ข่าว

เผยยูทูบช่วยหนุนบุหรี่แหล่งรวมภาพ-คลิปวิดีโอโยงคนดังกับบุหรี่หลากยี่ห้อ

27 ส.ค. 2553

ปารีส-เผยเว็บไซต์ยอดฮิตยูทูบ กลายเป็นพื้นที่เปิดให้ยักษ์ใหญ่บุหรี่ทำตลาดในหมู่คนหนุ่มสาวทางอ้อมและโดยไม่รู้ตัว เหตุจากคลิปวิดีโอจำนวนมากเชื่อมโยงบุหรี่หลากยี่ห้อกับเหล่าคนดังและกีฬา ขณะไม่มีกฎคุมเข้มโฆษณาแบบที่บังคับใช้กับทีวี วิทยุ นสพ. และการจัดกิจกรรมต

 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดี (26 ส.ค.) ว่า คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยโอตาโก ในกรุงเวลลิงตันของนิวซีแลนด์ ซึ่งวิเคราะห์ตัวอย่างคลิปวิดีโอภาษาอังกฤษยอดนิยมจำนวน 163 ตัวอย่างที่มีการอ้างอิงถึงบุหรี่ 5 ยี่ห้อ ได้แก่ มาร์ลโบโร แอลแอนด์เอ็ม เบนสันแอนด์เฮดจส์ วินสตัน และไมล์เซเว่น พบว่า 70% ของคลิปเหล่านั้น มีเนื้อหาเชิงบวกต่อการสูบบุหรี่ ขณะที่ 4% ออกไปในทางต่อต้าน ส่วนที่เหลือ 25% ไม่เข้าประเภทใดประเภทหนึ่ง

    คลิปวิดีโอที่นักวิจัยตรวจวิเคราะห์จำนวนมาก มีภาพโปสเตอร์และโฆษณาบุหรี่เก่าๆ ทางโทรทัศน์ซึ่งผิดกฎหมายในหลายประเทศรวมอยู่ด้วย โดยบางส่วนเป็นฉากภาพยนตร์ที่มีดารานักแสดงยอดนิยมปรากฏตัวกับบุหรี่ที่มองเห็นยี่ห้อได้ชัดเจน คลิปการแข่งขันกีฬาที่มีบุหรี่เป็นสปอนเซอร์ และภาพทางทีวีในยุค 1950 และ 1960

    ผลวิจัยยังพบว่า คลิปที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่มาร์ลโบโร มีผู้เข้าชมหนาแน่นที่สุด โดยเฉลี่ยมีการชมเกือบ 104,000 ครั้งในแต่ละคลิป และมีคลิปหนึ่งที่ผ่านสายตาผู้ชมถึง 2 ล้านครั้ง รายงานฉบับนี้ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารควบคุมบุหรี่ของอังกฤษ มิได้กล่าวหาตรงๆ ว่ายักษ์ใหญ่บุหรี่เป็นผู้โพสต์คลิปเหล่านั้น เพราะไม่ว่าใครก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม มีคลิปวิดีโอ 20 คลิปที่ดูเหมือนเป็นผลงานของมืออาชีพ และบริษัทบุหรี่ก็ไม่ได้พยายามให้มีการถอดคลิปเหล่านั้นฐานละเมิดลิขสิทธิ์

    หนึ่งในคณะนักวิจัยเสนอว่า ยูทูบอาจช่วยได้ด้วยการเพิ่มคำว่า "การสูบบุหรี่" ไว้ในรายชื่อประเภทคลิปวิดีโอที่ให้ผู้ชมรายงานว่ามีเนื้อหาอันตรายหรือไม่เหมาะสมอันอาจถูกถอดออกจากเว็บไซต์ได้ เพราะสำหรับบริษัทผู้ผลิตบุหรี่แล้ว พวกเขาไม่ทราบเรื่องมีคลิปวิดีโอสนับสนุนการสูบบุหรี่ หรือถึงจะทราบก็อาจไม่ใส่ใจ 

   ด้าน แอน เอ็ดเวิร์ดส์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของฟิลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโรและแอลแอนด์เอ็ม กล่าวว่า บริษัทไม่ได้ทำการตลาดหรือส่งเสริมสินค้าผ่านทางยูทูบ ทั้งยังได้เคยขอให้ยูทูบถอดคลิปที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับยี่ห้อบุหรี่ของบริษัทออกจากเว็บ และจะติดต่อยูทูบอีกครั้งหลังจากการเผยแพร่ผลการศึกษาชิ้นนี้ ส่วนโฆษกเจแปน โทแบคโค ของญี่ปุ่นกล่าวเช่นกันว่า บริษัทไม่เคยโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ต รวมทั้งยูทูบ เพราะทราบดีว่าเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย