
มูลนิธิผู้บริโภคแฉรถเมล์แชมป์อุบัติเหตุ
แฉสถิติในรอบ 1 ปี รถโดยสารประจำทาง - รถเมล์ครองแชมป์เกิดอุบัติเหตุบ่อย เจ็บตายร่วมพันขณะที่เอแบคโพลล์เผยผลสำรวจประชาชนบี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติบังคับใช้กฏหมาย ญาติเหยื่อประกาศสิทธิสิทธิผู้ใช้บริการ 10 ประการ จี้รัฐออกเป็นกฎหมายรองรับ
(13พ.ย.)ที่โรงแรมทีเคพาเลช มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.)เครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนศูนย์วิชาการเพื่อความปลอด ภัยทางถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ แถลงข่าว พิธีไว้อาลัยเหยื่อรถโดยสารสาธารณะเนื่องในวันรำลึกเหยื่อ 21 พ.ย.โดยตัวแทนเหยื่ออุบัติเหตุรถโดยสาสาธารณะ จัดขบวนแห่โลงศพพร้อมรูปภาพผู้ประสบเหตุจำลองภายในงาน และวางพวงหรีดหน้าโลงศพจำลองเพื่อไว้อาลัยให้แก่ผู้ประสบภัยรถโดยสารสาธารณะที่เสียชีวิต
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อผู้บริโภค เปิดเผยสถิติการเกิดอุบัติเหตุ จากการเรียบเรียงจากข่าวสสารในช่วงเดือน มี นาคม 2552 - กรฏาคม 2553 พบว่า อันดับหนึ่งเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ รถประจำทางปรับอากาศ เกิดจำนวน 97 ครั้ง เสียชีวิต 78 ราย บาดเจ็บ 938 ราย อันดับที่สอง รถเมล์เกิดอุบัติเหตุ 85 ครั้งเสียชีวิต 15 ราย บาดเจ็บ 55 ราย อันดับที่สาม คือ รถนำเที่ยว ซึ่งมักจะเอาเด็กรถมาเป็นคนขับรถ เกิดอุบัติเหตุ จำนวน 42 ครั้ง เสียชีวิต 38 ราย บาดเจ็บ 582 ราย อันดับที่สี่ คือ รถรับส่งพนักงานเกิดอุบัติเหตุ 14 ครั้ง เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 225 ราย
นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุพบเกิดจาก 1.ผู้ขับรถที่ไม่คุ้นเคย ชำนาญเส้นทาง 2.คุณภาพมาตรฐานของรถต่ำ สภาพรถไม่พร้อมใช้งาน ล้อยางไม่มีดอกยาง เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หลังคาเปิด เบาะเก้าอี้โดยสารหลุด ส่งผลให้เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก
“1 ปีที่ผ่านมามีคนเจ็บร่วมพัน คนตายร่วมร้อยจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เนื่องในวันเหยื่อโลก 21 พ.ย. นี้ เป็นโอกาสที่รัฐบาลควรดำเนินวิธีการลดอุบัติเหตุอย่างจริงจัง โดย 1.ทำให้ทุกฝ่ายรับรู้ถึงสิทธิและตื่นตัวที่จะปกป้องสิทธิของผู้ใช้บริการในทุกๆด้าน 2.เมื่อมีการละเมิดสิทธิ จะต้องมีการแก้ปัญหา การชดเชยเยียวยาที่รวดเร็ว เป็นธรรม ทั่วถึง 3.ให้ผู้ประกอบการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นเพื่อการเลือกใช้บริการที่ถูกต้องเหมาะสม 4.ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีการรวมกลุ่ม มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะให้ได้มาตรฐานมากขึ้น
นอกจากนี้จากการสำรวจ ของ เอแบคโพลล์ ได้สำรวจความคิดเห็นในโอกาสครบรอบ 1 ปีวาระแห่งชาติอุบัติเหตุบนถนนทางถนน กรณีศึกษาอายุ 18 -75 ปีเก็บข้อมูล 1,204 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 30 กันยายน ถึง 7 ตุลาคม โดย ถามว่า รับรู้การกำหนดให้การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งพบว่าร้อยละ 69.1 ไม่ทราบว่ามีวาระแห่งชาติเรื่องอุบัติเหตุ มีเพียง ร้อยละ 19 เท่านั้นที่ทราบ
และเมื่อถามว่าเห็นด้วยกับการประกาศวาระแห่งชาติหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 79 เห็นด้วย ส่วนในเรื่องความเชื่อเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นเรื่องโชคลางหรือโชคชะตา หรือไม่ นั้น พบว่า ร้อยละ 53.9 ไม่เชื่อ มีเพียง ร้อยละ 26.3 เชื่อว่า อุบัติเหตุเป็นเรื่องของเคราะห์กรรม ส่วนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุร้อยละ 93.8 บอกว่า ประมาท ขับรถเร็ว โดยเห็นว่ามาจากตัวเองและคู่กรณี รองลงมา คือ ตัวรถ อุปกรณ์สำหรับความปลอดภัยไม่ได้มาตรฐาน ในประเด็นในเรื่องความรู้ต่อการป้องกันแก้ไขอุบัติเหตุจราจรพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 63.7 มีความเห็นว่าส่วนใหญ่ในสังคมไทยไม่มีความรู้เรื่องการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนเพียงพอ
สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาลต้องการให้รีบดำเนินการเพื่อลดปัญหาการตายบนถนนลงมาให้เหลือกครึ่งหนึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ต้องการให้มีการป้องกันการเมาแล้วขับ การลดความเร็วบนถนน และต้องการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติบังคับใช้กฏหมาย มีการบังคับกฎหมายแบบไม่เลือกปฏิบัติ
จากนั้นตัวแทนเหยื่ออุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะพร้อมกับตัวแทนเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกันประกาศสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ 10 ประการ เพื่อให้รัฐบาลบัญญัติเป็นกฎหมายรองรับประกอบด้วย 1.สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถโดยสาร รวมทั้งความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ถูกต้อง เป็นจริง ครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจใช้บริการ 2.สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในด้านสัญญาและค่าบริการ 3.สิทธิในความมีอิสระในการเลือกใช้บริการด้วยความสมัครใจและปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม 4.สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในทุกด้านจากการใช้บริการ
5.สิทธิที่จะได้รับการบริการจากรถโดยสารและผู้ให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน 6.สิทธิในการร้องเรียนหรือฟ้องร้องเพื่อให้ผู้ให้บริการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา เยียวยาหรือชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น 7.สิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายจากการประกันภัยโดยไม่มีการประวิงเวลาหรือบังคับให้ประนีประนอมยอมความ 8.สิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายทั้งทางร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินและสิทธิอื่นๆที่ถูกละเมิด 9.สิทธิที่จะได้รับการชดเชยความเสียหาย และ 10.สิทธิที่จะรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนและผู้อื่น