
"นายเก่า-ลูกน้อง"ชิงเก้าอี้"ผู้ว่าการสตง."
ดูไปดูมากลายเป็นศึก "ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน" (สตง.) ระหว่าง "นายเก่ากับลูกน้อง" ไปซะแล้ว
ในกรณีที่ "คุณหญิงเป็ด" คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ได้ทำหนังสือเวียนถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ว่า จะกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ "ผู้ว่าการสตง." โดยอ้างความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภาว่า สามารถดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปได้ จนกว่าจะมีการสรรหาผู้ว่าการสตง.คนใหม่เสร็จสิ้น
แต่การสรรหาผู้ว่าการสตง.คนใหม่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ....ยังไม่มีผลบังคับใช้ ทำให้คณะกรรมการสรรหาไม่สามารถเริ่มต้นกระบวนการสรรหาผู้ว่าการสตง.ได้
เนื่องจากวุฒิสภาลงคะแนนให้ความเห็นชอบกับร่างดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของบุคคลที่จะเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ว่าการ สตง.ด้วย
เมื่อร่างดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาจึงต้องส่งร่างเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่ง "ชัย ชิดชอบ" ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรภายใน 2 สัปดาห์
หากสภาผู้แทนราษฎรยืนยันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว รัฐบาลก็หยิบยกขึ้นมาประกาศใช้ได้ใน 180 วัน
แต่หากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ตกไป และต้องเริ่มต้นนำเสนอมาพิจารณาใหม่
ระหว่างนี้ "คุณหญิงจารุวรรณ" ได้ทำบันทึกแจ้งเจ้าหน้าที่ สตง.ว่า ได้แต่งตั้ง "พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส" รองผู้ว่าการ สตง. ซึ่งเคยเป็นลูกน้องคนสนิท "รักษาราชการแทนผู้ว่าการสตง." ไปก่อน
เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 34(2) กำหนดไว้ว่า ผู้ว่าการฯ พ้นตำแหน่งเมื่อ "มีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์" ซึ่ง คุณหญิงจารุวรรณ อายุครบ 65 ปี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2553 จึงต้องพ้นจากตำแหน่งตามพ.ร.บ.ดังกล่าว
แม้ว่า "คุณหญิงจารุวรรณ" จะแต่งตั้ง "พิศิษฐ์" รักษาราชการแทนผู้ว่าการสตง. แต่ "คุณหญิงจารุวรรณ" ยังคงมาทำงานปกติ และได้ทำหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรีให้ส่งเรื่องการดำรงตำแหน่งของตัวเองไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งได้ส่งเรื่องไปให้ประธานวุฒิสภาตีความด้วย
เนื่องจาก "คุณหญิงจารุวรรณ" เห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ประกอบกับขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ....อยู่ระหว่างการพิจารณา
สรุปง่ายๆ ว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 29 กำหนดให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการสรรหาผู้ว่าการคนใหม่
ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2553 เป็นต้นไป ระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อยุติในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน "คุณหญิงจารุวรรณ" จึงยังนั่งบริหารราชการใน สตง.ต่อไป
แม้ว่าจะแต่งตั้ง "พิศิษฐ์" รองผู้ว่าการสตง.รักษาราชการแทนผู้ว่าการสตง.อยู่แล้วก็ตาม
โดยอ้างว่าเพื่อให้การบริหารราชการของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นไปโดยต่อเนื่องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ในการบริหารราชการของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นที่ยุติเรื่องการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
ขณะที่ "พิศิษฐ์" รองผู้ว่าการสตง.ในฐานะรักษาการผู้ว่าการสตง. เตรียมทำหนังสือแจ้งเวียนภายใน สตง.ให้รับทราบว่าแม้ว่าในหนังสือเวียนของคุณหญิงจารุวรรณจะใช้คำว่า ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แต่เมื่อ คุณหญิงจารุวรรณ พ้นจากตำแหน่งตามอายุไปแล้ว และไม่มีบทกฎหมายรองรับชัดเจนให้ปฏิบัติหน้าที่ จึงถือว่าการออกหนังสือเวียนดังกล่าว เป็นบันทึกไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากข้าราชการและเจ้าหน้าที่ สตง.รายใดปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ก็ต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัว และอาจเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ได้ และจะประสานให้หน่วยงานราชการอื่นๆ รับทราบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ด้วย
กลายเป็นว่า "นายเก่ากับลูกน้อง" ต่างคิดว่า "ตัวเองมีอำนาจ" ในการปฏิบัติหน้าที่ "ผู้ว่าการสตง." โดยมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่ สตง.เป็นผู้รับผลกระทบจากการกระทำของทั้งสองฝ่าย
ต่อมาที่ประชุมวุฒิสภาเกิดข้อถกเถียงกันขึ้นในเรื่องที่ "ไพบูลย์ นิติตะวัน" ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา ได้ให้ความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภาว่า คุณหญิงจารุวรรณ สามารถดำรงตำแหน่งนี้ต่อไป โดยเนื้อหาสรุปได้ว่า
ให้ "คุณหญิงจารุวรรณ" ยึดตามคำสั่ง คปค.ฉบับ ที่ 29 ไม่จำเป็นต้องยึดตามพ.ร.บ.การตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 34(2) กำหนดไว้ว่า ผู้ว่าการฯ พ้นตำแหน่งเมื่อ "มีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์"
เพราะ คปค.ฉบับที่ 29 ยังมีผลอยู่และได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ในมาตรา 309 ระบุว่า บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ว่า เป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ
ดังนั้นระหว่างที่ยังไม่มีผู้ว่าการสตง.คนใหม่ คุณหญิงจารุวรรณ จะต้องดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินชุดใหม่ได้ หากคุณหญิงจารุวรรณ ไม่ปฏิบัติตามก็จะถือว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่
จึงเป็นที่มาของการทำหนังสือเวียนถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ สตง.ว่า "คุณหญิงจารุวรรณ" จะกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ "ผู้ว่าการสตง." โดยอ้างความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภาว่า สามารถดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปได้ จนกว่าจะมีการสรรหาผู้ว่าการสตง.คนใหม่เสร็จสิ้น
จากความเห็นของ "ไพบูลย์" ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภาทำให้ที่ประชุมวุฒิสภา โดยเฉพาะ "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" ส.ว.สรรหา ลูกน้องเก่าคุณหญิงจารุวรรณ ได้ตั้งคำถามว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าวว่า สามารถส่งเรื่องให้คำปรึกษาได้หรือไม่ และอาจขัดรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 266 ว่าด้วยการห้ามส.ส., ส.ว.ก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของราชการ
ตราบใดที่แต่ละฝ่ายคิดว่าตัวเองมีอำนาจศึกชิงเก้าอี้ "ผู้ว่าการสตง." คงต่อสู้กันอีกยาว