ข่าว

รถตู้ไม่คาด"เข็มขัดนิรภัย"...ใครถูกปรับ?

รถตู้ไม่คาด"เข็มขัดนิรภัย"...ใครถูกปรับ?

30 ธ.ค. 2553

หลังเกิดอุบัติเหตุรถเก๋งพุ่งชนรถตู้สาธารณะ ทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บสาหัส 7 คน หลายฝ่ายเริ่มเรียกร้องให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยรถตู้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดให้ผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัดนิรภัย หรือเซฟตี้เบลท์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วข้อบังคับนี

ความคิดเห็นหลากหลายจากผู้ใช้บริการรถสาธารณะและคนขับรถต่างมีแนวคิดที่แตกต่างกัน นายวีระชัย วัย 36 ปี โชเฟอร์รถตู้เส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช เห็นด้วยกับการใช้เข็มขัดนิรภัยเพียงแต่ว่าหากผู้โดยสารไม่ยอมใส่เข็มขัดนิรภัย ตำรวจจะเอาผิดกับคนขับหรือตัวผู้โดยสาร เพราะโชเฟอร์ไม่สามารถบังคับผู้โดยสารได้ทุกคน

 "เคยมีบางรายด่าทอเมื่อบอกให้คาดเข็มขัดนิรภัย บางคนก็นั่งทับหัวเข็มขัดทำให้ที่นั่งเสียหาย จึงต้องนำสายเข็มขัดพันกับที่นั่งไว้ หรือรถตู้บางคันอาจตัดสายเข็มขัดทิ้งไปเลย เปรียบเทียบกับผู้โดยสารฝรั่งแล้ว เวลาขึ้นรถพวกเขาจะคาดเซฟตี้เบลท์ทันที จึงอยากให้เอาผิดกับผู้โดยสารมากกว่า"

 เหมือนกับนายณัฐ คนขับรถตู้ระหว่างกรุงเทพฯ-โคราช วัย 40 ปี ที่เชื่อว่ามาตรการนี้เป็นสิ่งดี แต่ผู้โดยสารจะไม่ทำตาม เพราะไม่สะดวกสบาย อาจได้ผลในระยะแรกเท่านั้น เหมือนเหตุการณ์รถตู้ระเบิดขณะเติมแก๊ส ช่วงนั้นมีกฎให้ผู้โดยสารต้องลงจากรถระหว่างเติมแก๊ส แต่ต่อมาก็ปล่อยปละละเลย

 ขณะที่นายต้อย นายท่ารถตู้ ก็ไม่เห็นด้วยกับมาตรการรักษาความปลอดภัยโดยอ้างเหตุผลว่า รถตู้ที่วิ่งระยะสั้น จะมีผู้โดยสารขึ้นลงรถและขยับที่นั่งชิดในตลอดเวลาเพื่อรับคนใหม่ การคาดเข็มขัดนิรภัยคงไม่สะดวก วิธีนี้เหมาะกับรถตู้ที่วิ่งระยะทางไกลมากกว่า นอกจากนี้ยังมีรถตู้เก่าอีกหลายรุ่นที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัย อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายติดตั้งเพิ่มเติม

 เสียงสะท้อนส่วนใหญ่ของประชาชนที่ใช้บริการก็ไม่เชื่อว่า จะปฏิบัติได้จริงอย่าง เขมิกา หนึ่งในผู้โดยสารที่เดินทางโดยรถตู้เป็นประจำมองว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่คงไม่ยอมคาดเข็มขัดนิรภัยเพราะการขึ้นลงรถยุ่งยาก รวมถึงความเห็นจากนักศึกษาส่วนใหญ่ที่ใช้รถตู้โดยสารเป็นประจำก็เชื่อว่า คนส่วนใหญ่จะไม่ใช้ถ้าทำได้ก็ต้องให้ตำรวจขึ้นมาตรวจเป็นประจำแต่ส่วนใหญ่อยากให้มีการควบคุมคนขับรถมากกว่า

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2540 มีกฎหมายบังคับให้ผู้ขับขี่รถยนต์และผู้นั่งตอนหน้าต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ไม่เช่นนั้นจะโดนปรับ รายละไม่เกิน 500 บาท และถ้ารถไม่มีอุปกรณ์เข็มขัดนิรภัย จะถูกปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท อย่างไรก็ตาม อ.วันชัย สอนศิริ เลขาธิการสภาทนายความ แสดงความเห็นด้วยที่จะมีกฎหมายเพื่อควบคุมให้คาดเข็มขัดนิรภัย แต่ต้องไม่ทำเฉพาะรถตู้เท่านั้น รถโดยสารประเภทอื่นเช่นรถทัวร์ รถชนิดต่างๆ ด้วย ส่วนเรื่องที่จะเอาผิดกับใครนั้น อ.วันชัยเห็นว่าควรเอาผิดทั้ง 2 ฝ่าย เช่น โชเฟอร์มีหน้าที่ดูแลให้ใส่เข็มขัดนิรภัย ถ้าไม่ยอมต้องเชิญลงจากรถทันที ส่วนผู้โดยสารก็ต้องรับผิดด้วย เพื่อให้เกิดความร่วมมือ

นอกเหนือจากความคิดเห็นหลากหลายจากผู้ใช้บริการจริงแล้ว ในกลุ่มสมาชิกเฟซบุ๊กของ "คม ชัด ลึก" ก็แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า นอกจากบังคับให้คาดเข็มขัดนิรภัยแล้ว ควรจะเข้มงวดเรื่องความเร็ว ใบขับขี่ และสภาพรถด้วย เช่น นาย Apichai เห็นว่าควรมีเข็มขัดนิรภัยเสริมโครงสร้างแข็งแรงแบบรถแข่ง และควรบังคับตรวจสภาพรถและพื้นที่ยึดเบาะนั่ง ส่วน นายPireeyawit เสนอให้ควบคุมความเร็วรถตู้หากใครฝ่าฝืน ควรเพิกถอนใบขับขี่อย่างน้อย 1 ปี