ข่าว

ว่าด้วยนักโทษการเมือง ...

ว่าด้วยนักโทษการเมือง ...

14 ธ.ค. 2553

สองสามวันก่อน มีเพื่อนถามมาว่านักโทษการเมือง (political prisoner) คืออะไร?

คำถามดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางรอยต่อของการออกข่าวว่าจะมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กลับไปสู่การใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน และท่ามกลางการปล่อยตัวนักโทษบางคนจากการจับกุมด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยังมีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองอีกมากมาย

 ก็เลยไปค้นคว้ามาพิจารณากันครับ

 คำจำกัดความโดยกว้างนั้น เรารับรู้กันโดยทั่วไปว่า นักโทษการเมืองนั้นคือ ผู้ที่ถูกคุมขังในคุก หรืออาจจะถูกกักขังในพื้นที่อื่น (รวมทั้งในบ้านของตัวเอง) เนื่องมาจากการที่เขาไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองในบางเรื่องบางราว

 แต่ถ้าพิจารณาเรื่องของคำจำกัดความเฉพาะ จะมีคำว่า นักโทษทางมโนสำนึก หรือ prisoner of conscience ซึ่งเป็นคำจำกัดความที่ใช้โดยองค์กรนิรโทษกรรมสากล ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 ในความหมายหมายถึงผู้ที่ถูกคุมขังเนื่องมาจากเรื่องของสีผิว ศาสนา เชื้อชาติ ภาษา การระบุเพศ ความเชื่อ และการใช้ชีวิต โดยที่คนเหล่านี้ไม่ได้ใช้หรือสนับสนุนการใช้ความรุนแรง กล่าวโดยสรุปก็คือ มิติเรื่องความรุนแรงเป็นตัวแบ่งความเป็นนักโทษทางการเมือง (ที่ต้องมีการรณรงค์ช่วยเหลือ) กับนักโทษอื่นๆ

 ทีนี้เรื่องไม่จบง่ายๆ เพราะนักโทษที่เป็นนักโทษทางการเมืองอาจจะชี้แจงและปกป้องตัวเองได้ว่า เขามีความชอบธรรมทางจริยธรรมที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อตอบโต้กับกระบวนการที่ผิดจริยธรรม ตัวอย่างเหล่านี้อาจจะเป็นได้ว่า ถ้าการกระทำบางอย่างทางการเมืองนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยขั้นรุนแรง การตอบโต้ด้วยการกระทำดังกล่าวอาจจะจำต้องใช้กำลัง (หรือแม้กระทั่งป้องกันตัวเอง)

 ดังนั้นการใช้หลักการเรื่องความรุนแรงมาแบ่งความเป็นนักโทษทางการเมือง และการพยายามช่วยเหลือ-รณรงค์ให้ปล่อยนั้นก็เป็นทั้งเรื่องง่ายและเรื่องยาก

 แต่ทั้งนี้เรื่องราวไม่ได้จบแค่นี้ เพราะว่าในบางกรณีนักโทษการเมืองอาจจะถูกคุมขังโดยปราศจากข้อหาทางกฎหมายและด้วยกระบวนการที่อยู่นอกกระบวนการตุลาการ

 ยิ่งไปกว่านั้น นักโทษการเมืองก็อาจจะถูกคุมขังหรือดำเนินคดีด้วยวิถีทางกฎหมาย แต่ก็ด้วยการใช้ข้อหาที่ผิด การสร้างหลักฐานเท็จ หรือการดำเนินคดีแบบที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นการกลบเกลื่อนข้อเท็จจริงที่ว่าคนเหล่านี้ถูกจับกุมคุมขังด้วยเรื่องทางการเมือง ทั้งที่ทั้งหมดนั้นคือเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการกดบังคับความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางการเมือง

 นอกจากนั้นแล้วนักโทษทางการเมืองอาจจะหมายถึงผู้ที่ถูกปฏิเสธการประกันตัวอย่างไม่เป็นธรรม หรือปฏิเสธไม่ให้มีการปล่อยตัวหรือทำทัณฑ์บนอีกด้วย ...

 ประเด็นจึงไม่ง่ายแค่การบอกว่า สังคมประชาธิปไตยต้องไม่มีนักโทษทางการเมือง เพราะบางสังคมประชาธิปไตยอาจจะอ้างว่าไม่มีนักโทษทางการเมืองเลย แต่มีนักโทษที่ถูกคุมขังด้วยข้อหาอื่นๆ

 หรือตัวนักโทษเองก็พยายามอยากจะเป็นนักโทษทางการเมือง ในทางหนึ่งเพื่อให้ประเด็นทางการเมืองนั้นถูกขับเน้นขึ้นมา และในอีกด้านหนึ่งก็คือเพื่อให้การดูแลนักโทษทางการเมืองมีสถานะพิเศษเช่นกัน

 ถกเถียงเรื่องนี้กันสักหน่อยในช่วงที่เราจะก้าวเข้าสู่การปกครองภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะยังมีนักโทษการเมืองอยู่หรือไม่-หรือไม่ก็ไม่เลวครับ