
วิกฤติ"คชสาร""ช้างตาย"มีราคากว่า"ช้างเป็น"
เมื่อความ "ศรัทธา" สามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดได้ฉันใด เศษซากของสัตว์ที่มีคุณค่าต่อความศรัทธา เฉกเช่น "ช้าง" ย่อมมีมูลค่าฉันนั้น!!
ชีวิตหลังความตายของ "ช้าง" จึงมีมูลค่ามากกว่าช้างเป็นๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่เสียอีก น.ส.โซไรดา ซาลวาลา เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง เผยถึงชีวิตหลังความตายของช้างเมื่อล้ม ส่วนใหญ่จะรีบชำแหละเพื่อเอาชิ้นส่วนไปขายหรือทำเครื่องรางของขลัง ซึ่งชิ้นส่วนต่างๆ ยกเว้น เนื้อและเครื่องในจะมีราคาแพงมาก โดยเฉพาะ "ขนหาง" ที่ยาวเหมือนใบโพธิ์จะถูกนำไปถักเป็นกำไลแขน สนนราคาตั้งแต่ 3 พันบาทจนถึงหลักหมื่น ส่วน "งวงช้าง" จะนำไปทำเครื่องรางของขลังประดับบารมี สนนราคาตั้งแต่ 3 หมื่นบาทขึ้นไป หากเป็น "หนัง" จะซื้อขายกันเป็นตารางนิ้ว เพื่อนำไปทำยันต์ กระเป๋า ตลับใส่เครื่องรางของขลัง จะอยู่ในราคาหลักแสนบาทจนถึงหลักล้านบาท นอกจากนี้ "เล็บและขา" จะนำไปทำขาโต๊ะประดับบารมี ซึ่งมีความเชื่อว่าหากใครได้นั่งเก้าอี้ทำจากขาช้างจะมีความมั่นคงทุกๆ ด้าน ซื้อขายกันอยู่ในราคาหลักแสนบาทขึ้นไป "กะโหลก" นำไปประดับ หรือแยกชิ้นส่วนเพื่อทำเครื่องประดับ จะมีมูลค่าหลักแสนบาท ถ้ามี "งา" ติดมาด้วยจะมีมูลค่านับล้านบาท เช่นเดียวกับ "ซี่โครง" จะส่งเข้าโรงงานทำเครื่องประดับต่างๆ และชิ้นส่วนที่มีมูลค่ามากที่สุดคือ "งาช้าง" หากคู่ไหนสวยๆ จะมีมูลค่านับสิบล้านบาท
"กระดูกทุกชิ้นของช้างทั้งตัวรวมทั้งงา หากทุกชิ้นอยู่ครบสมบูรณ์จะมีราคาแพงมหาศาล ชีวิตหลังความตายของช้างเมื่อล้มลง จะถูกแล่เป็นชิ้นส่วนแล้วนำไปขายรวมทั้งหมดแล้วขายได้เป็น 10-20 ล้านบาท หรือมากกว่านั้น แต่เมื่อเทียบกับการขายตัวเป็นๆ ที่ยังไม่ตายสูงสุดก็ได้เพียง 1.5 ล้านบาทเท่านั้น" น.ส.โซไรดา เปรียบเทียบ
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจวัดแห่งหนึ่งที่มีการชำแหละช้างแล้วนำซากทั้งหนัง งาช้าง และกระดูกชิ้นส่วนต่างๆ ไปทำเครื่องรางของขลังจำหน่ายบูชากันราคาสูงมาก เช่น พระงาแกะคชสารล้านปี (งาดำล้านปี) บูชา 1 ล้านบาท พระงาแกะ(แกะจากยอดงา 3 หน้า) บูชา 1 แสนบาท พระงาแกะเศรษฐีล้านโกฏิ (แกะจากยอดงา 2 หน้า) บูชา 1 แสนบาท งาแกะพระพิฆเนศ (รุ่นแรก) บูชา 1 แสนบาท นอกจากนี้ยังมีเครื่องรางที่ทำจากงาแกะสลักที่มีราคาลดหลั่นกันลงมา ส่วนใหญ่อยู่ในราคาเฉียดหมื่นบาท
และจากการสำรวจตลาดค้าเครื่องประดับจากกระดูกและงาช้างในโลกอินเทอร์เน็ต เครื่องประดับจากงาช้างจะซื้อขายกันอยู่ในราคา 300 บาทจนถึงหลักแสนบาท อาทิ "แหวนงาช้าง" ทั้งแบบแกะสลักและแบบปกติ ราคานั้นจะมีแบบธรรมดาเริ่มต้นที่ 350 บาทขึ้นไปถึงหลักหมื่นบาท ส่วน "ต่างหูงาช้าง" เริ่มต้นที่ 300 บาทถึงหลักพันบาท "สร้อยงาช้าง" สนนราคาหลักพันบาทจนถึงหลักหมื่นบาท เป็นต้น ส่วนเครื่องประดับสั่งทำพิเศษที่ทำจากงาช้าง อย่างพวกพระที่แกะสลักจากงาช้าง พระพิฆเนศงาช้าง เจ้าแม่กวนอิมงาช้าง จตุคามงาช้าง เป็นต้น จะมีราคาหลักหมื่น ส่วนการซื้อขายงาช้างคู่พร้อมฐาน มีมูลค่า 2 แสนบาทขึ้นไป
ด้วยความเชื่อกันว่า "งาช้าง" เป็นวัตถุมงคล มีความหมายถึงพลังอำนาจส่งเสริมให้ผู้ครอบครองเป็นเจ้าของมีพลังอำนาจเพิ่มขึ้น ช่วยในการฝ่าฟันอุปสรรค และมีชัยเหนือศัตรูรอบด้าน จึงพบเห็นการนำงาช้างคู่ประดับโต๊ะหมู่บูชา ส่วนราคาซื้อขายวัดกันที่ความสมบูรณ์และสวยงาม หากเป็น "งางอน" ที่มีความโค้งยาวสวยงามไม่บิดเบี้ยว มีราคากิโลกรัมละ 3-5 หมื่นบาท สนนราคาที่ว่านี้ทำให้งางอนสวยงามที่มีความยาวราว 1 เมตร จะมีราคาสูง 3-5 แสนบาท ส่วนงาช้างพังที่เรียกว่า "ขนายช้าง" ซึ่งเป็นของหายากก็มีราคาสูงงาช้างทั่วไป มูลค่าแห่งความศรัทธาเหล่านี้ จึงทำให้ชีวิตหลังความตายของช้างไทย ไม่เคยไปสู่สุคติ!!
ชัยวัฒน์ อินทรชำนาญ เจ้าของปางช้าง จังเกิลราล์ฟ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ บอกว่า ในอดีตไม่ว่าจะเป็นช้างที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ หรือช้างในปาง เมื่อล้มตายคนเลี้ยงช้างจะนิมนต์พระมาประกอบพิธีสวดส่งวิญญาณเป็นการให้เกียรติช้างเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนนำซากไปฝังหรือเผา เดี๋ยวนี้มีกระแสเรื่องไสยศาสตร์ทำให้ซากช้างถูกฝังมีราคา พบการซื้อขายซากช้างในแถบอีสาน โดยเฉพาะซากช้างจากประเทศเพื่อนบ้าน (เขมร) ที่นำไปใช้ประกอบพิธีกรรมไสยดำ เมื่อ10 ปีก่อน ซากช้างมีมูลค่าราว 2 หมื่นบาท
"ในภาคเหนือชาวกะเหรี่ยงที่เลี้ยงช้างเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านมาหลายชั่วอายุคน ช้างจึงกลายเป็นมรดกตกทอด ไม่ต่างจากรถยนต์จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ช้างจึงมีบุญคุณใหญ่หลวงกับชาวกะเหรี่ยง จึงไม่มีการทำร้ายดวงวิญญาณผู้มีพระคุณด้วยการชำแหละซากขาย แต่ส่วนเนื้อช้างอาจมีการชำแหละเพื่อบริโภค เพราะถือว่าให้ประโยชน์กับผู้เลี้ยง ซึ่งการบริโภคเนื้อช้างจะต้องทำพิธีทางศาสนา ก่อนที่จะชำแหละแจกจ่าย ส่วนซากที่เหลือต้องฝัง หรือเผา อย่างเดียวเท่านั้น ส่วนความเชื่อว่าที่ขายซากช้างส่วนใหญ่จะเพื่อทำทุนหาเงินไปซื้อช้างเชือกใหม่มาทดแทน และคงไม่มีใครซื้อช้างมาแล้วปล่อยให้ตายเพื่อหวังขายซาก เพราะซากขายได้ไม่กี่หมื่นบาท หรืออย่างมากก็แสนบาทไม่คุ้มกับราคาที่ซื้อมาเชือกละไม่ต่ำกว่า 8 แสนบาท" ชัยวัฒน์ กล่าว
ด้าน กิตติพล ศาลางาม ผจก.ศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เผยถึงการเลี้ยงช้างของหมู่บ้านช้างเลี้ยงแห่งนี้ว่า ตั้งแต่บรรพบุรุษมาจะเลี้ยงช้างไว้ เป็นเสมือนญาติ เรียกขานเป็น ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ๆ น้องๆ โดยจะเลี้ยงไว้ที่ข้างบ้านหรือใต้ถุนบ้าน เวลากลางคืนก็จะเป็นยามเฝ้าให้เป็นอย่างดี ถ้าเวลาเจ็บป่วยก็ต้องรักษาพยาบาลตามสมัยโบราณ ผ่านไป 2-3 ปี จะขุดนำกระดูกช้างมาทำความสะอาด แล้วบรรจุลงในเจดีย์ที่ทำไว้ที่วัดป่าอาเจียง ส่วนชิ้นส่วนเช่น งา หาง งวง นั้น เจ้าของช้างจะเก็บไว้ ถ้าจำเป็นต้องการใช้เงินก็จะนำมาขาย และที่สำคัญชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ จะไม่กินเนื้อช้างเป็นเด็ดขาด ส่วนช้างเป็นๆ ที่ชาวบ้านจะขายกันในราคาตัวละ 7-9 แสนบาท
"สำหรับช้างที่ล้มไปแล้ว ทางหมู่บ้านช้างแห่งนี้จะทำพิธีและฝังอย่างเดียว ส่วนที่มีคนนำชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งงาและกระดูกช้างมาทำวัตถุมงคลนั้น เป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่จะมีราคาในตลาดมือสูงเพียงใดนั้นไม่ทราบ" กิตติพล กล่าว