ข่าว

ถนนมหารัถยา ใช้รับแขกบ้านแขกเมืองในสมัยอยุธยา

10 ก.ย. 2553

ถ้าพูดถึงการรับแขกบ้านแขกเมืองของพระมหากษัตริย์ในทุกยุคสมัย ภาพที่หลายๆ คนจินตนาการถึงคงหนีไม่พ้นความหรูหราฟู่ฟ่า การจัดเตรียมสถานที่ที่ต้องจัดให้สมพระเกียรติพระมหากษัตริย์

  ในสมัยอยุธยาเอง คงมีการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองอยู่หลายครั้ง เพราะเป็นเมืองที่มีการติดต่อทางการทูต หรือติดต่อค้าขายกับต่างชาติอยู่ตลอด

 เหตุการณ์การรับแขกบ้านแขกเมืองครั้งหนึ่งสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีบันทึกอยู่ในคำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ

 ในเอกสารระบุว่าเป็นการต้อนรับราชทูตจากเมืองลังกา พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงรับสั่งให้เบิกตัวทูตมาเข้าเฝ้าฯ ในพระราชวัง เสนาบดีผู้ใหญ่เมื่อได้รับพระบรมราชโองการแล้วก็ถึงกับสั่งให้กรมเมืองดูแลจัดการทำให้บ้านเมืองสะอาดเรียบร้อย

 ที่น่าสนใจคือกรมเมืองถึงขนาดสั่งให้นครบาลทำทาง หมายถึงปรับปรุงทางที่จะเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง เพื่อที่จะให้พ่อค้าเข้ามาตั้งร้านค้า ดังข้อความในเอกสารตอนหนึ่งว่า

 “….เสนาผู้ใหญ่รับพระราชโองการแล้วออกมา จึ่งสั่งกรมเมืองให้ตกแต่งบ้านเมืองให้งามสะอาด กรมเมืองจึ่งสั่งให้นครบาลไปป่าวร้องให้ทำทาง แล้วให้พ่อค้าทั้งปวงมาตั้งร้านค้าขายกัน ทั้งผ่าผ่อนแพรพรรณต่างๆ นานา ทั้งเครื่องสิ่งของอันดีๆ ครั้นแล้วให้มานั่งซื้อขายกันตามที่ถนนหนทาง ที่แขกเมืองจักมาเข้าเฝ้า….”

 ถนนเส้นนี้ในเอกสารจากหอหลวงเรียกว่า มหารัถยา ซึ่งเป็นถนนหลวง อยู่กลางพระนคร กว้าง 12 เมตร หรือ 6 วา ปูด้วยศิลาแลง ใช้เป็นเส้นทางในพระราชพิธีต่างๆ และรับราชทูตจากต่างประเทศขึ้นจากเรือเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

 ข้อความที่ยกมาข้างต้นทำให้เกิดจินตนาการถึงสภาพความเป็นอยู่ หรือสภาพบ้านเมืองยุคอยุธยาได้เป็นอย่างดี ไม่ใช่แค่เรื่องของพระมหากษัตริย์ แต่มีเรื่องของชาวบ้านร้านตลาดต่างๆ ที่มาชุมนุมขายของกัน

 มุมมองแบบนี้เองที่ทำให้ประวัติศาสตร์อยุธยาดูมีชีวิตชีวาขึ้นมา แม้จะเป็นแค่ข้อความในเอกสารไม่กี่บรรทัดก็ตาม

"เรือนอินทร์  หน้าพระลาน"

ที่มาภาพประกอบ : สุจิตต์  วงษ์เทศ, อยุธยายศยิ่งฟ้า, กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการ
พิมพ์, (ธ.ค. 2552, หน้า 329.