อภิสิทธิ์ยันเเก้รธน.ทำเพื่อทุกรัฐบาล
งงเหตุผล"สนธิ"ยุให้ยุบสภาหากแก้รธน.ไม่ผ่าน หลังสภาโหวตร่างแก้ รธน.แล้วถือว่าหมดหน้าที่ของรัฐสภาชุดนี้ ระบุไม่สามารถคุมเสียงข้างมากของรัฐสภาได้ ยันเปล่าล็อบบี้ ส.ว.บอกแค่แลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกัน
(24พ.ค.) เมื่อเวลา 21.45 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นชี้แจงเหตุผลการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจากที่นั่งส.ส. ว่า จุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ขอย้อนไปตั้งแต่สมัยรับรัฐธรรมนูญ 2540 พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนให้รับ และโดนต่อว่าเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนั้นให้อำนาจองค์กรอิสระและส.ว.มากไปและพรรคเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นจะนำพาการเมืองไทยเดินหน้าได้ แต่ก็ไม่เป็นดั่งที่หวังเพราะมีช่องว่างโดนอำนาจบางอย่างเข้าครอบงำ ใครที่บอกว่ารัฐธรรมนูญ2 540 ไม่ทำให้บ้านเมืองแตกแยก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2548 - 49 คืออะไร และฝ่ายค้านในตอนนั้นเสนอรื้อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งฉบับ และประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกว่าต้องเดินหน้า ไม่ต้องย้อนหลัง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนั้นมีจุดด้อยบางอย่าง เหตุผลที่ตนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับคปพร. และมีการเขียนบางอย่างเพื่อนิรโทษกรรมบางคนหรือไม่ เพราะเหตุนี้ตนมองว่าหากรับจะทำให้เกิดความขัดแย้งและทำให้พันธมิตรฯออกมาชุมนุม ตรงนี้จึงทำให้ตนไม่รับ แต่ควรปลดความขัดแย้งนี้ไปก่อน และตนไม่ขัดข้องหากจะตั้งสสร.3 ขึ้นมา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า บางคนไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ไม่ชอบใจในที่มา การต่อสู้ที่ผ่านมานั้นมันเป็นการสู้ทางสัญลักษณ์และข้อหาแก้ไขเพื่อพวกพ้อง รัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามไปอุดรอยรั่วในฉบับปี 2540 ส.ส.บางคนอาจเกลียดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตนเชิญทุกฝ่ายมาศึกษาหารือในเรื่องนี้ และหากมองผิวเผินนั้นบางเรื่องในรัฐธรรมนูญฉบับนี้รับไม่ได้ แต่เมื่อให้เสนอแก้ไขมาแล้ว มีการเสนอแก้ไขมากที่ 6 ประเด็น แต่สังคมบางส่วนยังต่อต้าน และเรื่องนี้เดินหน้ายากจนเกิดความขัดแย้งในช่วงสองปีที่ผ่านมา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นายสมบัติมีการเสนอให้แก้ไขมาตรา 237 ด้วย จุดยืนของพรรคนั้นไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค หากเป็นเรื่องร้ายแรงจริงๆก็ควรตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด และไม่ต้องยุบพรรค เพราะเป็นของสมาชิกพรรค หากพรรคเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาในช่วงนี้ก็จะโดนด่าว่าทำเพื่อตัวเองหรือนิรโทษกรรมกันตอนหลัง เพราะคดียุบพรรคอยู่ระหว่างการพิจารณาในวันที่ 29 พ.ย.นี้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขอชี้แจงว่า 1.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ครม.เสนอแก้ไขมาตรา 190 ตนรับฟังการอภิปรายในช่วงสองวันนี้ บางคนอภิปรายในเนื้อหารัฐธรรมนูญบางคนอภิปรายโจมตีรัฐบาลหรือฝ่ายตรงข้าม เรื่องนี้ไม่ควรขัดแย้งเพราะเวลาประชุมร่วมรัฐสภานั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่าหนังสือที่เสนอสภามีมากมาย บางเรื่องไม่น่ากระทบตามเจตนารมย์รัฐธรรมนูญแต่ก็เสนอมา เรื่องนี้เป็นปัญหาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว ตั้งแต่ไปลงนามร่วมไทย-กัมพูชาจนโดนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 จนกลัวกันว่าหากไม่นำเสนอสัญญาต่างๆต่อสภาจะซ้ำรอยรัฐบาลชุดที่แล้วและข้าราชการโดนดำเนินคดี ตอนที่ตนเข้ามาบริหารราชการพบว่าหนังสือสัญญาของกระทรวงต่างๆกับต่างประเทศเยอะมาก จนมีการเสนอว่าไม่แน่ใจว่าจะเข้าข่ายมาตรา190หรือไม่และขอเสนอให้รัฐสภาวินิจฉัย หากจะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะติดปัญหาเรื่องเวลา ความจริงผู้ที่ควรวินิจฉัยว่าเข้าเงื่อนไขนี้หรือไม่น่าจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารมากกว่าฝ่ายตุลาการ ทางออกดีที่สุดคือควรให้สภาตรากฎหมายและกำหนดหลักเกณฑ์ รัฐบาลก็จะมีความชัดเจนว่ากรณีใดควรเสนอต่อรัฐสภา กรณีใดไม่เข้าข่ายมาตรา190
นายอภิสิทธิ์ ยังได้อภิปรายว่า 2. ตนประหลาดใจว่าเวลาลงไปในเนื้อหาที่ครม.เสนอว่า บางคนเสนอว่าสาระของ 2 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของครม.ที่เสนอนั้นมีความชั่วร้าย และเลวมหาศาล บางคนพูดว่ามีการซื้อเสียงและซื้อส.ส. ขอถามว่าก่อนหน้านี้จุดยืนของฝ่ายค้านในเรื่องเขตเลือกตั้งคืออะไร ตอนนั้นฝ่ายค้านยืนยันว่าเขตเดียวเบอร์เดียวดีกว่า ที่ยืนยันว่าอย่างนั้นเพราะซื้อเสียงและส.ส.ง่ายหรือ ตนเคยเสนอในช่วงยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าอยากให้เลือกตั้งแบบเขตใหญ่เพราะการตัดสินใจจะอิงนโยบายมากกว่าเลือกเล็ก และการแข่งขันแบบเขตเดียวเบอร์เดียวนั้นรุนแรง ตนโดนต่อว่าเพราะสิ่งที่เสนอไปนั้นไม่เป็นธรรม ไม่สากลและพรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนมีเหตุผลที่เสนอแก้เป็นเขตเดียวเบอร์เดียวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพรรคร่วมรัฐบาล ช่วงที่ตนไปคุยกับพรรคร่วมตอนตั้งรัฐบาลนั้นยอมรับว่าคุยเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ คือ เรื่องเทคนิค ไม่ทำเรื่องนิรโทษกรรม และเรื่องเขตเลือกตั้งที่มีความเห็นไม่ตรงกันนั้น ตนยังบอกว่าเรื่องนี้ค่อยคุยกันใหม่ ยืนยันพรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมรับร่างฉบับ 102 ส.ส. แต่สิ่งที่นายสมบัติไปปรับแต่ง และฟังในสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ท้วงติงนั้นในที่สุดไปลดจำนวนส.ส.เขต และเพิ่มจำนวนส.ส.สัดส่วน พรรคจึงยอมรับเพราะเรื่องนี้ได้สังเคราะห์จากทุกฝ่ายแล้ว และเพื่อความสมานฉันท์แล้วส่งให้รัฐสภาตัดสิน วันที่ 25 พ.ย.จะได้เลิกอึมครึมเรื่องนี้เสียที เพราะจะมีการโหวตแล้ว รวมทั้งลดเงื่อนไขลง1ข้อที่จะนำไปสู่การยุบสภาที่ตนเคยพูดไว้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แม้จะไม่มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ขึ้นมานั้น รัฐบาลนี้ก็อยู่ต่อได้ หากอยู่ไม่ได้ก็ไปเลือกตั้งไม่มีปัญหาเลย ความสมานฉันท์ปรองดองจะเกิดไม่ได้ หากไม่มีการยอมกัน พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง หรือเพื่อรัฐบาลชุดนี้ แต่ทำเรื่องนี้เพื่อรัฐบาลทุกชุด และเพื่อให้ประเทศชาติให้เดินหน้าได้ และขอให้รัฐสภาตัดสิน
งง"สนธิ"ยุแก้รธน.ไม่ผ่านยุบสภา
ก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ออกมาเรียกร้องว่าถ้าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ครม.ไม่ผ่านสภาให้ยุบสภาทันที ว่า ตนไม่ทราบเหตุผล แต่อย่างที่ได้เคยเรียนไว้ว่าตามหลักแล้วรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภา ไม่ได้มีเสียงข้างมากในรัฐสภา ในอดีตที่ปฏิบัติมาก็ทราบดีว่าเวลาเป็นเรื่องของรัฐสภา รัฐบาลไม่สามารถคุมเสียงข้างมากได้
เมื่อถามว่าหมายความกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถ้าไม่ผ่านก็เป็นเรื่องของรัฐสภาไม่ใช่ควา มรับผิดชอบของ ครม.หรือนายกรัฐมนตรีต้องยุบสภาใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “ ผมเคยพูดไว้แล้วว่าจะดูผลการลงคะแนนก่อน ซึ่งตัวคะแนนจะเป็นเกณ์และปัจจัยชี้วัด” เมื่อถามว่าถ้าเป็นปัจจัยที่คะแนนเสียงที่ได้น้อยกว่าเสียงของพรรคร่วมที่มีอยู่ต้องยุบสภาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องดูในภาพรวมว่ารัฐบาลควบคุมเสียงข้างมากที่มีอยู่ในสภาได้หรือไม่ และครั้งนี้ก็เป้นการลงคะแนนแบบเปิดเผย สามารถแยกแยะได้อยู่แล้ว เหมือนกับมีการลงมติครั้งสำคัญๆ เช่นการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะเห็นชดเจนว่าคะแนนจะไม่เท่ากันเสมอไป “ เรื่องแบบนี้จะให้ผมมาตอบว่าหายไปกี่เสียงกี่คน มันตอบไม่ได้ เราดูแล้วจะทราบถึงภาพรวมทั้งหมด ”
ผู้สื่อข่าวถามถึงข่าวที่นายกรัฐมนตรีเดินสายพบกับบรรดา ส.ว.กลุ่มต่างๆ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “ ผมก็ไปนั่งทานข้าวในห้องอาหาร (ในสภา) ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการไปล็อบบี้ เพราะบางคนก็รู้อยู่แล้วว่าลงคะแนนอย่างไรก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า ที่เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยนั้นเป็นเพราะอะไรก็เป็นเรื่องธรรมดา ส่วนทิศทางการลงคะแนนหวตนั้นยังคงตอบยากเพราะ ส.ว.ก็มีความเห็นค่อนข้างหลากหลาย และคิดว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ครม.ทั้ง 2 ร่างคือที่เกี่ยวมาตรา 190 และร่างที่เกี่ยวกับเขตเลือกตั้งเชื่อว่าคะแนนจะไม่เท่ากัน ”
เมื่อถามว่าคิดหรือไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ของนายกฯ ทำให้สูญเสียศรัทธาไปส่วนหนึ่งจากประชาชน นายอภิสิทิ์ กล่าวว่า คิดว่ามีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยซึ่งอาจสนับสนุนและเห็นด้วยกับตน เรื่องนี้เข้าใจเหตุผล แต่ขณะเดียวกันตนก็มีความรับผิดชอบต่อการทำงานในภาพรวมของรัฐบาล โดยเฉพาะการที่ได้ตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆตามกระบวนการความสมานฉันท์และความปรองดอง คิดว่าความรับผิดชอบตรงนี้มาก่อนที่จะบอกว่าตนสูญเสียความนิยมหรือมีบางคนไม่เห็นด้วย ยืนยันว่าสิ่งที่ตนเองทำและรัฐบาลตัดสินใจไม่มีอะไรที่เป็นผลเสียกับประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ยอมรับว่าส่วนหนึ่งที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเพราะนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เลขาธิการพรรค ไปรับปากพรรคร่วมรัฐบาลตั้งแต่ช่วงการจัดตั้งรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ กล่าวปฏิเสธว่า ” ไม่ใช่ ท่าน (นายชวน)บอกว่าความเข้าใจของตัวท่านเป็นเช่นนั้น ในที่ประชุมพรรคผมก็เคยชี้แจงบไปแล้วว่าไม่ใช่ ”
เมื่อถามว่าหมายความว่าวันนี้นายชวนเข้าใจแล้วใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นายชวนบอกว่ามีการพูดคุยกันจริงในเรื่องนี้ และตนก็บอกไปแล้วว่า 1. ไม่มีการแก้เรื่องนิรโทษกรรม 2. บางประเด็นสมควรแก้ไข เช่น มาตรา 190 3. บางประเด็นเช่นการเลือกตั้งเราเห็นไม่ตรงกัน แล้วต้องใช้เวลาว่าในการที่จะดูว่าจะมีข้อยุติอย่างไร
เมื่อถามว่าเท่ากับนายกฯ ทิ้งหลักการของตัวเองเพื่อให้เป็นไปตามสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องกร นายอภิสิทธิ์ กล่าวปฏิเสธว่า “ ไม่ใช่ เพราะร่างที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอมาพรรคก็มีมติไม่สนับสนุน แต่ร่างที่นายสมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการศึกษาและปฏิรูปทางการเมือง เสนอมานั้นมันมีความพยายามในการรับฟังข้อท้วงติงของเรา และปรับ ถามว่าถูกใจมั๊ยก็ต้องบอกว่าไม่ถูกใจ คำถามมีอยู่ว่าในสถานการณ์ในประเด็นที่บอกว่าจะมีความพยายามในการหาความปรองดอง สมานฉันท์จำเป็นต้องประนีประนอมกัน จะมายึดเอาตามคิดของตัวเองก็จะไม่มีทางคืบหน้า เราต้องแยกแยะว่าประเด็นใดที่พอจะประนีประนอมกันได้ ประเด็นใดทำไม่ได้ จะเห็นว่าใน 5 ประเด็นที่เสนอมานั้นผมเลือกแค่ 2 เพราะอีก 3 ประเด็นเห็นว่าไม่สามารถเสนอได้ เช่น เสนอเรื่องปัญหาเรื่องการยุบพรรคในภาวะที่พรรคประชาธิปัตย์เองยังมีคดีอยู่ตนไม่ทำ เพราะเลือกแล้วเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องมาเป็นปัญหาถกเถียงขัดแย้งรุนแรง แต่จะผ่านหรือไม่ผ่านก็เป็นเรื่องของรัฐสภา
เมื่อถามว่าแต่การประนีประนอมครั้งนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นเพียงเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองไว้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน ตนอยู่เฉยๆก็สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัญหาคือตนจะทำงานยากขึ้นในแง่ของการทำงานกับคณะกรรมการฯชุดต่างๆที่มีการเชิญมาช่วยคิดและทำในเรื่องปัญหาความขัดแย้ง ตนก็ตอบสังคมยากในระดับหนึ่งเหมือนกัน ตนก็แปลกใจพรรคการเมืองที่ออกมากล่าวหาเรื่องระบบเลือกตั้งในวันนี้ ก็เป็นพรรคการเมืองที่เสนอเข้ามาเองและอยู่ในคณะกรรมการฯที่สรุปออกมาเองว่าควรจะเป็นอย่างนี้ คำถามว่าตกลงจะให้อยู่นิ่งกับที่หรือจะพยายามหาข้อยุติในบางเรื่อง ซึ่งคิดว่าหลังจากวันที่ 25 พ.ย.เป็นต้นไปสังคมจะมีความชัดเจนมากขึ้น และปมเรื่องรัฐธรรมนูญจะเป็นเรื่องของการเลือกตั้งหรือหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องหยิบยกมาอีกต่อไป เพราะรัฐสภามีโอกาสพิจารณาและตัดสินแล้ว
“ หลังจากวันที่ 25 พ.ย.รัฐธรรมนูญจะต้องไม่เป็นปมปัญหาในช่วงรัฐสภาชุดนี้ ซึ่งเดิมมีควมอึมครึมมาตลอดรวมทั้งร่างของ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.) ก็จะจบลง และผมเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการแก้ปัญหาระดับหนึ่งของทั้งพรรคการเมือง การแก้ปัญหาของฝ่ายบริหารและการเคลื่อนไหวนอกสภา ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่าคิดว่ากลุ่ม พธม.จะยอมหรือไม่หากรัฐสภาผ่านความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายอภิสิทิ์ กล่าวว่า ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจ เห็นว่า พธม.ก็ไม่เห็นด้วยที่ร่างของ คปพร.ค้างอยู่ ถ้ารัฐสภาลงมติไม่เห็นชอบก็น่าจะพอใจว่าเรื่องนี้จบไปเสียที ไม่เช่นนั้นก็ยังคงค้างอยู่เช่นนี้
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการปาฐกถาในเช้าวันเดียวกันที่ระบุชัดเจนว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือว่าจะได้ข้อยุติในสภาชุดนี้และไม่จำเป็นต้องพูดถึงอีก ว่า ถ้าสภามีมติออกมา หากพรรคการเมืองยังติดใจก็ต้องไปว่ากันในการเลือกตั้งและในสภาชุดหน้า เพราะรัฐสภามีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้เมื่อวันนี้มี 4 ร่างเข้าสู่การพิจาณาของสภาและมีข้อยุติในทางใดทางหนึ่งตนก็เห็นว่าประเด็นดังกล่าวก็เดินไปตามกระบวนการและถือว่าไม่น่าจะเป็นปมที่ต้องนำมาถกเถียงอะไรกันอีก
เมื่อถามว่ามีการประเมินว่าอาจมีการตัดสินใจยุบสภาในช่วงต้นปี ( ม.ค.-มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “ ก็มีความเป็นไปได้ครับ ผมบอกแล้วว่าของอย่างนี้มันจะบอกกันขณะนี้ว่าจะเป็นเดือนไหนอย่างไรก็ยังตอบไม่ได้ แต่ถ้าถามว่าต้นปีหน้ามีความเป็นไปได้ในการที่จะยุบสภาหรือไม่ ผมก็พูดหลายครั้งแล้วว่าเป้นไปได้ ”
เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีจะดูสถานการณ์จากการเลือกตั้งซ่อมด้วยถ้าไม่เกิดความรถนแรงก็จะยุบสภา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย เพราะอยากเห็นความเรียบร้อย ตนไม่ต้องการเห็นความวุ่นวายและไม่สบายใจเนื่องจากวันสมัครก็ยังมีเหตุการณ์นิดหน่อย หรืออย่างการเลือกตั้ง สก.ในการนับคะแนนก็ยังมีอยู่บ้าง แต่ถ้าของพวกนี้หมดไปได้เราก็จะมีความมั่นใจมากขึ้นมาก ”
เมื่อถามว่าสถานการณ์คลี่คลายไประดับไหนถึงจะตัดสินใจยุบสภาเลือกตั้งใหม่ได้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มันไม่ควรจะมีเหตุการณ์ในลักษณะที่เป็นการขัดขวาง การแข่งขันหรือการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละฝ่าย
"พธม."ยันไม่พักค้างแรม
เมื่อเวลา 16.30 น. บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)เป็นวันที่ 2 เพื่อคัดค้านการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 4 ร่าง ที่บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวว่า ในการชุมนุมของพันธมิตรจะยุติลงชั่วคราวในเวลา 22.00 น. เช่นวานนี้ โดยจะไม่มีการพักค้างแต่อย่างใด ทั้งนี้พันธมิตรฯจะกลับมาชุมนุมในช่วงเช้าอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ ซึ่งทางแกนนำพันธมิตรฯจะประชุมหารือเพื่อกำหนดการเคลื่อนไหวต่อไป ภายหลังการประชุมพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นในวันพรุ่งนี้ โดยจะประกาศบนเวทีปราศรัย เพื่อแจ้งให้กับผู้ชุมนุมทราบอีกครั้งหนึ่ง
“40ส.ว."เสียงแตกแก้รธน.ไม่รับ-รับแก้รธน.
เมื่อเวลา 17.00 น. กลุ่ม 40 ส.ว. นัดพบปะสังสรรค์ประจำเดือน ที่สโมสรรัฐสภา โดยมีสมาชิกเข้าร่วม 32 คน อาทิ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี นายตวง อันทะไชย นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา โดยนายตวง กล่าวว่าการนัดกินข้าวกันครั้งนี้ไม่ได้มีวาระการลงมติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงการพบปะกันเป็นประจำทุกเดือนเท่านั้น
ด้านนางสุมล กล่าวว่า กลุ่ม 40 ส.ว.ไม่มีมติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบเอกฉันท์ เนื่องจากว่าทุกคนมีความเห็นเป็นตัวของตัวเอง
ภายหลังการรับประทาอาหาร ส.ว. ได้ให้สัมภาษณ์โดยมีความเห็นแตกต่างกัน โดยจำแนกได้เป็น 2 ทาง คือ ไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับ และสนับสนุนเฉพาะมาตรา 190 โดยก่อนหน้านั้นน.ส.รสนา ให้สัมภาษณ์ว่า กลุ่ม 40 ส.ว.ไม่ใช่พรรคการเมืองดังนั้นการลงคะแนนต้องเป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัว สำหรับตนจะออกเสียงไม่รับร่างแก้ไขทั้ง 4 ฉบับ ส่วนกรณีที่ทางส.ว.ต้องตั้งกมธ.วิสามัญนั้น ขณะนี้มีการจับฉลากรายชื่อเสร็จแล้ว แต่ตนยังไม่เห็นว่าสมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว.ได้ร่วมเป็นกมธ.หรือไม่
"ส.ส.สุรินทร์พผ.”โหวตสวนมติพรรคขอหนุนร่างคปพร.
นายธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า ส.ส.กลุ่มสุรินทร์ทั้ง 3 คนยืนยันจะให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับคปพร.เพียงฉบับเดียว เพราะเป็นร่างที่ประชาชนร่วมลงชื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณา ซึ่งยอมรับว่าความเห็นครั้งนี้เป็นการให้ความเห็นที่ชัดเจน ไม่ได้ขัดกับมติพรรคเพื่อแผ่นดิน เพราะขณะนี้ทางพรรคก็ยังไม่มีมติชัดเจนที่จะให้รับหรือไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใด ส่วนกรณีนี้ตนยอมรับว่ามีหลายฝ่ายมองว่าเป็นการปูทางเพื่อเตรียมทำงานกับพรรคเพื่อไทย แต่กลุ่มตนจะตัดสินใจอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชน
ด้านนายนรพล ตันติมนตรี ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อแผ่นดิน ฐานะวิปรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคเพื่อแผ่นดินเมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ไม่ได้มีมติชัดเจนออกมา เพียงแต่ทุกคนรับทราบตรงกันว่าจะโหวตให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่าง ยกเว้นร่างของคปพร. ส่วนส.ส.บางคนจะไม่โหวตให้ร่างของครม.นั้นก็คงไม่สามารถจำกัดสิทธิส่วนบุคคลได้ และพรรคก็คงไม่มีการประชุมส.ส.เพื่อหารือในเรื่องนี้อีกแล้ว