ชมรมนากุ้งสงขลาอ้อนรัฐเพิ่มเงินชดเชย
กลุ่มนากุ้งสงขลาโอดน้ำท่วมหมดตัว ยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ ถึงภาครัฐ ของบเยียวยาฟื้นฟูอาชีพด่วน อ้อนเพิ่มเงินชดเชยจากไร่ละ 9 พันบาทเป็น 1.5 หมื่นบาท ชี้ความเสียหายจริงอาจสูงถึง 5-6 พันล้าน
นายครรชิต เหมะรักษ์ ประธานเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้ เปิดเผยว่า ชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลาที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและวาตภัย ได้ยื่นขอเสนอผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดไปยังรัฐบาล เพื่อขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูอาชีพ เนื่องจากหลังประสบภัยจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการในเรื่องนากุ้ง และมองว่าการจ่ายชดเชยในส่วนที่กรมประมงดำเนินการนั้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้รับความเสียหาย
สำหรับข้อเสนอของชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ได้แก่ 1.ขยายวงเงินการช่วยเหลือจากเดิมอัตราไร่ละ 9,098 บาท เพิ่มเป็น 15,000 บาท 2.ให้เงินกู้ไม่คิดดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ปีเพื่อฟื้นฟูอาชีพ 3. พักชำระหนี้เกษตรกรอย่างน้อย 3 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย และ 4.ให้กรมประมงจัดหาลูกพันธ์กุ้งคุณภาพดีให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง
ด้านนายสหัส ปาณะศรี หัวหน้าฝ่ายพัฒนาส่งเสริมอาชีพประมงจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ขณะนี้ความเสียหายของนากุ้งในพื้นที่มีเพียงข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งหากชัดเจนต้องรอแบบคำร้อง 01 ซึ่งเกษตรกรจะให้รายละเอียดถึงความเสียหายทั้งหมด โดยปัจจุบันแจ้งเข้ามาแล้ว 236 ราย เนื้อที่ 2,308 ไร่ ซึ่งหากคิดค่าเสียหายตามที่รัฐบาลชดเชยไร่ละ 9,098 บาท ตัวเลขน่าจะอยู่ที่ 40 กว่าล้านบาท แต่ในความเป็นจริงเกษตรกรอาจจะเสียหายมากกว่านี้ อาจจะอยู่ที่ 5,000-6,000 ล้านบาท เพราะกุ้งแต่ละบ่ออาจจะจับขายได้มูลค่า 3-5 แสนบาท
ขณะที่นายพีระศักดิ์ สุขประดิษฐ์ ผู้จัดการฝ่ายอาหารกุ้งภาคใต้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ ซีพี กล่าวว่า ในแต่ละปีจังหวัดสงขลามีปริมาณกุ้งประมาณ 5 หมื่นตัน ซึ่งในส่วนของซีพีไม่ได้ทิ้งลูกค้า ผู้บริหารกำลังประชุมเพื่อหามาตรการออกมาช่วยเหลือลูกค้า แต่ต้องสรุปความเสียหายให้ถูกต้องครบถ้วย อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งหวังว่ารัฐบาลจะเห็นถึงความเดือดร้อน เพราะบางคนสายป่านไม่ยาว ไม่มีเงินเริ่มต้นใหม่ หมดตัวจริงๆ ซึ่งสิ่งที่ต้องมองระยะยาวหลังจากนี้คือ กุ้งในท้องตลาดจะออกมาน้อยและส่งผลให้ราคาขยับตัวขึ้น