
พรหมพิราม เมืองเล็กแต่สำคัญ
การที่ชาวบ้านพรหมพิรามได้ขุดพบฐานเจดีย์เก่า บริเวณแม่น้ำน่าน ตรงบ้านหางไหล ต.มะต้อง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก อาจทำให้เราได้ร่องรอยอีกชิ้นที่ช่วยยืนยันความเก่าแก่และสำคัญของเมืองแห่งนี้
ชื่อ “พรหมพิราม” แปลว่า เมืองงดงามอันเป็นที่อยู่ของพระพรหม
เชื่อกันว่าเมืองพรหมพิรามเป็นเมืองเก่าแก่โดยมี “เมืองศรีภิรมย์” อยู่คู่กันมาก่อน โดยเมืองพรหมพิรามเก่าน่าจะตั้งอยู่บริเวณบ้านหางไหล ริมฝั่งแม่น้ำน่านทางทิศตะวันตก ส่วนเมืองศรีภิรมย์อยู่บริเวณบ้านหนองตม แต่ รศ.ดร.จิราภรณ์ สถาปวรรธนะ แห่งคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าใจว่าที่ตั้งของเมืองอาจอยู่บริเวณบ้านตลุกเทียมในปัจจุบัน เพราะยังปรากฏซากกำแพงเมืองเก่า ซากเนินดิน คันดิน ที่น่าจะเป็นเส้นทางเดิม
นอกจากนี้ในพื้นที่อ.พรหมพิราม ยังมีเส้นทางติดต่อระหว่างสุโขทัยกับบางยาง และร่องรอยโบราณสถานอีกหลายแห่ง ที่แสดงถึงการเป็นเมืองเก่าที่พัฒนาควบคู่มาพร้อมๆ กับเมืองพิษณุโลก ทั้งเป็นเส้นทางผ่านเดินทัพช่วงยุคต้นกรุงศรีอยุธยากับแคว้นล้านนา เมื่อราว พ.ศ.2000 ด้วย
ถึงยุครัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) กล่าวถึงเมืองพรหมพิรามเมื่อคราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ.2444 ไว้ว่า “...เมืองพรหมพิรามนี้ฉันไม่ได้นึกว่าจะเป็นดังนี้เลย เป็นเมืองที่มีแผ่นดินอุดมดี ตามระยะทางขึ้นมาบ้านช่องผู้คนมีมาก ทำนาแลทำไร่อ้อย เวลาฤดูแล้งปลูกยาสูบ ตามริมแม่น้ำ...ตามบ้านเรือนเป็นสวนผลไม้ทั่วทุกแห่งมีส้มเป็นสำคัญ ต้นส้มโอสูงใหญเหมือนต้นมะม่วง...”
เดิมชาวพรหมพิรามอยู่อาศัยทำมาค้าขายริมแม่น้ำอันเป็นแหล่งทรัพยากรและเส้นคมนาคมหลัก ต่อมาเมื่อมีการสร้างทางรถไฟขยายไปถึงเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2460 ทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชนไปตามเส้นทางรถไฟด้วย
คงต้องช่วยกันตรวจสอบ เผยแพร่ความสำคัญของเมืองเก่าเล็กรอบๆ เมืองโบราณดังๆ ไม่ให้สูญหาย ชาวท้องถิ่นเห็นความสำคัญจะได้ช่วยกันดูแล!
"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"