
เผยโฉมกริพเพนเขี้ยวเล็บใหม่ ทอ.
Rollout Ceremony หรือพิธีเปิดโฉมเครื่องบิน กริพเพน สำหรับประเทศไทย ณ เมืองลิงก์โชปิง ประเทศสวีเดน เป็นการบ่งบอกว่าฝูงบินรบฝูงใหม่นี้ พร้อมที่จะเดินทางเข้ามาประจำการที่ฝูงบิน 701 หรือกองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานีแล้ว
เครื่องบิน "กรินเพน" ที่นำมาเปิดโฉมในครั้งนี้ มีการติดสัญลักษณ์ "ธงชาติไทย" และสัญลักษณ์ฝูงบิน 701 "ปลาฉลามขาว" บริเวณปลายเครื่องด้านขวามือของตัวเครื่องด้วย สำหรับเครื่องบิน “กริพเพน” ทั้ง 6 เครื่อง จะมีการตราเลขเครื่องคือตั้งแต่เลข 70101-70106
“กริพเพน” ลอตแรกจะเข้ามาประจำการในช่วงเดือนมกราคม 2554 จำนวน 3 เครื่อง และในช่วงเดือนมีนาคม 2554 อีก 3 เครื่อง และเครื่องบินแจ้งเตือนทางอากาศ หรือ SAAB 340 AEW จะเข้ามาประจำการก่อนในวันที่ 16-17 ธันวาคมนี้
งบประมาณที่กองทัพอากาศใช้สำหรับในการจัดหาเครื่องบิน “กริพเพน” จำนวน 1 ฝูงบิน จำนวน 12 เครื่อง โดยจะแบ่งออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกจะใช้งบประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยมีการตั้งงบประมาณไว้ 5 ปี คือตั้งแต่ปี 2551-2555 และเฟสที่สอง อีกจำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่งบประมาณปี 2554-2558
“กริพเพน” เป็นเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ยุคที่ 4.5 หรือ 4.5 Generation Fighter ที่มีความอ่อนตัว และมีความคล่องตัว สามารถปฏิบัติภารกิจได้หลายรูปแบบในลักษณะ Multi-Role เมื่อประกอบเข้ากับระบบบัญชาการและควบคุมที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาในครั้งนี้
ส่วนอาวุธที่นำมาติดตั้งเสริมเขี้ยวเล็บให้เครื่องบิน “กริพเพน” ให้ทรงอานุภาพในการทำลายข้าศึกที่ได้รับภารกิจทั้งในบทบาทการสกัดกั้น การทำการสู้รบกลางอากาศกับเครื่องบินขับไล่ข้าศึก การโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดิน เป้าหมายเรือรบผิวน้ำ และการปฏิบัติการลาดตระเวนทางอากาศที่ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี
“กริพเพน” มีคุณลักษณะขีดความสามารถที่สามารถทำงานแบบเชื่อมโยงกันทั้งระบบ โดยระบบสามารถเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีระหว่างเครื่องบินในหมู่บิน และระหว่างเครื่องบินกับหน่วยบัญชาการควบคุม โดยมีเครื่องบินแจ้งเตือนทางอากาศในการตรวจจับเป้าหมายทั้งในอากาศ และบนภาคพื้นดิน
ที่สำคัญ “กริพเพน” ถูกออกแบบมาให้สามารถติดตั้งกับอาวุธที่มีใช้อยู่ในกองทัพอากาศไทย ทั้ง AIM-120 AMRAAM AIM-9M Sidewinder Precision Bomb และ AGM-65 Maverick ในส่วนของระบบอาวุธชนิดพิเศษที่จำเป็นต้องจัดหาเพิ่มเติม กองทัพอกาศได้วางแผนในการพัฒนากำลังรบแล้ว
ส่วนจรวดโจมตีเรือผิวน้ำ หรือ RBS-15 จะได้รับการสนับสนุนจากการจัดซื้อ “กริพเพน” เฟส 2 จำนวนกว่า 10 ตัว นอกจากนี้ยังสามารถติดตั้งใช้งานในระบบอาวุธอากาศสู่อากาศ อาวุธนำวิถีอากาศสู่พื้น ทั้ง IRIS-T และ Meteor ซึ่งมีขีดความสามารถสูงกว่าระบบอาวุธที่กองทัพอากาศมีใช้ในปัจจุบัน
โดยจะมีการเชื่อมโยงระบบเรดาร์จาก 3 สถานีหลัก คือ สถานีสมุย สถานีภูเก็ต และสถานีหาดใหญ่ พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ในการควบคุมการสกัดกั้นทางอากาศในการส่งระบบข้อมูลไปให้นักบิน เพื่อลดความสับสน และการประมวลค่าข้อมูลของนักบินกริพเพนทั้งหมด
ปัจจุบัน “กริพเพน” ถูกบรรจุไว้เสริมเขี้ยวเล็บ 5 ประเทศ คือ สวีเดน ฮังการี แอฟริกาใต้ สาธารณรัฐเช็ก อังกฤษ และน้องใหม่อย่างประเทศไทย ที่จะเข้ามาประจำการในต้นเดือนมกราคม 2554 โดยขณะนี้ “กริพเพน” มียอดในการจำหน่ายกว่า 260 เครื่องแล้ว
พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ บอกว่า การซื้อเครื่องบิน “กริพเพน” ในครั้งนี้ ไม่ได้จัดซื้อเฉพาะเครื่องบินอย่างเดียว แต่กองทัพอากาศจัดซื้อแบบเป็นระบบของเครื่องบินทั้งหมด ที่จะสามารถส่งเสริมให้ “กริพเพน” มีขีดความสามารถที่สูงขึ้นสามารถเทียบเท่ากับเทคโนโลยีทางอากาศที่ใช้อยู่ในปัจจุบันในแทบทุกประเทศทั่วโลก
“นี่คือปัจจัยสำคัญที่กองทัพอากาศไทยตัดสินใจซื้อ “กริพเพน” เพื่อมาเสริมศักยภาพของกองทัพในครั้งนี้ ทั้งนี้กองทัพอากาศมองภาพรวมแล้วว่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ทั้งในเชิงขีดความสามารถในด้านกำลังรบ ด้านกำลังพล รวมถึงการวางรากฐานเพื่อการพัฒนาไปสู่อนาคตดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการเป็นไปตามแผนที่กองทัพอากาศวางไว้ และนักบินทั้ง 4 คน ก็ได้ผ่านการฝึกไปแล้วกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยทั้ง 4 คน เมื่อเสร็จภารกิจแล้วก็จะไปทำหน้าที่เป็นครูฝึกการบินด้วย”
ทีมข่าวความมั่นคง