
บ้านโนนวัด มีชุมชนก่อนประวัติศาสตร์
ทางภาคอีสานของประเทศไทยมีชุมชนหมู่บ้านที่อยู่ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์มากมาย ซึ่งสามารถเรียกรวมๆ ได้ว่า ยุคสุวรรณภูมิ หมู่บ้านในสมัยก่อน เป็นชุมชนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความต้องการที่จะอยู่ร่วมกัน ลักษณะการอยู่อาศัยแบบนี้มีความหมายต่อพัฒนาการทางสังคม และวัฒนธรรมของมนุษย์มาก เพราะหมายถึงการตั้งถิ่นฐานที่ถาวร มีแหล่งทำกิน ไม่ต้องเร่ร่อนอีกต่อไป
เช่นที่บ้านโนนวัด ต.พลสงคราม อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของชุมชนโบราณที่อยู่ในแอ่งอารยธรรมโคราช หรืออีสานใต้
คำว่า บ้าน หมายถึงหมู่บ้าน ไม่ใช่บ้านเป็นหลังใช้อยู่อาศัยอย่างความหมายปัจจุบัน ส่วนคำว่าโนน ก็คือเนิน
บ้านโนนวัดจึงหมายถึงหมู่บ้านที่มีศาสนสถานประจำหมู่บ้าน เช่นศาลผี(ในสมัยโบราณที่ยังไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ) หรือปัจจุบันเป็นวัด ตั้งอยู่บนเนินที่อยู่กลางหมู่บ้านเป็นศูนย์กลางชุมชนก็เป็นได้
จากการขุดค้น และวิเคราะห์ทางโบราณคดี ชุมชนโบราณเช่นบ้านโนนวัดและหมู่บ้านที่ร่วมสมัยกันนี้มีเทคโนโลยีการทำเครื่องปั้นดินเผาที่ค่อนข้างก้าวหน้า ทั้งที่ทำด้วยแป้นหมุน มีลวดลายเชือกทาบ และเขียนสี เครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ เช่นไห หรือหม้อ ที่ขุดค้นพบมักจะบรรจุกระดูก หรือสิ่งของเครื่องใช้ของคนตายแล้วฝังร่วมกับหลุมฝังศพ
นักโบราณคดีตีความสิ่งของที่ฝังร่วมกับศพ ไม่ว่าจะเป็นหม้อไหที่ใส่ของ หรือเครื่องประดับ ว่าเป็นสิ่งของที่ใช้บอกฐานะทางสังคมของคนนั้นๆ ยิ่งมีมากเท่าไรก็ยิ่งแสดงว่าคนคนนั้นมีฐานะทางสังคมสูงนั่นเอง ประเพณีที่เกี่ยวเนื่องมาจากความตายนี้เองที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์มาทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าจะย้อนกลับไปกี่พันปีก็ตาม อีกทั้งยังสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันโดยที่เราไม่รู้ตัว การศึกษาเรื่องราวในอดีตอย่างนี้จึงทำให้เราได้ทำความเข้าใจในรากเหง้าของวัฒนธรรม และทำให้รู้จักตัวเองดีขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้
"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"
***ที่มาภาพประกอบ : สุจิตต์ วงษ์เทศ, ปราสาทพระวิหาร ทำไม? มาจากไหน, กรุงเทพฯ:เรือนแก้วการพิมพ์, กรกฎาคม 2551.