ขยายความเรื่องประเทศเกษตรกรรมใหญ่
วันก่อนในคอลัมน์ วันเว้นวัน ผมได้เขียนถึง ประเทศเกษตรกรรมใหญ่ (Great Agricultural Country : GAC) ไป ก็มีผู้อ่านหลายท่านให้ความสนใจอีเมลแสดงความคิดเห็นเข้ามา และอยากให้ผมขยายความเรื่องนี้อีกสักหน่อย ดังนั้น ในวันนี้ผมจึงขอคุยเรื่อง ประเทศเกษตรกรรมใหญ
ก่อนอื่นต้องขอเรียนให้ทราบว่าคำว่า “ประเทศเกษตรกรรมใหญ่” นี้ เป็นคำที่ผมสร้างขึ้นเพื่อล้อคำว่า “ประเทศอุตสาหกรรมใหม่” ซึ่งเคยเป็นที่ใฝ่ฝันของบรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่พยายามจะเลียนแบบประเทศที่พัฒนาด้านอุตสาหกรรม โดยลืมนึกถึงสิ่งดีๆ ที่ตนมีอยู่ นั่นก็คือภาคเกษตรกรรม ซึ่งหากรัฐบาลไทยหันมาให้ความสนใจกับการบูรณาการเรื่องการเกษตรอย่างจริงจัง และทำให้ประเทศของตนเป็นประเทศเกษตรกรรมเต็มรูปแบบ โดยปรับปรุงระบบชลประทานและการขนส่ง การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งการตลาด และการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ผมก็เชื่อว่าเราสามารถทำแผ่นดินไทยให้กลายเป็นแผ่นดินทอง และอาชีพเกษตรกรก็สามารถเป็นอาชีพที่มั่นคงและมั่งคั่งได้โดยไม่ยาก
พืชผลทางการเกษตรนั้น ตามความเป็นจริงแล้วมีค่าและมีความสำคัญไม่น้อยกว่าน้ำมัน ดังนั้น ประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรกรรมก็น่าที่จะมีรายได้และอำนาจในการต่อรองไม่น้อยกว่าประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน ทั้งนี้ หากสามารถดูแลควบคุมการผลิตให้พอดีกับความต้องการของตลาด ไม่ปล่อยให้เกิดการแข่งขันด้วยการตัดราคากันเองหรือมีปริมาณมากเกินไป ทั้งยังก่อให้เกิดภาระด้านการเก็บรักษาจนต้องเร่งระบายออก ซึ่งปัญหาต่างๆ ดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ด้วยการสนับสนุนให้มีการซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรสำคัญๆ ให้มากขึ้น เพื่อประกันความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นแก่สินค้าเกษตรและตัวเกษตรกรเอง นอกจากนั้น เอกสารการซื้อขายล่วงหน้าก็อาจจะนำไปดำเนินธุรกรรมในภาคธุรกิจการเงินได้เช่นเดียวกับใบหุ้นหรือพันธบัตร
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งผมคิดว่าจะมีบทบาทในการส่งเสริมการเกษตรของไทยอย่างเป็นรูปธรรม ก็คือการจัดตั้ง “สภาเกษตรกรรมแห่งประเทศไทย” ขึ้นมาอีกสภาหนึ่ง แม้ว่าในเวลานี้จะมีการดำเนินการจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติอยู่แล้วก็ตาม แต่โครงสร้างของสภาทั้งสองนี้มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ตาม พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาชิกสภานี้มาจากการเสนอชื่อของสภาเกษตรจังหวัด และตัวแทนองค์การเกษตรกรด้านต่างๆ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีหน้าที่กำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งแก่เกษตรกร องค์กรเกษตร และพัฒนาการทำเกษตร เพื่อเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากการนำกรมวิชาการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาตั้งไว้นอกกระทรวง แต่สำหรับ “สภาเกษตรกรรมแห่งประเทศไทย” ที่ผมเสนอแนวคิดนี้ จะประกอบไปด้วย 4 ตัวแทนหลักจากภาคเกษตรกรรม ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคผู้ชำนาญการ
ในความหมายของผม ภาคเกษตรกรรมคือผู้ที่มีอาชีพทำการเกษตร ภาครัฐคือกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ภาคธุรกิจเอกชนคือผู้ประกอบธุรกิจด้านการเกษตร และภาคผู้ชำนาญการ คือผู้ชำนาญการด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีการเกษตร การตลาด การส่งเสริมการขาย และการเจรจาระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการสร้างประเทศไทยให้เป็น “ประเทศเกษตรกรรมใหญ่” อย่างทรงพลังและมีประสิทธิภาพสูง แต่พูดก็พูดเถอะครับ คนที่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานสภาเกษตรกรรมแห่งประเทศไทยที่ผมว่ามานี้ คงจะไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพีหรอกครับ
ครับ ผมได้ทำหน้าที่ในการเสนอความคิดแล้ว ส่วนใครจะนำความคิดเรื่อง “ประเทศเกษตรกรรมใหญ่”และ “สภาเกษตรกรรมแห่งประเทศไทย”ไปขยายต่อ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง ต่อพี่น้องเกษตรกร และต่อประชาชนคนไทยโดยรวม ผมก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ