ข่าว

รายได้คนรากหญ้า

23 ส.ค. 2553

ตามตัวเลขบอกว่าคนจนในบ้านเราลดน้อยลงโดยเหลือเพียง 5.4 ล้านคน ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ เท่านั้น แต่ที่เป็นประเด็นวันนี้เพราะกลุ่มคนที่ถือกันว่ารวยในประเทศนี้ซึ่งมีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศกลับมีส่วนแบ่งรายได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งข

แม้จำนวนคนจนจะลดลงแล้วก็จริง แต่การที่คนจำนวนน้อยมีโอกาสในการทำรายได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ หากจะมองว่าก็เพราะเขาเหล่านั้นขยันขันแข็งในการทำมาหากินจึงสมควรที่จะมีรายได้มากมายจะไปหาว่าไม่เป็นธรรมได้อย่างไร คงต้องมองอีกมุมกลับกันว่าถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้นานวันเข้าจะทำให้คนไทยมีความแตกต่างของฐานะทางเศรษฐกิจมากขึ้นแบบที่เรียกว่าความเหลื่อมล้ำของรายได้มากขึ้น

 ในประเทศที่ผู้คนมีความแตกต่างทางเศรษฐกิจสูงมากจะส่งผลกระทบไปทุกด้านไม่ว่าด้านสังคมและการเมือง สำหรับด้านสังคมโดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมจะมีแนวโน้มสูงขึ้นไม่ว่าคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับความเบี่ยงเบนของพฤติกรรม เช่น คดีฆ่าข่มขืน คดีการพนัน หรือคดีเกี่ยวกับการค้าประเวณี คดีค้ามนุษย์ ท่านผู้อ่านคงเดาได้ว่าหากสังคมเต็มไปด้วยอาชญากรรมเหล่านี้ เราคงรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยหรือคุณภาพชีวิตที่แย่ลงนั่นเอง

 เราคงมีสมมติฐานที่เชื่อกันว่าปัญหาปากท้องเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศและอาจจะเป็นบ่อเกิดของปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ ดังนั้นระบบงานยุติธรรมคงต้องหันมามองตัวเลขนี้อย่างรอบคอบและนำไปเป็นปัจจัยในการกำหนดนโยบายด้านกฎหมายและการบริหารระบบงานยุติธรรมของประเทศ ทั้งในทางป้องกันอาชญากรรมที่อาจจะเกิดขึ้นจากแนวโน้มของผลกระทบจากปัญหาปากท้อง คนไม่มีรายได้พอเพียงกับการดำรงชีวิต รวมไปถึงการปราบปรามอาชญากรรมที่มีความหลากหลายซับซ้อนและมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 หากย้อนกลับไปที่รายได้ของคนรากหญ้าที่ถือกันว่าเป็นกลุ่มที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่กลับมีส่วนแบ่งรายได้ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ต้องถือว่าเขาเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคมที่ต้องได้รับการดูแลมากขึ้น ในแง่ของงานยุติธรรมคงต้องเพิ่มการให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายที่ทำให้เขาเหล่านั้นเข้าถึงบริการได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่เพราะต้องยอมรับว่ารัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนักโดยมองเห็นว่าสำคัญน้อยกว่าเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจตัวอื่น เช่น เรื่องของถนนหนทาง การพยุงราคาผลิตผลทางการเกษตร หรือการลงทุนเรื่องการศึกษาภาคบังคับ

 ระบบการช่วยเหลือประชาชนรากหญ้าด้านกฎหมายในปัจจุบันยังคงเป็นไปตามมาตรฐานของบุคคลทั่วไปไม่ได้ให้บริการในลักษณะให้แต้มต่อกับกลุ่มนี้เป็นพิเศษ ผลกระทบของเรื่องนี้ที่เป็นรูปธรรมเห็นกันได้ชัดเจนกับการที่รัฐบาลจะต้องระดมสรรพกำลังและเงินงบประมาณไปช่วยเหลือหนี้นอกระบบซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายทาง มีปัจจัยมากมายที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จโดยเฉพาะหากไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหนี้และสถาบันการเงินทั่วไป รวมทั้งปัญหาเรื่องข้อกฎหมายอีกมากมายหลายเรื่อง

 เมื่อมีข้อมูลแล้วควรจะแก้ที่สาเหตุของปัญหาด้วยการเร่งหามาตรการกระจายรายได้ไปสู่คนรากหญ้า ในแง่นี้ตัวบทกฎหมายต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะจะช่วยได้ในระดับโครงสร้าง และจะต้องทำควบคู่กันไปหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การให้โอกาสด้านอื่นๆ ตามลำดับความสำคัญของเรื่อง

 ต้องคิดและต้องทำแบบให้แต้มต่อแก่คนรากหญ้า ไม่ใช่เขียนแต่ในกระดาษเท่านั้น