
พล.ต.ท.อดิเทพ ปัญจมานนท์"ระบบการศึกษา...ตัวฆ่ายาเสพติด"
ปฏิบัติการกวาดล้างเครือข่ายการค้ายาไอซ์และสายการผลิตอัดเม็ดยาบ้า ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และภาคกลาง ได้ผู้ต้องหา 10 คน พร้อมยาบ้า 17,800 เม็ด ยาไอซ์ 139.2 กรัม เครื่องอัดเม็ด 2 เครื่อง สารเคมี และอุปกรณ์ ที่ใช้ในการผลิตจำนวนมาก
….จับเครือข่ายค้ายาบ้ากองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (ดีเคบีเอ) ขนยาบ้า 1 แสนเม็ด ข้ามมาจากชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก...
…จับยาบ้ากว่า 2 ล้านเม็ด ซุกในรถขนหอมหัวแดง…
ฯลฯ
นี่คือตัวอย่างภาพข่าวการจับกุมยาเสพติดลอตใหญ่จากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ในรอบปีนี้ อาจส่งสัญญาณถึงสถานการณ์ยาเสพติดที่กำลังกลับมาทวีความรุนแรงอีกครั้ง พล.ต.ท.อดิเทพ ปัญจมานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ผู้คลุกคลีอยู่ในวงการปราบปรามยาเสพติดมากว่า 10 ปี ยอมรับและประเมินแนวโน้มสถานการณ์ยาเสพติดรอบปีนี้อยู่ในขั้นที่น่าเป็นห่วง !
- ครึ่งปีที่ผ่านมามีการจับกุมเครือข่ายค้ายาเสพติดได้จำนวนมาก ประเมินสถานการณ์ปีนี้อย่างไร
พล.ต.ท.อดิเทพ : ปีนี้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตยาเสพติด แต่กลุ่มเครือข่ายผู้ผลิตอยู่โดยรอบบ้านเรา โดยเฉพาะตามแนวชายแดนทางภาคเหนือของประเทศไทย จะมีชนกลุ่มน้อยอยู่ 4-5 กลุ่ม เช่น ไทใหญ่ ว้า และหน่อคำ ซึ่งหน่อคำเป็นเชื้อสายไทใหญ่แยกตัวมาอยู่แถวๆ สามเหลี่ยมทองคำ
ปัจจัยที่ส่งเสริมให้สถานการณ์ยาเสพติดรุนแรงขึ้นเป็นผลพวงมาจากรัฐบาลพม่าได้ประกาศต่อประชาคมโลกว่าจะเป็นประเทศปลอดยาเสพติดในปี 2014 หรืออีก 4 ปีข้างหน้าจึงมีการระดมกวาดล้างชนกลุ่มน้อยที่เป็นแหล่งผลิตยาเสพติดอย่างหนัก ส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยต้องเร่งระบายของเพื่อหาเงินมาซื้ออาวุธต่อสู้กับรัฐบาลพม่า ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มส่อเค้าความรุนแรงตั้งแต่กลางปีที่แล้วและช่วงต้นปี บช.ปส.ยึดยาบ้าได้เป็นล้านๆ เม็ด และจับกุมแก๊งยาเสพติดรายใหญ่ได้หลายราย ขณะที่ยาเสพติดอีกส่วนหนึ่งก็แพร่ระบาดมาจากประเทศจีน จึงมีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยปราบปรามยาเสพติดกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว กัมพูชา เพื่อร่วมมือกันจับกุมเครือข่ายยาเสพติดด้วย
- เส้นทางลักลอบขนยาเสพติดปรับเปลี่ยนหรือไม่ อย่างไร และมีแนวการป้องกันอย่างไร
พล.ต.ท.อดิเทพ : เส้นทางลำเลียงยาเสพติดยังไม่เปลี่ยนแปลงมาก ส่วนใหญ่นำลงมาจากชายแดนพม่า ทั้งนี้ เส้นทางลำเลียงยาแบ่งเป็น 3 ทางคือ ทางบก 70 เปอร์เซ็นต์, ทางอากาศ 20 เปอร์เซ็นต์ และทางน้ำ 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภารกิจสกัดกั้นเส้นทางลำเลียง จะมีรั้วแรกเป็นการทำงานของทหารจากกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งจัดชุดพิเศษขึ้นมาลาดตระเวนตามชายแดนคอยสกัดขบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งได้ผลพอสมควร
ถัดจากพื้นที่ชายแดนเข้ามาจะเป็นหน้าที่ของตำรวจคอยดูแลเส้นทางลำเลียงยาสกัดไม่ให้เข้ามาพื้นที่ชั้นใน โดยเฉพาะ กทม.ซึ่งเป็นแหล่งที่ยาบ้าระบาดมากที่สุด จากสถิติการเสพยาบ้าทั่วประเทศราว 6 แสนราย ซึ่งกลุ่มผู้เสพยาในจำนวนนี้ 50-60 เปอร์เซ็นต์อยู่ในกทม., ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ ถือได้ว่ากทม.เป็นแหล่งพักและกระจายยาเสพติดไปทุกภูมิภาค บช.ปส.จึงร่วมกับตำรวจภูธรภาค 5 เพิ่มด่านใหม่ขึ้นมาอีก 30 ด่าน รวมถึงจังหวัดปริมณฑลที่คาดว่าจะเป็นแหล่งพักและกระจายยาเสพติด เมื่อถูกกดดันมากๆ ยาก็เข้าพื้นที่ชั้นในได้น้อยลง ส่วนชุมชนต่างๆ กว่า 800 แห่งใน กทม.ที่คาดว่าเป็นแหล่งยาเสพติด ก็เป็นหน้าที่ของตำรวจนครบาลดำเนินการ
-ขณะที่ตำรวจป้องกันปราบปรามยาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพ แก๊งค้ายามีการปรับตัวอย่างไร
พล.ต.ท.อดิเทพ : เรียกว่าตามกันอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อตำรวจพัฒนารูปแบบ ฝ่ายตรงข้ามก็ต้องพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมาด้วย เช่น การสั่งยาเสพติดจากเรือนจำ สมัยก่อนไม่มีใครรู้คิดว่าจับได้ส่งเข้าเรือนจำแล้วจะจบ แต่ตอนนี้ก็สกัดช่องทางนี้แล้ว แต่พวกนี้ก็พัฒนารูปแบบไปอีก แต่คงบอกไมได้ว่าพัฒนารูปแบบใหม่ๆ อย่างไร เดี๋ยวคนร้ายรู้ (ฮา)
- ยาเสพติดประเภทใดที่ยังเป็นปัญหาหนักใจอยู่ทุกวันนี้
พล.ต.ท.อดิเทพ : “ยาบ้า” ยังเป็นปัญหามากที่สุด รองมาเป็นยาไอซ์ ยาเค กลุ่มยาที่ใช้ในคลับที่เรียกกันว่า “ดรักคลับ” นิยมในกลุ่มนักเที่ยวกลางคืน ยากลุ่มนี้มีแหล่งผลิตอยู่ต่างประเทศแถวยุโรป แอฟริกาใต้ แก๊งค้ายาจะแฝงมาในรูปนักท่องเที่ยว หรือใช้หญิงไทยในการลักลอบขนเข้าประเทศ
ส่วน “เฮโรอีนและกัญชา” คนไทยไม่นิยมเสพ แต่ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปสู่ประเทศที่สาม ส่วนนี้ได้บูรณาการร่วมกับตำรวจปราบปรามยาเสพติดประเทศปลายทาง เช่น มาเลเซีย ประสานข้อมูลระหว่างกันจนนำไปสู่การจับกุม เช่น กรณีจับกุมแหล่งพักกัญชาลอตใหญ่ที่เกาะสาหร่าย หลายหน่วยงานทั้งทหาร-ตำรวจมาร่วมกันทำงาน ทหารเรือให้ยืมเรือรบ ยกพลขึ้นไปจับกุม ส่วนเบาะแสได้มาจากหน่วยปราบปรามยาเสพติดของมาเลเซีย
- แผนปราบปรามยาเสพติดในอนาคต
พล.ต.ท.อดิเทพ : นโยบายและแผนปราบปรามยาเสพติดแต่ละรั้วทำได้เต็มศักยภาพแล้ว อย่าง บช.ปส.รับผิดชอบเส้นทางลำเลียงยาเสพติด เราทำหน้าที่ตรงนี้กันอย่างเต็มที่ แต่หากสังคมไม่ดี ถึงจะจับกุมแก๊งค้ายาเสพติดมากมายเพียงใด ปัญหายาเสพติดก็ไม่มีวันหมดไปจากสังคมไทย
- มองว่าสังคมไทยเป็นอย่างไรต่อปัญหายาเสพติด
พล.ต.ท.อดิเทพ : สังคมเราอ่อนแอมาก ยกตัวอย่าง จังหวัดใดที่มีแก๊งมอเตอร์ไซค์ซิ่งมาก ปัญหายาเสพติดก็จะตามมามากด้วย ทั้งเรื่องอายุของผู้เสพส่วนใหญ่เป็นหน้าใหม่ที่อายุน้อยลง การก่ออาชญากรรม สุดท้ายก็เข้าสู่วงจรยาเสพติด
- มองถึงปัญหาสังคมจุดนี้ต้องแก้ไขอย่างไร
พล.ต.ท.อดิเทพ : ปัญหาสังคมต้องแก้ที่สถาบันครอบครัวอย่างเดียว และรวมถึงจิตสำนึกของทุกสถานบริการที่เด็กนิยมไปเที่ยว จะสร้างค่านิยมความฟุ้งเฟ้อ ลุ่มหลง ให้เยาวชน และอาจนำไปสู่ปัญหาการลัก วิ่ง ชิง ปล้น แล้วสุดท้ายก็ต้องเข้าสู่วงจรยาเสพติด เป็นปัญหาสังคมร่วมกันที่ทุกครอบครัว ภาคส่วนสังคม ต้องช่วยกันดูแลอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ปัญหาทุกอย่างต้องเอา "การป้องกัน" นำ "การปราบปราม" เพราะปราบปรามยาเสพติดเท่าใดก็คงไม่หมด วันนี้จับยาบ้าได้ 1 ล้านเม็ด วันต่อมาจับได้ 2 ล้านเม็ด คือปราบเท่าไหร่ก็ไม่หมดหากสังคมยังอ่อนแออยู่
-สังคมอ่อนแอจะแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างไร
- พล.ต.ท.อดิเทพ : เมื่อ 20 ปีก่อนสิงคโปร์เคยมีปัญหาเยอะ ทั้งเรื่องการศึกษา ฮิปปี้ การเคี้ยวหมากฝรั่ง ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ เขามองว่าต้องแก้ด้วยการพัฒนาการศึกษา จึงลงทุนพัฒนานำระบบการศึกษามาจากอังกฤษ จนทุกวันนี้เด็กเมื่อ 20 ปีก่อน โตมาปกครองประเทศสิงคโปร์ ย้อนกลับมาที่เมืองไทย เด็กไทยทุกวันนี้กำลังเติบโตขึ้นมาอย่างไร อีก 20 ปี พวกเขาจะโตขึ้นมาปกครองประเทศ จะมีสภาพเป็นอย่างไร ?
… กลายเป็นคำถามที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติด ย้อนถามสังคม ครอบครัว และระบบการศึกษาไทยว่าเมื่อไหร่จะเข้มแข็ง!? เมื่อนั้นปัญหายาเสพติดคงหมดไปแน่นอน…