
ชมบ้าน "ชิโนโปรตุกีส"ที่ตะกั่วป่ามรดกต้นรัตนโกสินทร์กว่า 200 ปี
จ.พังงา ใช่ว่าจะมีแต่แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามทางทะเล หรือป่าเขา และน้ำตกเท่านั้น หากแต่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเป็นบ้านเรือนในสไตล์ "ชิโนโปรตุกีส" ที่ผสมผสานรูปแบบทางศิลปะจนมีเอกลักษณ์อันสวยงามไม่แพ้ใคร
ประวิทย์ ลิ่มสกุล รองนายกเทศมนตรีเมืองตะกั่วป่า จ.พังงา เล่าถึงที่มาของบ้านเรือนในสไตล์ชิโนโปรตุกีสนี้ว่า เมื่อประมาณ 200 กว่าปีก่อน เมืองตะกั่วป่าเป็นหัวเมืองสำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้ โดยมีสินค้าหลักที่ทำรายได้ คือ "แร่ดีบุก" ที่มีมูลค่าสูงลิ่วในยุคนั้น
เมืองตะกั่วป่ายังเป็นเมืองท่าที่มีการเก็บภาษีสินค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของสยามประเทศ แต่ขณะนั้นเมืองตะกั่วป่ายังขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราช
แม้จะเป็นแค่หัวเมืองเล็กๆ แต่ก็มีเรือกลไฟบรรทุกสินค้าเข้ามาขายอย่างคับคั่ง โดยเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่สามารถแล่นผ่านแม่น้ำตะกั่วป่าเข้ามาเทียบท่าที่ “จับเส้” ได้อย่างสบายๆ
คำว่าจับเส้มาจาก "ภาษาจีนฮกเกี้ยน" ซึ่งแปลว่า "เมืองท่าที่เก็บภาษี" แต่ทุกวันนี้แม่น้ำดังกล่าวตื้นเขิน และเปลี่ยนเส้นทางจนกลายเป็นถนนอุดมธาราไปแล้วจนแทบไม่เหลือร่องรอยเมืองท่าเก็บภาษีในอดีตไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากัน
หลงเหลือก็เพียงบ้านเรือนโบราณในสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปตุกีส คือ ศิลปะแบบจีนผสมยุโรปโปรตุเกสใน "ตลาดเก่า" ของเมืองตะกั่วป่าที่พอจะเป็นร่องรอยประวัติศาสตร์ที่ยังพอมีชีวิตอยู่
ประวิทย์ ย้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมืองในอดีตว่า ในอดีตเมืองตะกั่วป่าไม่มีเส้นทางคมนาคมโดยตรงที่จะเดินทางไปกรุงเทพฯ เพราะยังไม่มีถนนเพชรเกษมตัดมาจาก จ.ระนอง เหมือนทุกวันนี้
เส้นทางเดียวที่สะดวกสุดที่จะไปกรุงเทพฯ คือ ต้องลงเรือที่เมืองระนอง หรือเดินเท้าไปขึ้นรถไฟที่เมืองชุมพร ดังนั้น คนตะกั่วป่าในอดีตจึงนิยมลงเรือไปปีนังเพื่อเรียนหนังสือหรือค้าขายมากกว่าจะเข้ากรุงเทพฯ เพราะเดินทางด้วยเรือกลไฟจากตะกั่วป่าไปได้โดยตรงเลย
แต่ประมาณปี 2505 เริ่มมีถนนจากระนองทำให้การเดินทางมีความสะดวกสบายมากขึ้น ประกอบกับเป็นยุคเฟื่องฟูของแร่ดีบุกที่เคยมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 130 บาท ขณะที่ราคาข้าวสารในยุคนั้นไม่ถึง 20 บาท จึงทำให้ธุรกิจเหมืองแร่ดีบุกรับทรัพย์กันแทบไม่ทัน
ยุคดีบุกมีค่าดั่งทองทำให้เมืองตะกั่วป่าเต็มไปด้วยสถานเริงรมย์ ทั้งโรงหนัง โรงแรม โรงน้ำชา รวมทั้งหญิงบริการเดินกันขวักไขว่ แต่พอถึงประมาณปี 2520 ก็เข้ายุคเสื่อมค่าของดีบุก ประกอบกับมีถนนตัดเข้าภูเก็ตได้โดยตรงที่บ้านย่านยาวทำให้ถนนทุกสายมุ่งสู่ภูเก็ตแทน
ยุคอวสานแห่งความรุ่งโรจน์ของเมืองตะกั่วป่าจึงสิ้นสุดลง เหลือเพียงบ้านเรือนสไตล์ชิโนโปรตุกีสในตลาดเก่าที่เป็นประจักษ์พยานความรุ่งเรืองในอดีต
ความร่ำรวยทางวัฒนธรรมของเมืองโบราณแห่งนี้ จึงทำให้เทศบาลเมืองตะกั่วป่าเกิดแนวคิดที่จะอนุรักษ์โบราณสถานเหล่านี้เอาไว้เพื่อการท่องเที่ยว และเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
แนวทางการอนุรักษ์ คือ จัดหางบประมาณมาบูรณะให้อยู่ในสภาพที่มั่นคง และสวยงาม ทั้งยังจัดให้ถนนในเมืองตลาดเก่าแห่งนี้เป็น "ถนนสายวัฒนธรรม" โดยจัดให้มีการจัดงานกันทุกปีในชื่อว่า “งานถนนสายวัฒนธรรม”
บัญญัติ ชูเลิศ