
ไดโนเสาร์ ไตรเซราทอปส์ ไม่เคยมีจริง
ไดโนเสาร์ที่เรารู้จักกันนั้นอาจจะมีเพียงไม่กี่สายพันธุ์ เช่น ไทรันโนซอรัส เร็กซ์ หรือ ที เร็กซ์ พระเอกในภาพยนตร์เรื่อง จูราสสิค ปาร์ก และไตรเซราทอปส์ ไดโนเสาร์กินพืชที่มีสามเขาและแผ่นหนังคลุมต้นคอ รูปร่างคล้ายแรดในปัจจุบัน
แต่เมื่อเร็วๆ นี้ นายจอห์น สแกนเนลลา และ แจ็ก ฮอร์เนอร์ นักวิทยาศาสตร์ แห่งพิพิธภัณฑ์ร็อกกี้ส์ ในเมืองโบซแมน รัฐมอนทานา สหรัฐอเมริกา เปิดเผยถึงผลวิจัยฉบับล่าสุดที่ชี้ว่า ไดโนเสาร์สายพันธุ์ไตรเซราทอปส์ นั้นไม่เคยมีจริงในโลก เพราะมันเป็นไดโนเสาร์พันธุ์โทโรเซารัส ตอนที่ยังมีอายุน้อย
ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษากะโหลกของไดโนเสาร์ทั้งสองสายพันธุ์ ระบุว่าเมื่อไตรเซราทอปส์มีอายุมากขึ้น รูปร่างของเขาจะเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับรูบนกะโหลกที่จะปิดสนิทเมื่อถึงอายุหนึ่งๆ ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะตรงกับเอกลักษณ์ของสายพันธุ์โทโรเซารัส
ทั้งยังเชื่อว่าเขาและแผ่นหนังของไตรเซราทอปส์ นอกจากจะใช้เพื่อป้องกันตัวจากศัตรูแล้ว ยังใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อบอกญาติๆ ว่ามันมีอายุเท่าใด
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ก็มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสายพันธุ์ของไดโนเสาร์ บรอนโตเซารัส ที่เชื่อว่าเป็นสายพันธุ์เฉพาะ แต่เมื่อปี 2446 ก็พบว่าไดโนเสาร์พันธุ์ดังกล่าวเป็นเพียงไดโนเสาร์พันธุ์แอปโตเซารัสตอนที่ยังเป็นวัยรุ่นเช่นกัน
แต่ความเข้าใจผิดที่น่าขายหน้าในวงการศึกษาสัตว์และพืชดึกดำบรรพ์ เริ่มต้นเมื่อปี 2420 เมื่อนายโอทิเนล ชาร์ลส์ มาร์ช ค้นพบชิ้นส่วนกะโหลกของไดโนเสาร์แอปโตเซารัสที่มีอายุน้อย และนำไปต่อกับชิ้นส่วนโครงสร้างร่างกายของไดโนเสาร์ที่ค้นพบใหม่ และตั้งชื่อว่าบรอนโตเซารัส หรือ “กิ้งก่าฟ้าผ่า” แต่ปรากฏว่านายมาร์ช ได้นำชิ้นส่วนกะโหลกของไดโนเสาร์พันธุ์ คามาราเซารัส ไปต่อกับโครงกระดูกของไดโนเสาร์พันธุ์แอปโตเซารัส
ที่สำคัญนักวิทยาศาสตร์ต่างเข้าใจผิดเป็นเวลาเกือบศตวรรษ จนเมื่อมีการพิสูจน์ความจริงในปี 2518