ข่าว

ไม่ใช่เจ้าชีวิต

ไม่ใช่เจ้าชีวิต

16 ม.ค. 2554

เสาร์ที่ผ่านมารถติดพอสมควร สีสันวันเด็กปีนี้ก็ยังแรงไม่แพ้ปีก่อนๆ ผมเห็นบรรดาญาติพี่น้อง พาลูกจูงหลานออกเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ

 ใจหนึ่งก็ชื่นใจที่ประเพณีนิยมแบบนี้ยังไม่ล้าสมัย ผู้ใหญ่ให้ความสนใจ อีกใจก็มองโลกแง่ร้ายกลัวว่าความคึกคักจะมีแค่ปีละครั้ง พอสิ้นวัน ความสำคัญของเด็กก็หล่นหายตายจาก รอปีใหม่ฟ้าใหม่ หมุนวนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนไม่มีความขลัง

 พูดถึงเด็ก สมัยนี้ต่างจากสมัยก่อนมาก ที่ไม่ค่อยกล้า ไม่แสดงออก จะดื้อบ้างเกเรบ้าง ก็ตามประสา ความมั่นใจมีระดับหนึ่ง แต่จุดศูนย์กลางก็ยังอยู่ที่พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือครูที่โรงเรียนเป็นหลัก

 ไม่เหมือนยุคดิจิทัล ที่เด็กกล้าพูด กล้าทำสุดๆ ยิ่งเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแบบไร้พรมแดน เด็กก็ยิ่งโตเร็วเกินวัย ศูนย์กลางค่อยๆ ขยับมาที่ตัวเอง จนบางครั้งออกจะมั่นใจเกินไป

 ผมว่าผู้ใหญ่ก็ต้องปรับตัว จะใช้วิธีเดิมๆ แบบที่เราถูกเลี้ยงจนโตก็ลำบาก เพราะยิ่งกระแสน้ำเชี่ยวกราก เอาไม้ไปขวาง ก็ไม่สำเร็จ เผลอๆ ไม้จะหักเสียเปล่าๆ

 ต้องคิดว่า “เราเลี้ยงเขาให้โตได้ แต่เราเป็นเจ้าชีวิตเขาไม่ได้”

 แทนที่จะเจ้ากี้เจ้าการ ดูแลไปเสียทุกอย่าง หรือคอยบังคับโน่น สั่งนี่ เราต้องเปลี่ยนบทบาทใหม่ เพียงแค่คอยชี้แนะ ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกัน เสมือนเป็นวัคซีนเพื่อให้เขามีภูมิที่แข็งแรง เผชิญกับเชื้อโรคร้ายทางสังคม ที่พร้อมกระหน่ำ ยามเขาอ่อนแอ

 ถึงเวลาอยู่ใกล้ ก็ต้องใกล้ ถ้าจำเป็นต้องถอยห่างอย่างห่วงๆ ก็ต้องทำ

 พูดถึงวันเด็กต่อ ผมไม่เพียงแต่จะเห็นพ่อแม่พาลูกหลานออกเที่ยว เปิดโลกความรู้ การให้ของขวัญพิเศษกับเด็ก ก็เป็นอีกเรื่องที่นิยมไม่แพ้กันไล่หลังสองสามปี ผมได้ยินว่าวิธีการซื้อหาหรือให้ของกับเด็กเปลี่ยนไป พ่อแม่เริ่มให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจมากขึ้น

 อย่างใกล้ตัว คนที่ผมรู้จักเขาเล่าให้ฟัง ซึ่งผมชอบแนวคิดมาก เขาจะกำหนดวงเงินขึ้นมาหนึ่งก้อน สมมติว่าห้าร้อยบาท พอไปถึงห้างสรรพสินค้า เขาจะพูดกับลูกชัดเจนว่าหนูมีเงินเท่านี้บาท อยากได้อะไรให้คิดเอง จะกี่ชิ้นก็ได้ แต่ไม่เกิน หากเหลือ ก็จะเก็บหยอดกระปุกให้

 เหลือเชื่อครับ เด็กไม่กี่ขวบที่ยังเรียนอยู่อนุบาลต้นๆ คิดเป็น พ่อแม่เล่าให้ฟังว่า ก่อนตัดสินใจซื้อเขาจะหยิบสิ่งที่เขาชอบและเดินมาถามว่าชิ้นนี้เท่าไหร่ เงินพอมั้ย และเหลือซื้อชิ้นอื่นได้หรือเปล่า หรือถ้าเกินเขาก็จะหยิบไปเก็บ และเลือกชิ้นใหม่มา

 แม้เด็กวัยนี้ ยังเล็กเกินกว่าจะรู้จักคำว่า “บริหาร” แต่อย่างน้อยผมว่านี่คือการสอนให้เขารู้จักค่าของเงินกลายๆ เป็นการเรียนรู้เรื่องการจัดการที่ไม่ต้องหวือหวา แต่มีค่าความศักดิ์สิทธิ์

 ได้ยินว่า จบวัน เด็กคนนี้ไม่ได้ของที่ดีที่สุด แต่ได้ของที่เหมาะที่สุดในราคาที่สมเหตุผล และมีเงินเหลือเก็บเป็นเสบียงติดกระเป๋าอีกด้วย

 คอนเซ็ปต์นี้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันเด็กปีหน้า ถึงจะเอาไปใช้ครับ การสอนเด็ก สอนได้ทุกวัน ไม่มีวันหยุด เพราะเด็กก็เหมือนผ้าขาวที่จะเอาสีใส่ได้เสมอ

 เกิดลงสีผิด ก็รีบเอาไปซักซะ แล้วลงใหม่ ผ้าจะหมองบ้างอะไรบ้าง ก็ไม่ต้องกังวล นี่คือชีวิตจริง ไม่ใช่ละคร โลกนี้ไม่เพอร์เฟกท์ครับ

 แต่สำคัญที่สุดคือ ทำตัวเป็นเพื่อนชีวิต อย่าเป็นเจ้าชีวิตละกัน เพราะอย่างหลัง เด็กต่อต้านแน่นอนครับ

ชัยพล กฤตยาวาณิชย์
[email protected]