ร.ร.นานาชาติเทศบาลนครนครศรีฯ ยุทธศาสตร์การศึกษาจากท้องถิ่น
โรงเรียนนานาชาติ คือโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนแบบสากล มีการใช้ระบบภาษาและการสื่อสารเป็นสากลคือภาษาอังกฤษเป็นหลัก หลักสูตรการศึกษามีความเป็นสากลที่ได้รับการยอมรับ ที่สำคัญสถานศึกษาเหล่านี้ ไม่ว่าในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ล้วนแต่ดำเนินการโดยเอกชนทั้งสิ้น
นี่คือโรงเรียนนานาชาติแห่งแรกในประเทศไทย ที่จัดตั้งขึ้นโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนนานาชาติเทศบาลนครนครศรีธรรมราช มีพื้นที่เพื่อดำเนินการรวม 20 ไร่ เป็นการใช้พื้นที่เดิมของเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช โดยทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งนี้ใช้งบประมาณเพื่อดำเนินการรวม 121 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณของเทศบาลนครนครศรีธรรมราชทั้งหมด
สมนึก เกตุชาติ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช อธิบายถึงที่มาของการก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติแห่งนี้ว่า เป็นการลงทุนด้านการศึกษาของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ด้วยเป้าหมายให้เยาวชนสามารถก้าวต่อไปทางการศึกษาในระดับนานาชาติได้อย่างสมบูรณ์แบบ โครงการนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประสบความสำเร็จในการบริหารการศึกษาในระดับประถมศึกษาจนเป็นที่หนึ่งของประเทศไทยมาแล้ว
ส่วนการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ โรงเรียนนานาชาติแห่งนี้จะเชื่อมโยงผ่านสมาคมที่อเมริกา คือ Eastern Assosoation of Schools and Colleges แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือชื่อย่อว่า WASC สหรัฐอเมริกา โดยมีการส่งหลักสูตร ส่งครูผู้สอน มาให้ความรู้ อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นโรงเรียนคู่ขนานในอเมริกา "ครูทั้งหมดตั้งแต่ครูใหญ่ไปจนถึงครูผู้สอนเป็นชาวต่างชาติ ในขณะที่ครูไทยสอนเฉพาะภาษาไทยกับสังคมเท่านั้น เราดำเนินการกันอย่างนั้น"
สมนึก กล่าวว่า ตอนนี้มีการเรียนการสอนในชั้นเรียนแรกคือเกรด 7 หรือเทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 1 มีนักเรียนรวม 50 คน "เราจะดูแลการทำงาน การเรียน การสอน การดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทาง คาดว่าในปี 2554 จะพร้อมมากยิ่งขึ้นกับการจัดการ นักเรียนนานาชาติทั้ง 50 คน จะได้รับความรู้เกี่ยวกับแนวคิดต่างๆ เช่นเดียวกับต่างชาติ แต่พวกเขาเป็นคนไทย อยู่อย่างไทย อยู่อย่างท้องถิ่น รู้จักเพื่อน มีเพื่อน
เด็กเหล่านี้เมื่อจบจะสามารถเดินทางไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาได้โดยไม่ต้องสอบในมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่วนกระบวนการรับเพื่อเข้าเรียนต่อภาคการศึกษามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 6 หมื่นบาท เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งหากเทียบกับโรงเรียนทั่วไป จะมีค่าใช้จ่ายตรงนี้สูงมากกว่า" สมนึก ระบุ
"โครงการนี้เป็นการเปิดโอกาสให้แก่คนชั้นกลาง ลูกหลานของชาวนครศรีธรรมราช ลูกชาวนา ชาวสวน ที่มีขีดความสามารถ มีอำนาจในการเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบนี้ได้ ที่สำคัญนี่คือโอกาสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศที่จะใช้เป็นต้นแบบในการจัดการบริการศึกษา สะท้อนให้เห็นว่าท้องถิ่นมีความสามารถสนองความต้องการของชุมชน ประชาชน
เพราะนครศรีธรรมราชมีประชาชนที่ใฝ่เรียนรู้ คนที่นี่เป็นคนเรียนหนังสือ วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคม นั้นไม่ได้เพียงพอสำหรับที่นี่ แต่ความต้องการจากนี้ไปคือการก้าวสู่เวทีสากลเวทีนานาชาติได้ และท้องถิ่นสามารถสนองความต้องการนี้ได้ จึงเป็นนวัตกรรมในการบริการสาธารณะที่สำคัญและเป็นตัวแบบที่ท้องถิ่นอื่นๆ สามารถเอาอย่างได้" ดร.ณรงค์ บุญสวยขวัญ นักวิชาการเชี่ยวชาญประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้ข้อคิดเห็น
นี่คือศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เข้ามามีบทบาทกับการจัดการศึกษา
"กฤษณะ ทิวัตถ์สิริกุล"