ข่าว

วิบากกรรมสาวใช้ในดินแดนตะวันออกกลาง

วิบากกรรมสาวใช้ในดินแดนตะวันออกกลาง

19 ก.ย. 2553

สตรีศรีลังกานามว่า แอล.พี.อริยาวตี ได้กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อปลายเดือนที่แล้ว เมื่อเธอได้หอบเอาร่างกายที่เต็มไปด้วยตะปูและเข็มรวม 24 เล่ม กลับไปยังบ้านเกิดพร้อมกับเธอ

นอกจากวัตถุแหลมเล็กเหล่านั้นได้กลายเป็นหลักฐานประจานความโหดร้ายของนายจ้างซาอุดีอาระเบียที่เป็นมนุษย์เหมือนกับเธอแล้ว แม่ลูกสามอย่างอริยาวตี ยังกลายเป็นไฟฉายสะท้อนชะตากรรมเลวร้ายของเพื่อนร่วมอาชีพหลายแสนชีวิตในดินแดนตะวันออกกลางอีกด้วย      
 
    "การทรมานเริ่มต้นขึ้นเมื่อฉันทำจานแตกหนึ่งใบโดยไม่ได้ตั้งใจ นายตะคอกถามทันทีว่าตาบอดหรือไง และพยายามทิ่มบางอย่างเข้าไปในตาขวา พอฉันยกมือป้องไว้ นายก็เอาเข็มทิ่มบนหน้าผากเหนือดวงตาไปนิดเดียว" อริยาวตีเล่าประสบการณ์เลวร้าย 
 
  หลังจากทุกข์ทรมานจากการถูกทุบตีและล่วงละเมิดหลายเดือน อริยาวตีได้รับการช่วยเหลือในที่สุด และแพทย์ศรีลังกาได้ช่วยผ่าตัดค่อยๆ เอาตะปูและเข็มออกจากขาและแขน

     อันที่จริง นายจ้างล่วงละเมิดสาวใช้จากแดนไกลสารพัดรูปแบบไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยังคงเกิดขึ้นซ้ำซาก
 
   เมื่อเร็วๆ นี้ สถานีช่อง 4 ในอังกฤษ ได้ออกอากาศสารคดีตีแผ่วิบากกรรมหญิงที่ทำงานเป็นแม่บ้านหรือสาวใช้ในอังกฤษ ที่มีอยู่ประมาณ 1.5 หมื่นคน พบว่ามีเป็นจำนวนมากที่ทุกข์ทนกับการถูกใช้เป็นแรงงานราวทาสยุคใหม่ และองค์กรการกุศลแห่งหนึ่งอ้างว่า มีสาวใช้ถึง 1 ใน 5 ถูกล่วงละเมิด 

    จอยนัล อาเบดิน จอย เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ในบังกลาเทศ บอกว่าการข่มขืน ทำร้าย และทุบตี เป็นเหตุเกิดขึ้นรายวันในเลบานอน แต่รัฐบาลในกรุงธากากลับระบุว่าไม่ทราบว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น  

    อเบดินเล่าต่อว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนนี่เอง มีเด็กหญิงคนหนึ่งกลับมาจากลอนดอนในสภาพหัวโล้น จากฝีมือนายผู้ชายที่แค้นเพราะเธอไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วย และว่าเฉพาะปี 2552 ปีเดียว มีศพเด็กหญิงบังกลาเทศส่งกลับมาจากเลบานอนถึง 11 ศพ ส่วนมากมีร่องรอยการทารุณปรากฏตามร่างกาย อเบดินบอกด้วยว่า มีเด็กสาวคนหนึ่งโทรกลับบ้านเพื่อขอความช่วยเหลือ ปรากฏว่าอีกสองวันหลังจากนั้น นายจ้างเลบานอนโทรมาบอกครอบครัวว่าเด็กสาวตายแล้วเพราะหัวใจวาย     

     นาร์กิส เบกุม แม่ลูกสองชาวบังกลาเทศวัย 26 ปี เล่าถึงชีวิต 5 เดือนในเลบานอนว่านายจ้างของเธอในกรุงเบรุตลงโทษด้วยการช็อตไฟฟ้า โบยด้วยโซ่และเข็มขัดหนัง บางครั้งยังใช้เตารีดนาบเธอก็มี ร้ายกว่านั้นเธอถูกข่มขืนด้วย 
 
    "เด็กสาวบังกลาเทศ 95% ที่เธอเคยพบ ต่างเล่าว่าพวกเธอถูกข่มขืนในที่ทำงาน แต่ไม่กล้าปริปากบอกครอบครัวเพราะความกลัว เลือกจะอดทนและก้มหน้ารับชะตากรรมแทน  
 
      สภาชาวเนปาลในเลบานอน เปิดเผยถึงสถิติน่าตกใจเมื่อเดือนที่แล้วว่า เด็กสาวเนปาลที่ไปทำงานเป็นแม่บ้านในเลบานอนเมื่อปีที่แล้ว ฆ่าตัวตายไปถึง 15 คน ด้วยความเครียดเรื่องเงิน กับได้รับความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ

    ขณะที่ตัวเลขจากกระทรวงแรงงานเลบานอนระบุว่า ปัจจุบันมีสาวใช้ต่างชาติทำงานในเลบานอนราว 2 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นชาวศรีลังกา เอธิโอเปีย ฟิลิปปินส์และเนปาล หากรวมสาวใช้ทุกชาติ มีสาวใช้ฆ่าตัวตายในดินแดนตะวันออกกลางแห่งนี้ ประมาณ 100 คนนับจากปี 2550
 
  ส่วน มายา กูรุง วัย 35 ปี จากบ้านเกิดเนปาลในปี 2547 เพื่อไปทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดในคูเวต ที่นั่น มายาถูกบังคับทำงาน 20 ชั่วโมงต่อวัน และบ่อยครั้ง ต้องประทังความหิวด้วยเศษอาหารเหลือๆ จากนายจ้าง ความพยายามที่จะหนีไปต้องล้มเลิก เพราะบริษัทจัดหางานได้ยึดหนังสือเดินทางไว้

    ต่อมา มายาตั้งครรภ์และลาออกจากงาน เพราะเชื่อชายคนหนึ่งที่เธอพบในโบสถ์ ชายผู้นั้นเสนอจะหาทางนำเอกสารเดินทางมาคืนให้ แลกเปลี่ยนกับการหลับนอนด้วย ปรากฏว่าถูกหลอก จึงตัดสินใจไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจ แต่กลับถูกแจ้งข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายและส่งตัวเข้าคุก   
 
   มายากลับถึงเนปาลจนได้เมื่อปีที่แล้ว แต่ครอบครัวพากันรังเกียจ เวลานี้ต้องอาศัยอยู่ในที่พักพิงแห่งหนึ่งในกรุงกาฐมาณฑุ    
 
  เงินจากหยาดเหงื่อและแรงงานของสาวใช้ที่ส่งกลับไปจุนเจือครอบครัวในประเทศกำลังพัฒนาในแต่ละปี คิดเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์ แต่รัฐบาลแต่ละประเทศกลับไม่รับรองสิทธิแรงงานส่วนนี้ไว้ในกฎหมายแรงงาน หรือหาทางปกป้องคุ้มครองพวกเขาเลย         
  
 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) กำลังร่างแนวทางปฏิบัติสำหรับนายจ้าง รวมทั้งสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ตลอดจนกลไกสำหรับการร้องเรียน และการรับประกันแรงงานขั้นต่ำกับชั่วโมงทำงาน
 
 ขณะเดียวกัน ส.ส.ศรีลังกาอย่างเช่น รันจัน รามานยะเก ได้เรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการบางอย่าง พร้อมชี้ว่าชะตากรรมของแรงงานหญิงในต่างแดน เป็นวาระสังคม และเสนอให้ขึ้นบัญชีดำซาอุดีอาระเบีย     .
  
 ส.ส.รายนี้ใช้คำแรงๆ ว่า รู้สึกอดสูที่จะพูด แต่เป็นความจริงที่ว่า เราได้กลายเป็นซ่องนานาชาติ จากการส่งหรือขายขาดผู้เป็นแม่ พี่สาวน้องสาวและลูกสาวของพวกเรา ไปเป็นแรงงานทาสหรือไปถูกทรมาน 

    นักเคลื่อนไหวในบังกลาเทศ เนปาล และอินเดียก็กำลังรณรงค์ให้รัฐบาลพยายามทำอะไรบางอย่างเสียที      .
  
 ชารุ โจชิ เชษฐา จากกองทุนพัฒนาสตรีแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า แรงงานต่างแดนไม่เคยเป็นวาระการเมืองในเนปาล และถูกมองว่าไม่สำคัญเพราะแรงงานเหล่านั้น ลงคะแนนให้พวกนักการเมืองไม่ได้ ทั้งที่พวกเขาเหล่านั้นเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ นำเงินเข้าเนปาลปีละ 2.1 แสนล้านรูปี (8.6 หมื่นล้านบาท) แต่รัฐเจียดงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเพียงเศษเสี้ยว
 
   มายาสนับสนุนและเสริมว่า เรื่องเลวร้ายจะไม่เกิดขึ้นหากมีกลไกหรือระบบที่เหมาะสม ลำพังผู้หญิงตัวคนเดียว เงินก็ไม่มี หนังสือเดินทางก็ไม่มี และยังไม่มีสถานทูตให้พึ่งได้ จะทำอะไรได้
  
 ขบวนการเคลื่อนไหวสาวใช้แห่งชาติซึ่งรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิของสาวใช้ 92 ล้านคนในอินเดีย กำลังเปิดคอร์สอบรมให้แก่ผู้หญิงที่คิดจะไปทำงานในต่างประเทศ และต้องการให้รัฐได้เข้ามามีบทบาทในด้านกฎหมาย รวมถึงเปิดเวทีให้แรงงานที่กลับมาได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน เช่นช่วยกันเตือนว่ามีบริษัทจัดหางานใดที่ละโมบ คิดค่าหัว ค่าเดินทางและวีซ่าเกินเหตุ จนทำให้ครอบครัวที่จนอยู่แล้ว กลายเป็นมีหนี้สินล้นตัว   
  
 ซิสเตอร์ แซลลี ไมเคิล ผู้ประสานงานองค์กรฯ ซึ่งอยู่ในรัฐเคราลาทางใต้ของอินเดีย กล่าวทิ้งท้ายว่า สาวใช้ศรีลังกาที่เป็นข่าวดังไปทั่วนั้น ไม่ได้มีรายเดียวในโลก แต่ยังมีสาวใช้อีกมากมายที่เผชิญชะตากรรมไม่แตกต่างกัน

อุไรวรรณ นอร์มา
ที่มา สำนักข่าวเอเอฟพี/ดีพีเอ