขาดทุนอย่างมาก ประกอบกับกระทรวงกลาโหมกำลังหาที่ตั้งกองเสนารักษ์ คณะกรรมการราษฎร์ จึงมีมติให้เลิกกิจการโฮเต็ลพญาไทและให้ย้ายสถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ไปตั้งที่ศาลาแดง และย้ายกองเสนารักษ์จังหวัดทหารบก เข้ามาอยู่ที่พระราชวังพญาไทเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2475  ต่อมาในปี 2489 ได้มีการพัฒนากองเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ 1 เป็นโรงพยาบาลทหารบก โดยใช้เขตพระราชฐานพระราชวังพญาไทเป็นที่ตั้ง ดังนั้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กองทัพบกจึงได้ขอพระราชทานนามโรงพยาบาลทหารบกว่า “โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า”

                 ต่อมาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้สร้างอาคารใหม่และย้ายไปอยู่อาคารใหม่ ส่วนกรมแพทย์ทหารบกยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ของพระราชวังจนกระทั่งปี พ.ศ.2532 จึงย้ายไปอยู่ที่บริเวณถนนพญาไท เขตราชเทวี และปรับปรุงพระราชวังพญาไทจนงดงามเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนให้เข้าชม

 กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียน พระราชวังพญาไท เป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2522 และในปีพุทธศักราช 2553 ซึ่งเป็นวาระ 100 ปี พระราชวังพญาไท ชมรมคนรักวังฯ ได้นำความขึ้นกราบทูล สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เพื่อขอพระราชทานพระอนุญาต จัดงาน วันคล้ายวันคฤหมงคลพระราชวังพญาไท ครบ 100 ปี และทรงรับงานนี้ไว้ในพระอุปถัมภ์ โดยทรงพระกรุณาโปรดให้หม่อมเจ้าหญิงศรีสว่างวงศ์ (ยุคล) บุญจิตราดุลย์ เป็นผู้แทนพระองค์ เสด็จไปในการบำเพ็ญพระกุศล  ณ  พระที่นั่งพิมานจักรี  พระราชวังพญาไทด้วย