
กำเนิดสตรีนิยมตอนใหม่ในสังคมไทย
บทความชิ้นนี้อาจจะมีการตีความเลยเถิดไปบ้าง แต่ก็จะขอเสนอว่าแนวคิดและกระบวนการที่เรียกว่า สตรีนิยม (feminism) นั้นเป็นแนวคิดที่มีการพูดถึงมานานแล้วในสังคมไทย โดยเฉพาะเมื่อเราพูดถึงบรรดานักสตรีนิยม
(feminist) ซึ่งถ้าพูดในบริบทของสังคมไทยในอดีต เราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า นักสิทธิสตรี เสียมากกว่า
คำว่า "สิทธิสตรี" ดูจะเหมาะสมกับความเข้าใจในอดีตของเราอยู่มิใช่น้อย โดยเราอาจจะพูดคร่าวๆได้ว่า การพูดถึงการรณรงค์สิทธิสตรีนั้นดูจะเป็นเรื่องของความก้าวหน้าไปจากมุมมองว่าผู้หญิงนั้นจะต้องเป็นลูกที่ดี นางงาม เมียที่ดี และแม่ที่ดี
นอกจากนี้แล้ว เรื่องของสิทธิสตรีนั้นก็สะท้อนพัฒนาการของแนวคิดและกระบวนการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงไปในทางเรื่องของสิทธิ และมักจะเทียบเคียงกับสิทธิของผู้ชาย บนคำว่าเท่าเทียมกับผู้ชาย
จนบางครั้งคำว่าสิทธิสตรี ดูคล้ายกับการอิงตัวเองกับมาตรฐานของผู้ชาย จนถึงกับนักสตรีนิยมบางท่านเห็นว่าแนวคิดสิทธิสตรีที่อิงแต่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบายของรัฐนั้นเป็นเสมือนการ "ติดหนวด" ให้แก่ผู้หญิงนั่นเอง
คำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้นำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองและภูมิปัญญาของกระบวนการสตรีนิยมอีกหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะแนวคิดที่เชื่อมโยงการอธิบายผู้หญิงกับระบบความไม่เทียมกันและถูกกินแรงโดยผู้ชาย หรือระบบคำอธิบายว่าเรื่องสำคัญของผู้หญิงก็คือการถูกครอบงำโดยระบบผู้ชายเป็นใหญ่ที่มีตรรกะของระบบที่สลับซับซ้อนกว่าเรื่องของกฎหมาย
แต่ข้อถกเถียงเหล่านี้มักจะเป็นลักษณะของข้อถกเถียงที่อิงประสบการณ์ตะวันตก และหนักไปในทางการแปลตำรามาบอกเล่า มากกว่าการเคลื่อนไหวที่เป็นกระบวนการอย่างจริงจัง และก้าวพ้นจากการสนทนาและทำงานในสถาบันการศึกษา หรือในอีกด้านหนึ่ง เราก็พูดถึงแนวคิดเรื่องสิทธิและเสรีภาพของสตรีผ่านงานวรรณกรรมที่เขียนขึ้นโดยศิลปินสตรี
จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เอง ที่ผมเห็นการเคลื่อนไหวของกระบวนการสตรีนิยมไทยที่มีความโดดเด่นก่อตัวขึ้นมา และอาจเป็นไปได้ที่จะก้าวไปสู่การเคลื่อนไหวและความสั่นสะเทือนระบบความเชื่อและการเมืองของสังคมนี้อย่างจริงจัง และอาจจะสั่นสะเทือนถึงกับการที่นักสตรีนิยมและกระบวนการสตรีนิยมของโลกจะต้องหันมาดูสังคมไทยอย่างจริงจัง
ผมกำลังหมายถึงบทสัมภาษณ์และการตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของนักเขียนสตรีของไทยสองท่านที่ลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของพระสงฆ์บางรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการเมืองท่ามกลางกระแสความขัดแย้งที่ดำรงอยู่
นักเขียนสตรีสองท่านนี้เป็นนักวิจารณ์สังคม ที่มีชื่อเสียง และมีผ่านการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศและต่างประเทศ ขณะที่พระสงฆ์สองรูปนั้น ก็เปรียบเสมือนตัวแทนของพระสงฆ์รุ่นใหม่ที่มีความรู้ มีวัตรปฏิบัติที่เป็นที่เลื่อมใส และมีความห่วงใยบ้านเมือง
ข้อวิจารณ์ของนักเขียนสตรีสองท่านที่ปรากฏตามสื่อสิ่งพิมพ์และอินเทอร์เน็ต (ขออนุญาตไม่ระบุชื่อ เพื่อความปลอดภัยต่อนักเขียนทั้งสองท่านนั้น) ที่มีต่อท่าน ว.วชิรเมธี และท่านไพศาล วิสาโล (รวมทั้งบทตอบของพระไพศาลเอง) ทำให้เราเห็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของบทบาทของโลกผู้ชายเป็นใหญ่ที่ผูกโยงกับระบบการเมือง เศรษฐกิจ และอุดมการณ์ทางศาสนา ซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากตำราของพัฒนาการสตรีนิยมของโลก (ตะวันตก)
ตรงที่ว่า พุทธศาสนานั้นถูก "ปฏิรูป" ให้เป็นสมัยใหม่ และในขณะเดียวกัน พุทธศาสนาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ "ปฏิรูป" สังคมไปในเวลาเดียวกัน ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการปฏิรูปและกระบวนการสมัยใหม่นั้น ย่อมหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ (พุทธ) ศาสนาไม่ได้ และที่สำคัญพุทธศาสนาที่ถูกวิจารณ์กลับเป็นพุทธศาสนาสมัยใหม่ที่เราเชื่อว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เราอยู่รอดในสังคมสมัยใหม่เสียด้วย ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงความงมงายของพุทธชาวบ้าน หรือไสยศาสตร์
จับตาดูเถอะครับ การเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นกำลังก้าวไปในลักษณะที่หยั่งลึกถึงโครงสร้างหลักของสังคม และสนามการต่อสู้ในทางภูมิปัญญาที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กับโครงสร้างหลักในสังคมนั้นอาจไม่ใช่เรื่อง "ล้มเจ้า" แต่อาจหมายถึงการท้าทายภูมิปัญญาที่เราอ้างว่าเป็นไทยทั้งระบบก็อาจเป็นได้ครับ