ข่าว

มาร์คเผยพร้อมเร่งปฏิรูปโครงสร้างตร.

26 ธ.ค. 2553

"นายกฯ"เผยพร้อมเร่งปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ พร้อมพิจารณาเพิ่มค่าตอบแทน ให้มีผลย้อนหลัง 1 ต.ค.53 พร้อมจี้ตำรวจปราบปรามปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง ขู่ตำรวจละเว้นปฏิบัติ - เข้าไปเกี่ยวข้อง เจอโทษหนัก มั่นใจช่วงรอยต่อพรบ . ความมั่นคงหลังยกเลิกพรก . ฉุกเฉินไม่มีป

(26ธ.ค.)เมื่อเวลา 10.15 น . ที่อาคารรัฐสภา นายอภิสิทธิ์   เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี   กล่าวถึงถึงกรณีการปรับเงินอัตราค่าตอบแทนของข้าราชการตำรวจตามโครงสร้างการปฏิรูปตำรวจ ว่า การปรับอย่างเก่ามี 3 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการปรับเช่นเดียวกับข้าราชการกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเป็นไปตามค่าครองชีพ ส่วนที่สองเป็นเรื่องของกฎหมายค่าเงินในสภา เนื่องจากเขามีปัญหาเรื่องของเงินเดือนตัน ตรงนี้จะขยับเพดานให้ ซึ่งจะคล้ายๆ กับกรณีของทหารที่เคยมีการแก้ไขกฎหมายและบัญชี คิดว่าสมัยประชุมนี้ คงจะเรียบร้อยและในส่วนที่สามเป็นงานที่มาจากการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งต้องการจะเน้นเรื่องการปรับปรุงระบบการสอบสวน โดยจะแยกออกมาค่อนข้างจะมีความเป็นอิสระและจะมีการประเมิน มีมาตรฐานและมีค่าตอบแทนต่างหาก ซึ่งอันนี้ต้องการให้ใช้ตั้งแต่ปีงบประมาณนี้ แต่ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ กำลังเร่งดูให้

 เมื่อถามว่า ในส่วนของ 1,100 ล้านบาท ที่จะมีการจัดสรรเพิ่ม กรอบเวลาเป็นอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่กำลังดูคือปีงบประมาณนี้ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม เป็นต้นมา เพราะโดยหลักควรจะได้แล้ว แต่ตอนที่ทำงบประมาณปี 54 ไม่ได้ทำงบไว้ ตอนนี้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณกำลังไปดูว่าควรจะเป็นอย่างไร แต่สำหรับปี 55 ไม่มีปัญหาแน่นอน ซึ่งการดำเนินการจะให้มีผลย้อนหลังในวันที่ 1 ตุลาคม 53 ซึ่งตอนนี้กำลังหาเงินอยู่ ซึ่งคนที่จะได้ประโยชน์ตรงนี้จะเป็นเจ้าหน้าที่งานสอบสวน ถือเป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูป ซึ่งมาตั้งแต่สมัยปี 50 มาจนถึงคณะกรรมการชุด พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ ยืนยันที่จะให้ทำเรื่องนี้ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ในการคิดเสมือนเป็นการทำให้งานสอบสวนเป็นวิชาชีพเฉพาะ มีความเป็นอิสระและเชี่ยวชาญ แม้กระทั่ง การบริหารจัดการสายการบังคับบัญชา ก็เหมือนจะแยกออกมา จากงานการบริหารเรื่องของตำรวจทั่วไป โดยจะยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายวิอาญา

 เมื่อถามว่า จำนวนคนที่จะได้รับผลประโยชน์จากตรงนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนจำตัวเลขไม่ได้ ชอไปดูในรายละเอียด เมื่อถามว่า จะไม่เหมือนดีเอสไอใช่หรือไม่ เนื่องจากดีเอสไอมีค่าตอบแทนสูง ทำให้เจ้าหน้าที่และพนักงานแห่ไปอยู่กันเยอะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จริงๆ แล้ว ทางฝ่ายที่เขาคิดว่าค่อนข้างคิดตรงกันหมด ทั้งคณะของ พล.ต.อ.วสิษฐ   ทั้งก.ต.ช. และก.ตร.เขามีการติดตามเรื่องนี้มาก เพราะเขาหวังว่าตรงนี้จะช่วยแก้ปัญหา ซึ่งเราจะวิจารณ์กันเสมอว่าตรงนี้มันเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม เมื่อถามว่า แสดงว่าจะต้องมีการตั้งองค์กร ขึ้นมาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ครับ แต่ว่าวิธีการบริหารคือเขาจะทำโครงสร้างให้มันมีความเฉพาะของมันชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อถามว่า การที่จะให้มีอิสระมากขึ้น ในส่วนของพนักงานสอบสวน หลักจะเป็นอย่างไร เพื่อให้มีความอิสระมากขึ้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มันจะมีชุด ซึ่งต่อไป พูดง่ายๆ คือว่าการบริหารของฝ่ายตำรวจเอง ซึ่งเขาอาจจะมีหัวหน้าที่เป็นหน่วยงาน จะเข้ามาแยกการบริหารตรงนี้ออกจากกัน ทำนองว่าการบริหารทั่วไปของสถานีตำรวจ ของหน่วยงานตำรวจก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ชุดที่ทำงานทางด้านการสอบสวนเขาจะมีหัวหน้าของเขาเป็นการเฉพาะ

 เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ที่มีการเรียกร้องมาก คืออยากให้มีการถ่วงดุลเรื่องการสอบสวน เช่น ให้อัยการเข้ามาร่วมด้วย ตรงนี้ได้มีการพิจารณา หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยัง ตอนนี้ทุกอย่างยังอยู่ในกรอบของวิอาญาเหมือนเดิม แต่ขั้นต่อไปที่ทำตรงนี้ไปแล้ว จะมีการมาประเมินกันอีกทีและดูว่ามีกฎหมายอะไรที่ต้องปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ เมื่อถามว่า จะใช้เวลาแค่ไหนการประเมิน และจะเห็นว่าแผนกนี้ที่จะแยกออกมา จะได้เริ่มต้น เมื่อไหร่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ได้แยกต่างหากเด็ดขาด แต่เป็นลักษณะของวิธีการจัดระบบ การบริหารจัดการภายใน ซึ่งมติของก . ต . ช . เมื่อวันที่ 22 ธ . ค . ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นไปงานหลายเรื่องตั้งที่เป็นผลมาจากการปฏิรูปตำรวจจะเริ่มผลักดันออกมา และเราหวังอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้นโดยลำดับ

 เมื่อถามถึงความคืบหน้าเรื่องกฎหมายควบคุมฝูงชน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีร่างอยู่ในวาระของสภาผู้แทนราษฎร และร่างของรัฐบาลเอง วิปกำลังพิจารณาอยู่ คิดว่าต้องใช้เวลาอีกพอสมควร เพราะสังคมยังไม่มั่นใจ เกรงจะเป็นกฎหมายในลักษณะไปขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย เมื่อถามว่า จะกลายเป็นข้ออ้างที่ทำให้ตำรวจบอกว่า ไม่มีเครื่องมือ หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตำรวจอยากมีเครื่องมือนี้ แต่ตนได้ซักซ้อมอย่างชัดเจนว่าขณะที่ยังไม่มีเครื่องมือนี้ ก็ต้องปฏิบัติได้

 เมื่อถามว่า ภายใต้พรบ.ความมั่นคง ตำรวจสามารถดำเนินการได้แค่ไหน นายกฯ กล่าวว่า ในกรณีที่ยังเป็นพรบ . ความมั่นคง แบบไม่ได้ประกาศพื้นที่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ แต่ถ้าประกาศพื้นที่จะมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อถามว่า ข้อจำกัดจากพรบ . ความมั่นคงจะทำให้เกิดช่องว่างในการดูแลความสงบเรียบร้อย ช่วงรอยต่อระหว่างข้ามปีนี้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงไม่ เพราะได้มีการซักซ้อมและเตรียมการตั้งแต่ในส่วนของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ . )ที่พิจารณามา

 เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรี พูดถึงเรื่องยาเสพติด จะปราบปรามอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทางตำรวจบอกว่าได้รับนโยบายจากรัฐบาลจะเดินหน้ากวาดล้างแค่ต้นเดือนมกราคม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ได้หมายความว่าทำถึงเดือนมกราคมแล้วหยุด ความหมาย คือ ขณะนี้เข้มงวดกวดขัน เร่งรัดและต้องการเห็นผล โดยที่หากยังมีปัญหา ความหละหลวมอีก หลังจากนั้นจะต้องมีการดำเนินการ นี่คือความหมายที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ให้นโยบายกับตำรวจไป อย่างไรก็ตามถ้าใครไม่ทำหลังเดือนมกราคมก็จะต้องรับผิดชอบแน่นอน

 นายกฯ กล่าวต่อว่า หลายๆ คดีไม่จำเป็นต้องเป็นนโยบาย แต่เป็นการทำหน้าที่ในการรักษากฎหมาย แต่ต้องยอมรับว่าภารกิจของตำรวจเยอะ ฉะนั้นบางทีบางเรื่อง เมื่อไม่มีการเน้นย้ำ อาจทำให้อ่อนลงไป ทั้งนี้ที่ผ่านมา พอเราได้รับเรื่องร้องเรียน เราก็จะส่ง เมื่อส่งไปบางทีดำเนินการเสร็จสักพักก็กลับมาใหม่ เราก็เริ่มสังเกตว่าในบางท้องที่ บางพื้นที่มันซ้ำซาก เราจึงบอกว่าต่อไปนี้มันไม่ได้ เพราะความเข้าใจของคน ถ้าเห็นว่ามันกลับมาเรื่อยๆ แสดงว่าเจ้าหน้าที่มีส่วนรู้เห็น หรือหรี่ตาข้างหนึ่งหรือเปล่า อย่างไรเราก็ต้องบอกว่าต่อไปนี้ของอย่างนี้มันมีไม่ได้ มันทำลายศรัทธา ประชาชนที่มีต่อตัวองค์กร เมื่อถามว่า บางพื้นที่มีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้อง รัฐบาลได้มีการคาดโทษไว้อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ต้องดำเนินการอยู่แล้ว และเจ้าหน้าที่ก็ต้องมีการลงโทษหนักกว่าประชาชนอยู่แล้ว

 เอถามว่า นายกฯ ได้มีการพูดถึงพื้นที่สน.พระยาไกร และสน.คลองตัน หลังจากที่มีการพูดชื่อไปแล้ว มีผลอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เสียงสะท้อนกลับมาในทางบวก ประชาชนที่เคยร้องเรียนเข้ามาบอกว่าดีขึ้น แต่ก็บอกว่ายังไม่หมด อย่างไรก็ตามเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการได้ ตนก็พอใจ เช่น บางพื้นที่ มีการร้องเรียน เรื่องบ่อนการพนัน และปิดได้ปิดไม่ได้ พอทำสำเร็จประชาชนก็เห็นผลงาน เราก็พอใจ แต่เราต้องการให้มันต่อเนื่อง สิ่งที่เรากลัวคือ พอผ่านไปสักพัก จะกลับมาใหม่

 เมื่อถามว่า การใช้อาวุธสงครามทำไมระบาดมากขึ้น นายกฯ กล่าวว่า เรื่องความรุนแรง ถือเป็นประเด็นหลักที่ตนพยายามรณรงค์ทุกฝ่าย ถ้าเราสร้างค่านิยมต่อต้านความรุนแรงจะช่วยได้เยอะ แต่ถ้าเราปล่อยให้เกิดสภาพของความชินชา ต่อความรุนแรงมันก็จะไปทุกวงการ ต่อไปทุกคน ก็คิดว่าใช้ความรุนแรงได้ เพราะเห็นว่ามันเกิดและใช้ได้ ฉะนั้น ทุกฝ่ายที่ต้องการเห็นสังคมที่ดี ที่สงบสุข ต้องการเห็นสังคมประชาธิปไตย ต้องช่วยกันต่อต้านความรุนแรง เมื่อถามว่า การป้องปรามไม่ให้เกิดความรุนแรง โดยการกวาดล้างอาวุธสงคราม ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่ นายกฯ กล่าวยอมรับว่า เป็นจุดอ่อนมาเป็นระยะเวลาพอสมควรและต้องยอมรับว่า เรื่องอาวุธสงคราม โดยเฉพาะสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้านของเราทำให้ ยังมีของเหล่านี้อยู่ค่อนข้างมาก

 เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมอาวุธ ตอนนี้คิดว่ามีผลได้มากน้อยแค่ไหน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่เห็นรูปธรรมที่ชัดเจน ตรงนี้ก็เป็นปัญหา

ปธ.ตำรวจค้านกระจายอำนาจตร.ลงสู่ไประดับภูมิภาค

 ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ฐานประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การตำรวจ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอของคณะอนุกรรมการวิเคราะห์กรอบโครงสร้างรัฐธรรมนูญกระบวนการยุติธรรม ให้ปฏิรูปองค์กรตำรวจใน 6 ข้อ ว่า ส่วนใหญ่ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอ อาทิ การปรับเงินเดือนค่าตอบแทน, เพิ่มบุคลากร, การพัฒนาความรู้ และจัดสรรงบประมาณการปฏิบัติงานแยกจากเงินเดือน แต่กรณีที่เสนอให้กระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่จังหวัด และการแยกส่วนงานจับกุมออกจากการสืบสวน ตนไม่เห็นด้วย เพราะการแยกงานจากส่วนกลางไปสู่จังหวัดอาจจะเป็นช่องหนึ่งที่ทำให้ระดับจังหวัดสร้างระบบของพรรคพวก การจับกุมหรือสอบสวนไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากมีความใกล้ชิดมากเกินไป และที่สำคัญจะเป็นการลดความเข้มแข็งของการทำงานได้

 นายสาธิต กล่าวอีกว่าการเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจตนมองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ตนเสนอว่าควรมีการปฎิรูปวัฒนธรรมองค์กรของเจ้าหน้าที่รัฐก่อนเป็นอันดับแรก เพราะแม้จะมีการปรับโครงสร้างทั้งระบบได้ก็จริง แต่หากพื้นฐานหลัก ได้แก่ วัฒนธรรมองค์กร, พฤติกรรมของผู้ปฏิบัติงาน ที่ก่อนหน้านี้พบว่า มีพฤติกรรมเอาหน้าเอาใจนาย ไม่มีการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปใดๆ ก็ไม่มีวันสำเร็จได้

วิเชียรลั่นตราบใดยังนั่งเก้าอี้"ผบ.ตร."อยู่ไม่มีตร.มะเขือเทศแน่

 ที่รัฐสภา พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงการปรับเงินเดือนให้กับข้าราชการตำรวจในชั้นของพนักงานสืบสวน ว่า พ.ร.บ.ตำรวจ 2547 ก็มีโครงการของพนักงานสอบสวนอยู่แล้วเพื่อให้พนักงานสอบสวนมีประสิทธิภาพ แต่การดำเนินการตามกฎหมายของตำรวจ 2547 นั้นก็มีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องรายละเอียดพอสมควร วันนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้รับความกรุณาจากรัฐบาลให้เดินหน้า และเป็นไปตามพ.ร.บ.ตำรวจ 2547 โดยเฉพาะในเรื่องของค่าตอบแทน ซึ่งกระทรวงการคลังได้อนุมัติให้เรามาในปี 53 พนักงานสอบสวน ชั้นสบ. 1 จะได้ 12,000 บาท แล้วไล่ขึ้นไป สบ. 2 สบ. 3 สบ. 4 สบ. 5 สบ. 6   ซึ่งชั้นของพนักงานสอบสวนทั้งประเทศจะมีกำลังพลประมาณ 1 หมื่นนาย สำหรับงบประมาณในปี 2554 นั้นเราก็ได้ขอรัฐบาลไปแล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนที่มีอยู่ก็จะได้รับครบทุกคนทุกประการ ซึ่งจะเป็นแรงจึงใจให้กับพนักงานสอบสวน

 เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาไม่มีค่าตอบแทนให้กับพนักงานสอบสวนจึงทำให้การทำสำนวนต่างๆไปให้ศาลจึงล่าช้า พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวว่า ถูกต้องพนักงานสืบสวนทำงานหนัก เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆของเราก็คาดแคลนเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง และความเจริญก้าวหน้าก็ไม่ชัดเจนกลับไปกลับมา วันนี้เราต้องตัดสินใจเดินหน้าตามแนวทางพ.ร.บ.ตำรวจ 2547 ดำเนินการไว้แล้ว

 เมื่อถามว่า หลังจากปรับขึ้นเงินเดือนไปแล้วจะต้องมีการประเมินการทำงานของพนักงานสืบสวนในอีกกี่เดือนข้างหน้า พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวว่า เชื่อว่าแรงจูงใจมากขึ้นเป็นระบบมากขึ้นความมั่นคงความเป็นธรรมในการเจริญก้าวหน้า ตรงนี้เป็นรายละเอียดที่เราต้องรีบทำให้เสร็จภายใน 3 เดือน ดังนั้นประสิทธิภาพต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน

 เมื่อถามว่า จะลดปัญหาอย่างกรณีของตำรวจมะเขือเทศได้หรือไม่ พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวว่า ตำรวจทั้งประเทศไม่มีอยู่แล้ว ตราบใดที่ตนยังเป็นผบ.ตร.ตำรวจทั้งประเทศไม่มีอย่างแน่นอน

 เมื่อถามว่า การฝักใฝ่ทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อความรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศหรือไม่ พล.ต.อ.วิเชียรกล่าวว่า ตำรวจฝักไฝ่ทางการเมืองไม่ได้ ต้องทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง