ข่าว

จาก2485ถึง2553ย้อนรอย.อุทกภัยใหญ่

จาก2485ถึง2553ย้อนรอย.อุทกภัยใหญ่

22 ต.ค. 2553

ตั้งแต่ปี 2485 ที่กรุงเทพมหานครเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ บริเวณถนนราชดำเนินปัจจุบันยาวไปถึงลานพระบรมรูปทรงม้า น้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ชาวพระนครต้องพายเรือออกจากบ้านเพื่อไปทำธุระและล่องชมสภาพน้ำตามถนนหนทางซึ่งไม่เคยปรากฏเช่นนี้มาก่อน

 จ.นครราชสีมาปัจจุบันก็ไม่ต่างกันในรอบ 50 ปี ไม่เคยมีน้ำท่วมครั้งใหญ่มาก่อนและปริมาณน้ำได้ล้นทะลักเข้าสู่บ้านเรือนประชาชนเกือบตลอดพื้นที่รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงที่รับผลกระทบไปไม่ต่างกัน

 ขณะที่ชาวกรุงเทพฯ หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็เกิดเหตุการณ์ฝน 100 ปี เมื่อพ.ศ. 2538 ก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกทม.อีกครั้ง

  ยุตที่พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีน้ำเหนือไหลหลากท่วม จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ก่อนทะลักเข้ากรุงเทพฯ ใต้สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ในวันที่ 27 ตุลาคม 2538 วัดได้สูงถึง 2.27 เมตร ว่ากันว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์เท่ากับน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2485 ถนนเกือบทุกสายในกทม.จมอยู่ใต้น้ำระดับ 50-100 ซม. เกิดความโกลาหลทั่วทุกชุมชน คราวนั้นหมู่บ้านจัดสรรหลายแห่งจมอยู่นานกว่า 2 เดือนกว่าเจ้าหน้าที่จะช่วยสูบน้ำออกได้หมด

 หากย้อนดูอุทกภัยใหญ่ทั่วประเทศในอดีตซึ่งเกิดความเสียหายชนิดที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ก็ต้องไล่เรียงตั้งแต่ปี 2533 เกิดพายุขนาดใหญ่นาม "อีรา" พัดถล่มภาคอีสานโดยเฉพาะในจ.อุบลราชธานี ครั้งนั้นถนนเสียหายถึง 4 พันสาย สะพานพังพินาศถึง 332 แห่ง พื้นที่การเกษตรจมหายกว่า 4 ล้านไร่ ประมาณค่าเสียหายกว่า 6 พันล้านบาท

 ถัดมาอีก 3 ปี 2536 พายุดีเปรสชันนำหายนะสู่ภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช ต้องอพยพประชาชนกว่า 2 หมื่นคน เสียหายไปกว่า 1.2 พันล้านบาท เช่นเดียวกับภาคเหนือในปี 2540 พายุ "ซีตา" ที่เคลื่อนผ่านเวียดนามเข้าสู่ประเทศไทยตอนบนในเดือนสิงหาคม ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่มีผู้ประสบภัยกว่า 8 แสนคน ผู้เสียชีวิตถึง 49 ราย สะพานถนนหนทางและสิ่งปลูกสร้างถูกน้ำพัดหายไปเกือบ 5 พันแห่ง มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท  

 ภาคเหนือก็ไม่แตกต่างกันดอยสูงใหญ่หรือแม้แต่ป่าทึบก็ไม่อาจหยุดยั้งทะเลโคลนที่ไหลถล่มลงมาเมื่อเช้ามืดวันที่ 23 พฤษภาคม 2549 กว่า 200 หมู่บ้านในจ.อุตรดิตถ์ ไล่ตั้งแต่อ.ลับแล อ.ท่าปลา และอ.เมืองอุตรดิตถ์ จมโคลนมีชาวบ้านเสียชีวิตถึง 75 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 2 พันล้านบาทเพียงชั่วข้ามคืน

 จนถึงวันนี้หลายหมู่บ้านยังไม่อาจลืมความน่าสะพรึงกลัวได้ ทว่าปีเดียวกันเกิดอุทกภัยขึ้นในอีก 47 จังหวัด เนื่องจากน้ำเหนือไหลหลากเข้า จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพฯ พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 1.38 ล้านไร่ ถนนในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะริมฝั่งเจ้าพระยาบางแห่งน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร  

 "ชาญชัย วิทูรปัญญากิจ" อดีตผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรมชลประทาน ผู้ผ่านประสบการณ์น้ำท่วมใหญ่มาหลายครั้ง เปรียบเทียบเหตุน้ำท่วมใหญ่ในอดีตกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า ไม่น่าเป็นห่วง เชื่อว่ากรุงเทพฯ จะไม่เจอน้ำท่วมหนักอย่างปี 2538 และ 2549 อย่างแน่นอน เนื่องจาก 2 ปัจจัยคือ 1.ปริมาณการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 2.ระบบการระบายน้ำของกรุงเทพฯ

 จากข้อมูลช่วงวันที่ 20-21 ตุลาคมนั้น เขื่อนเจ้าพระยาได้ระบายน้ำออกมาประมาณ 2,300-2,600 ลบ.ม./วินาที ต่างจากปี 2538 ที่เขื่อนเดียวกันเร่งระบายสูงถึง 5,900 ลบ.ม./วินาที ส่วนปี 2549 มีการปล่อยน้ำปริมาณมากกว่า 4,000 ลบ.ม./วินาที เปรียบเทียบแล้วการระบายน้ำยังไม่น่าเป็นห่วง

 "ดูจากปัจจัยที่สองเชื่อว่ากทม.จะไม่ซ้ำรอยน้ำท่วม 100 ปี แน่เพราะมีการสร้างเขื่อนเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากบางซื่อ-บางกอกน้อย ระยะทางยาว 77 กิโลเมตร สูง 2.5 เมตร ตอนนี้เจ้าหน้าที่เตรียมกระสอบทรายเสริมพื้นที่ซึ่งยังสร้างเขื่อนไม่เสร็จแล้ว แต่ปี 2538 กับ 2549 ยังไม่มีเขื่อนตัวนี้ช่วย ที่บางคนห่วงว่าน้ำทะเลจะหนุนสูงสุดในวันที่ 23-26 ตุลาคม ที่อาจทำน้ำท่วมนั้น ก็ไม่น่ากังวลเพราะน้ำทะเลจะหนุนสูงเพียงไม่กี่ชั่วโมง จากนั้นน้ำก็ขึ้นๆ ลงๆ ถ้าระบบระบายน้ำดีก็ไม่มีปัญหา" ผู้เชี่ยวชาญน้ำยืนยัน