ป่าชุมชนต้นแบบเฉลิมพระเกียรติ เมื่อท้องถิ่นขอมีบทบาทกับการอนุรักษ์
จนถึงขณะนี้การตื่นตัวต่อการอนุรักษ์ไม่ได้ขีดวงให้จำกัดอยู่เฉพาะภาครัฐ หรือองค์กรภาคเอกชนที่มีขีดความพร้อมเท่านั้น เพราะปัจจุบันท้องถิ่นเอง อันหมายถึงชุมชนเริ่มเข้ามามีบทบาทและเล็งเห็นความสำคัญต่อภารกิจดังกล่าว และถือเป็นกรณีศึกษาได้สำหรับ บ้านท่ามะนาว ต.ร
เส้นทางความเป็นมาของแนวคิดดังกล่าว ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าถูกจุดประกายขึ้นหลังการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีบทบาทต่อการอนุรักษ์ป่า ขณะเดียวกันการประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก ทำให้การอนุรักษ์ป่าห้วยขาแข้งได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดและอย่างจริงจัง วิถีของคนในชุมชนที่เคยพึ่งพิงการเข้าไปเก็บหาของป่ามาเลี้ยงชีวิตและครอบครัว ต้องเปลี่ยนไป
การหารือร่วมกันของคนในหมู่บ้านท่ามะนาวขณะนั้น เพื่อหาทางลดการพึ่งพิงป่าอนุรักษ์ มาได้ข้อสรุปที่ การสร้างป่าของชุมชนด้วยการกันพื้นที่สาธารณะส่วนหนึ่งที่เรียกว่าป่ากระเด็น ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับป่ากันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ ให้เป็นป่าของชุมชน มีการนำต้นไม้ไปปลูกเสริมตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา พร้อมไปกับการตั้งกฎ กติกา ในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าชุมชนร่วมกัน
เช่น การเก็บหน่อไม้จะต้องคำนึงถึงหน่อที่จะเหลือเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ การเก็บผลหรือใบจะต้องใช้วิธีตัดโค่น มีการวางมาตรการป้องกันไฟป่าช่วงฤดูแล้งอย่างจริงจัง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อความยั่งยืนของต้นไม้ในป่าชุมชนแห่งนี้ ทำให้ในปัจจุบัน ป่าชุมชนบ้านท่ามะนาวมีความอุดมสมบูรณ์ในระดับที่ไม่แตกต่างไปจากป่าอนุรักษ์ ทำให้เกิดผลดีทั้งชุมชนเอง ตลอดจนสามารถลดการพึ่งพิงป่าอนุรักษ์ ได้ในระดับหนึ่ง
"ป่าชุมชนบ้านท่ามะนาว เกิดจากความริเริ่มของชาวบ้านหลังประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกเมื่อกว่า 20 ปี ที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านลดการพึ่งพิงป่าอนุรักษ์ มีการห้ามตัดไม้ การปลูกต้นไม้เสริมเพิ่มเติม และป้องกันไฟป่าอย่างจริงจัง ตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา ส่งผลให้ในปัจจุบันป่าแห่งนี้มีสภาพสมบูรณ์ไม่แพ้ป่าอนุรักษ์ และชาวบ้านสามารถเก็บหาของป่าและใช้ประโยชน์หาอยู่หากินจากผืนป่าได้อย่างมีคุณภาพ ได้แก่ เห็ดตามฤดูกาล สมุนไพร หน่อไม้ พืชผัก ฯลฯ ผลผลิตที่ได้จากป่าชุมชนบ้านท่ามะนาว จนเป็นป่าชุมชนต้นแบบอีกแห่งหนึ่งของเครือข่ายป่าชุมชนอุทัยธานี" จิรศักดิ์ สุขสุด ประธานป่าชุมชนบ้านท่ามะนาว ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ให้มุมมองถึงความร่วมมือที่เกิดขึ้น
ส่วนในปีนี้มติของคนในหมู่บ้านท่ามะนาว โดยการนำของ สมศักดิ์ เดชอินทร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านท่ามะนาว ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ก็คือ การที่จะต่อยอดจากผืนป่าชุมชนบ้านท่ามะนาว ให้อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นจนอยู่ในระดับเป็นป่าต้นแบบในการจัดการผืนป่าชุมชน ที่สร้างและดูแลโดยชาวบ้านเพื่อชาวบ้าน สำหรับกิจกรรมที่ดำเนินการไปแล้วได้แก่การนำชาวบ้าน ร่วมกันปลูกต้นไม้นานาชนิด เช่น ไผ่รวก ต้นยางนา สะเดา ต้นสัก ต้นประดู มะตูม มะเฟือง ฯลฯ กว่า 400 ต้น ในพื้นที่ป่าชุมชน เนื้อที่ 80 ไร่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 78 พรรษา
พ.ต.ท.สรานนท์ จันทร์สม ประธานที่ปรึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า การตื่นตัวรวมตัวกันของชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่รายรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในการดูแลป่าชุมชน เป็นสิ่งที่ดีต่อการอนุรักษ์ผืนป่าห้วยขาแข้งอย่างยั่งยืน โดยกรรมการที่ปรึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้มีแผนงานให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันมีป่าชุมชนรอบๆ ป่าห้วยขาแข้งจำนวน 64 ป่า เนื้อที่กว่า 5 หมื่นไร่ ในจำนวนนี้ 48 ป่า มีการจดจัดตั้ง มีกรรมการขึ้นมาดูแล และมีกฎหมายรองรับ ตามระเบียบกรมป่าไม้แล้ว
นอกจากนั้นแล้ว สถาบันป่าชุมชน ของวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี ได้เตรียมสนับสนุนด้านวิชาการ โดยการจัดอบรมให้ความรู้ เพิ่มศักยภาพการจัดการดูแล แก่ คณะกรรมการป่าชุมชน ซึ่งเป็นคณะทำงานที่ประกอบด้วยชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อให้สามารถสืบค้นคุณค่าของป่าไม้ วิเคราะห์ความต้องการของชุมชน จัดการป่าภายในชุมชน มีทักษะการเสริมสร้างผืนป่าเพื่อชุมชน ตลอดจนลดความขัดแย้งที่เกิดจากการอนุรักษ์ป่า ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถจัดทำแผนงานโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง ซึ่งจากการประสานเบื้องต้นพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งพร้อมที่จะเข้าให้การสนับสนุนการอนุรักษ์และสร้างเสริมป่าชุมชนอย่างเต็มที่
เป็นการสนับสนุนเพื่อสร้างบทบาทของท้องถิ่นต่อภารกิจการอนุรักษ์
"สำรวม บุญล้น"