ย่ำราตรีค้นเรื่องเร้นลับในป่าหิมพานต์
ชิมลางอย่างมีรสชาติไปแล้ว สำหรับเทศกาลประจำปีของ "มิวเซียมสยาม" ที่ปีนี้ปั้นไอเดียบรรเจิดด้วยการจัด "ไนท์ แอด เดอะ มิวเซียมสยาม" หรือพิพิธภัณฑ์กลางคืนครั้งแรกของวงการพิพิธภัณฑ์เมืองไทย ในชื่อตอน "หิมพานต์" ระหว่างวันที่ 17-19 ธันวาคม ที่ผ่านมา เวลา 16.00-
ในส่วนของการจัดแสดงแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนการแสดงและส่วนเนื้อหา ภายใต้แนวคิดวรรณคดีไทย "หิมพานต์" มาเป็นตัวหลักของงาน ซึ่งทุกส่วนของการแสดงและนิทรรศการจะถูกออกแบบให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกันคือ หิมพานต์ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ในวรรณคดี อาทิ ต้นมักกะลีผล ต้นปาริชาต หรือสัตว์ในป่าหิมพานต์อย่าง ครุฑ คชปักษา สิงหพานร กินรี คนธรรพ์ เป็นต้น
ในส่วนของการแสดงนั้น ได้สร้างความหลากหลายเพื่อความสนุกและแปลกใหม่ เช่น การแสดงการต่อสู้ของสองชนเผ่าเพื่อแย่งมักกะลีผล โดยนำการแสดงบี-บอย(B-BOY), ฟรีรันนิ่ง (Free Running), และแมด ฮอพ (Mad Hop) มาใช้ประกอบการแสดง และการแสดงชุดพิเศษ "ครุฑยุดนาค"
ในฐานะนักจัดการความรู้ของมิวเซียมสยาม ทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร อธิบายที่มาที่ไปว่า จริงๆ แล้ว มิวเซียมสยามพูดถึงความเป็นไทยอยู่แล้ว มีนิทรรศการถาวรเล่าเรื่องราว ครั้งนี้เป็นวาระพิเศษ โดยเพิ่มเรื่องเกี่ยวกับหิมพานต์เข้าไป เนื่องจากเป็นเรื่องที่น่าสนใจ นำเสนอสิ่งที่หลายคนเคยเห็นเคยผ่านตาด้วยการแทรกในนิทรรศการถาวร
"อย่างห้องพุทธิปัญญา ที่สื่อให้เห็นว่าป่าหิมพานต์ได้เชื่อมโยงกับสังคมไทยที่มีความหลากหลายอยู่แล้ว เป็นความเชื่อผี พราหมณ์ และพุทธที่กลมกลืนกัน ห้องอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองน้ำ เล่าเรื่องสัตว์หิมพานต์ที่เป็นสัตว์น้ำ หรือห้องแผนที่ นำเสนอเรื่องราวของแผนที่หิมพานต์ เป็นต้น เราคงเห็นตัวสัตว์ป่าหิมพานต์อยู่ในชีวิตประจำวันอย่างตราประจำกระทรวงต่างๆ เช่น ปักษาวายุภักษ์ หรือนกวายุภักษ์ ตราของกระทรวงการคลัง หรือสัตว์อื่นๆ ที่แสดงถึงพระบรมราชานุภาพของกษัตริย์
อย่างน้อยๆ ก็จะได้ข้อมูลมากขึ้นจากที่ผ่านๆ ดูแล้วไม่เข้าใจว่าคนครึ่งนก ครึ่งลิง ครึ่งสิงห์ ครึ่งช้าง จริงๆ แล้วมีที่มาอย่างไร มีความหมายอย่างไร นอกจากนี้ยังมีการแสดงเรื่องครุฑยุดนาค ซึ่งความจริงสัตว์สองชนิดนี้มีพ่อคนเดียวกัน แต่มาทะเลาะกันเอง สะท้อนสังคมไทยปัจจุบัน ผมว่าถ้าเราตกลงกันได้ก็ไม่ต้องทะเลาะกันนะ เวลากลางคืนน่าจะเป็นความรู้สึกแปลกใหม่แทนที่จะไปเข้าผับบาร์ก็มาเข้าพิพิธภัณฑ์ ได้ทั้งความบันเทิงและความรู้ด้วย" นักจัดการความรู้ แจงข้อสงสัย
เสียดายที่กิจกรรมจัดในช่วงเวลาสั้นๆ ทั้งนี้ ในช่วงฤดูหนาวของทุกปีผู้จัดงานวางแผนว่าจะจัดกิจกรรมพิเศษในรูปแบบพิพิธภัณฑ์กลางคืนอีก โดยจะเปลี่ยนเนื้อหาไปเรื่อยๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามได้ปีต่อปี