
แก้สายตาสั้นด้วยการตัดต่อ"ยีน"
อาการสายตาสั้น หรือ "ไมโอเปีย" ที่เกิดจากความผิดปกติของดวงตากลายเป็นเรื่องสามัญของคนทั่วโลก ส่วนใหญ่ผู้ที่มีอาการเชื่อว่าเกิดจากการอ่านหนังสือ หรือจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป หรือใช้สายตาในเวลากลางคืนทำให้เกิดการผิดปกติ
แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าอาการสายตาสั้นนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากพันธุกรรม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมสามารถค้นพบทางแก้ไขอาการสายตาสั้นด้วยการปรับเปลี่ยน "ยีน" ซึ่งเป็นตัวกำหนดลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตได้แล้ว
นักวิทยาศาสตร์แห่งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยดุ๊ก นำเสนอผลงานการวิจัยฉบับนี้ในเว็บไซต์เนเจอร์ จีเนติกส์ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยระบุว่า อาการสายตาสั้นซึ่งเกิดจากการที่ภาพจากกระจกตาตกสู่จอตาผิดเพี้ยนไปจากเดิม โดยระยะห่างระหว่างกระจกตากับภาพที่ตกสู่จอตานั้นสั้นกว่าที่สมควรจะเป็น ทำให้มองเห็นภาพระยะไกลเป็นภาพเบลอๆ จากการวิจัยพบว่ายีนในกลุ่มชาวคอเคเชียน หรือชาวตะวันตก เช่น ชาวเนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และออสเตรเลีย เป็นตัวกำหนดให้เกิดภาวะสายตาสั้น
การค้นพบดังกล่าวนำไปสู่การแก้ไขอาการสายตาสั้นด้วยการตัดแต่งพันธุกรรมได้ในที่สุด นางเทอรี่ ยัง ศาสตราจารย์ด้านจักษุวิทยา กุมารแพทยศาสตร์ และอายุรกรรรม แห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก ผู้นำการวิจัยครั้งนี้ เปิดเผยว่าได้ค้นพบรหัสดีเอ็นเอในยีน RASGRF1 ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้สายตาผิดปกติ โดยพบในตัวอย่างที่เป็นชาวตะวันตก 6 คนในตัวอย่างทั้งหมด 13,414 คน
ความสำคัญของยีน RASGRF 1 มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับระบบประสาทและจอรับภาพ ในการควบคุมการทำงานของจอรับภาพ และการจัดการด้านความทรงจำต่อภาพนั้นๆ ซึ่งเมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์ปรับเปลี่ยนแก้ไขรหัสดีเอ็นเอยีนให้แก่หนูทดลอง ก็พบว่าหนูทดลองเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงในเลนส์ตาของพวกมัน
ศ.ยัง ยอมรับว่านี่เป็นเพียงขั้นตอนแรกของการค้นพบ และป้องกันการเกิดสายตาผิดปกติในมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการสายตาสั้น ด้วยการแก้ไขที่ต้นตอ นั่นคือการปรับเปลี่ยนรหัสดีเอ็นเอในยีน RASGRF 1 ให้ถูกต้องนั่นเอง
สงสัยร้านแว่นตาต้องหนาวๆ ร้อนๆ ไปตามๆ กัน