ข่าว

มาร์คยึด3หลักธรรมวอนไทยปรองดอง

มาร์คยึด3หลักธรรมวอนไทยปรองดอง

12 ม.ค. 2554

"นายกฯ"ย้ำยึด 3 หลักธรรมในการบริหารประเทศ แนะคนไทยนำธรรมะมาช่วยสร้างความปรองดอง

(12ม.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานพุทธธรรมาภิวัฒน์อาจริยบูชา 72 ปี พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นงานครบรอบอายุ 72 ปี ของพระพรหมคุณาภรณ์ ซึ่งองค์กรชาวพุทธมีการจัดงานเพื่อแสดงคุณความดีของพระพรหมคุณาภรณ์ที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาตลอดชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนได้รับการยกย่องจากทั้งในและต่างประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะการที่เป็นคนไทยคนแรกที่รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก ( UNESCO Prize for Peace Education)

นอกจากนี้ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มีมากกว่า 15 สถาบัน และในปี พ.ศ. 2549 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปัจจุบันพระพรหมคุณาภรณ์ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และจำพรรษาอยู่ที่วัดญาณเวศกวัน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

 จากนั้นนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “การบริหารประเทศด้วยหลักพุทธธรรมสู่การเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาโลก” ตอนหนึ่งว่า ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเน้นเรื่องความเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติโดยให้หน่วยงานต่างๆยึดหลักความยุติธรรม ธรรมาภิบาล ทั้งนี้นอกจากความยุติธรรม ธรรมภิบาลแล้วคงมีหลักธรรม 3 ข้อที่ตนให้ความสำคัญในการบริหารประเทศในช่วงที่ผ่านมา
 
 1. “ขันติธรรม” คือมีความอดทนอดกลั้นกับสิ่งยั่วยุ กับความบีบคั้นของสถานการณ์ที่นำไปสู่ความรุนแรง ต้องมีสติชัดเจนในการแก้ปัญหา แยกแยะปัญหา ไม่ตัดสินใจโดยใช้อารมณ์เพื่อซ้ำเติมสถานการณ์ รวมทั้งไม่ถือโทษโกรธเคืองและให้อภัยเสมอ และเมื่อดำเนินการแล้วก็ทำให้หลายสถานการณ์คลี่คลายได้ง่ายขึ้น   2. “วิริยธรรม” ความเอาใจใส่ในการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด มีวิสัยทัศน์เพื่อกำหนดนโยบาย และการคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง และไม่ละความพยามแม้ยังไม่บรรลุเป้าหมาย และ 3. “สุจิรตธรรม” คือความซื่อตรงต่อหน้าที่ สุจริตจริงใจ โปร่งใสตรวจสอบได้

 “หลักธรรมเหล่านี้จะทำให้ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา ผมหวังว่าคนไทยจะใช้หลักธรรมไปปฏิบัติตน และใช้หลักพุทธธรรมในการนำมาสร้างความปรองดองให้เกิดในสังคมไทย และนอกจากประชาชนคนไทยนำมาปฏิบัติเป็นวิถีชีวิตแล้วยังจะทำให้ชื่อเสียงของประเทศได้รับการยอมรับในการเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาโลกยั่งยืนสืบไป”นายกฯ กล่าว