
จากเมืองเซไลสู่จังหวัดเลย
สถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา อาจทำให้ใครหลายคนไม่สบายใจไปกับการหาหนทางสู่ความสงบสุขของบ้านเมือง สายฝนที่เริ่มเทลงมาคงทำให้ได้คลายร้อนทั้งกายใจไปได้บ้าง
เรื่องราวนี้จะกลายเป็นบันทึกอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ต้องจดจำ ไม่ใช่เพราะความรุนแรงหรือด้วยสาเหตุทางการเมือง แต่เรื่องราวทุกแง่มุมของสังคม ประชาชน คือประวัติศาสตร์ประเทศชาติเท่าเทียมกัน
ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชาว จ.เลย เป็นอีกตัวอย่าง ที่นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้ศึกษาค้นคว้าเอาไว้อย่างค่อนข้างละเอียดว่า
ผู้คนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมืองเลยปัจจุบัน คือผู้คนที่อพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง แล้วมาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำเลย
ชื่อเมืองเรียกตามภาษาท้องถิ่นคือ “เมืองเซไล” หรือบ้านทรายขาว อ.วังสะพุง แล้วเรียกตัวเองว่า ชาวไทเลย ซึ่งชื่อเมืองเซไลนี้เพี้ยนเสียงมาเป็น “เมืองเลย” ปัจจุบัน
นอกจากชาวไทเลยที่อพยพมาจากหลวงพระบางแล้วยังมีชนชาติอื่นอีกเช่น “ชาวไทพวน” ที่หนีการรุกรานของพวกฮ่อมาจากเมืองเชียงขวาง “ชาวไทพวน” ที่ลี้ภัยการเมืองมาจากเมืองเตาไห้ (หลวงพระบาง) และ “ชาวไทใต้” (ในที่นี้หมายถึงทางใต้ของเมืองเลย) ที่อพยพมาจากอีสาน
เหตุนี้เมืองเลยจึงขยายขึ้นเรื่อยๆ จากการรวมตัวของผู้คนที่กล่าวมา เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “เมืองเลย” เป็น “อำเภอเมืองเลย” อย่างเป็นทางการตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2450
กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเผชิญหน้ากับชาติตะวันตก จากที่ทรงเล็งเห็นว่าชาติตะวันตกตั้งท่าจะรุกรานไทย จึงทรงมีนโยบายจัดระบบการปกครองใหม่
อ.เมืองเลย จึงได้รับการยกฐานะให้เป็น “จังหวัดเลย” ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2476 นับแต่นั้นมา
ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแบบนี้มีอยู่อีกมากที่ยังไม่ถูกศึกษาค้นคว้าหรือเผยแพร่ จ.เลย นับว่าโชคดีที่มีผู้ใส่ใจศึกษาประวัติศาสตร์ของบ้านตนเอง ซึ่งไม่เพียงแค่เป็นประโยชน์กับคนเมืองเลยเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อคนบ้านอื่นที่คือคนในสังคมไทยให้รู้อะไรอีกมากมาย
ภาพ : http://kanchanapisek.or.th
"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"