ข่าว

ควันหลงจากงานรำลึก19กันยาที่แยกราชประสงค์

ควันหลงจากงานรำลึก19กันยาที่แยกราชประสงค์

23 ก.ย. 2553

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมามีเรื่องน่าสนใจในการรำลึกถึงวันที่ 19 กันยา ที่แยกราชประสงค์ ซึ่งมีขึ้นซ้อนกันในสองส่วน

 คือส่วนของการรำลึกว่าด้วยการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (คือครบ 4 ปี)

 และส่วนของการรำลึกว่าด้วยการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 (คือครบ 4 เดือน)

 เรื่องที่น่าสนใจก็คือจำนวนผู้คนที่มาร่วมงานในวันนั้นมีจำนวนมาก และสามารถกล่าวได้ว่ามีไม่น้อยกว่าจำนวนผู้ที่มาชุมนุมในช่วงก่อน 19 พฤษภาคม ในหลายๆ วัน

 อย่างน้อยมีจำนวนมากพอที่จะทำการครอบครองพื้นที่ถนน หน้าแยกราชประสงค์ ในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งย่อมแน่นอนว่าเป็นการผิดกฎหมายจราจร และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ทั้งนี้มีเงื่อนไขสองประการที่ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวอาจจะไม่สมบูรณ์นัก หากไม่นับถึงการยืนยันสิทธิในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ

 การชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้มีเวทีปราศรัยแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในการระลึกถึงสองเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้นจึงค่อนข้างลำบากที่จะจัดการกับ "แกนนำ" และยิ่งเมื่อแกนนำปล่อยลูกโป่งได้ประกาศยุติกิจกรรมหลังการปล่อยลูกโป่งแล้ว ก็ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะหาใครมารับผิดชอบในกรณีดังกล่าว

 แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าตั้งคำถามในเรื่องของการชุมนุมในวันนั้นก็มีอยู่หลายประการ

 หนึ่ง การชุมนุมดังกล่าวถูกมองและรายงานโดยสื่อว่าเป็นการชุมนุมของ นปช. ทั้งที่คำจำกัดความของ นปช.นั้นอาจจะกว้างมาก เนื่องจากการจัดงานดังกล่าวเป็นการจัดงานที่เกี่ยวกับการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร และการสลายการชุมนุมที่เกี่ยวเนื่องกับความสูญเสีย 91 ศพ

 กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า การรีบร้อนไปเหมารวมว่าคนเหล่านี้เป็น นปช. ก็จะต้องเผชิญปัญหาที่ว่า ตกลงคนเหล่านี้เป็นใคร เป็นพวกรักทักษิณใช่ไหม ทั้งที่เมื่อพิจารณาถึงการแสดงออกในวันนั้น แทบจะเรียกได้ว่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับทักษิณนั้นมีอยู่น้อยมาก และน้อยกว่าสมัยที่มีการชุมนุมเสียอีก

 กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ คำถามคลาสสิกที่ว่า "คนเสื้อแดง" เป็นใครนั้น ก็ยังไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนอยู่ดี เพราะเอาเข้าจริงสิ่งที่เราเห็นนั้นอาจจะสามารถอธิบายได้ถึงระดับของความไม่พอใจต่อความเป็นไปของสังคมที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องของการ "ตาม" หรือ "นำ" หรือสามารถอธิบายได้ง่ายๆ ว่า คนเหล่านี้มีตำแหน่งแห่งที่ที่แน่นอนในสังคมอย่างไร (อาทิ ระดับรายได้ และตำแหน่งแห่งที่ทางเศรษฐกิจ) เพราะอาจเป็นไปได้ว่าความรู้สึกของการเป็นคนเสื้อแดงและ/หรือความเห็นใจคนเสื้อแดงอาจจะกระจายอยู่ในหลายภาคส่วน

 สอง ข่าวหลักที่ออกในวันนั้นกลายเป็นการมุ่งเน้นการรายงานไปที่เรื่องของการที่ห้างร้านต่างๆ "ผวาม็อบ" จึงรีบปิด ทั้งที่เรื่องราวของม็อบในวันนั้นมีมากมาย สื่อไทยก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในการสัมภาษณ์ว่าแต่ละคนมาชุมนุมในวันนั้นทำไม เพราะว่ามีโครงเรื่องเอาไว้แล้วว่า นี่คือพวก นปช. ที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย

 ทั้งที่เมื่อพิจารณาดูแล้ว นอกเหนือจากรั้วชั่วคราวในฝั่งเซ็นทรัลเวิลด์ ที่มีการเขียนข้อความมากมาย ก็ไม่ได้พบความเสียหายจากการชุมนุมที่มีต่อห้างร้านต่างๆ ซึ่งถ้าเรื่องนี้เป็นความจริง ก็คงจะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าห้างร้านต่างๆ นั้นอาจมีอคติต่อผู้ชุมนุมมิใช่น้อย หรือถ้าจะพูดให้มีอารมณ์ขันสักหน่อย คราวหน้าผู้ชุมนุมควรร้องต่อศาลแพ่งเพื่อให้มีการเปิดห้างในช่วงการชุมนุมในฐานะการคุ้มครองชั่วคราวว่าพวกเขาย่อมมีสิทธิที่จะจับจ่ายใช้สอย และระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย

 สาม เรื่องที่น่าสนใจแต่ไม่สามารถรายงานได้คงไม่ใช่เรื่องแค่จำนวนที่แน่นอนของผู้ที่มาชุมนุม แต่น่าจะเป็นเรื่องของ "ระดับของการมองเห็น" ของสื่อและรัฐ หากได้ลงไปสัมผัสกับบรรยากาศของการชุมนุมจริง ที่ไม่มีแกนนำ และในขณะเดียวกัน ข้อเขียนต่างๆ ที่แปะ-ประทับอยู่เต็มงานนั้นมีเรื่องราวที่รายงานได้ยากหรือไม่สามารถมองเห็นได้เสียมากกว่า

 สรุปว่า ถ้าจะมีการกล่าวถึงการประเมินที่ผิดพลาด ผมเองก็ไม่แน่ใจว่ามีการประเมินผิดพลาดกี่เรื่องของฝ่ายใดบ้าง หรือบางทีการประเมินที่ผิดพลาดนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่จงใจให้เกิดขึ้นเสียมากกว่า...