
อันตราย"บีบีกัน"ปืนอัดลมซื้อขายคึก
ตลาดซื้อ-ขาย "ปืนบีบีกัน" ยังคึกคัก สั่งโมดิฟายเพิ่มอานุภาพคล้ายปืนจริง เริ่มต้นที่ 2 พันบาท ด้านเซียนปืนอัดลม หวั่นไปก่ออาชญากรรม แนะจดทะเบียนคนครอบครอง
"คม ชัด ลึก" สำรวจตลาดขายปืนอัดลม หรือปืนบีบีกัน ย่านคลองถม ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง และรวมถึงตลาดซื้อขายปืนบีบีกันในอินเทอร์เน็ต พบว่า ปืนบีบีกันนั้นมีขายให้เห็นอย่างโจ๋งครึ่ม นอกจากจะมีการจำหน่ายอุปกรณ์กีฬาประเภทนี้แล้ว ยังรับโมดิฟายให้ปืนนั้นมีความแรงขึ้นอีกด้วย สนนราคานั้นเริ่มต้นตั้งแต่ 2,000 บาทจนถึงหลักหมื่นบาท ซึ่งไม่นับรวมอุปกรณ์ตกแต่งอื่นๆ อาทิ เลเซอร์ กล้อง เป็นต้น ซึ่งหากมองผิวเผินแล้วจะดูเหมือนอาวุธปืนของจริงจนแยกไม่ออก ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมากมายืนเลือกซื้อ ทดสอบการยิงแบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย ล่าสุดมีเหตุการณ์นำปืนบีบีกันที่ผ่านการโมดิฟายแล้ว นำมาใช้เป็นอาวุธในการก่ออาชญากรรมต่างๆ
พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รอง ผบช.น. ฝ่ายปราบปราม ระบุว่า ที่ผ่านมายังไม่มีสถิติรวบรวมไว้เกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมด้วยปืนอัดลม หรือปืนบีบีกัน ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 ไม่ถือว่าปืนอัดลมเป็นสิ่งเทียมอาวุธ กฎหมายยังคงเห็นว่าเป็นของเล่นจึงไม่มีการกวาดล้าง หรือจับกุมแต่อย่างไร โดยกฎหมายดังกล่าวได้ให้ความหมายของคำว่า "สิ่งเทียมอาวุธปืน" หมายความถึงสิ่งที่มีรูปและลักษณะอันน่าจะทำให้หลงเชื่อว่าเป็นอาวุธปืน จากคำนิยามดังกล่าวจะเห็นได้ว่า สิ่งใดก็ตามที่มีรูปและลักษณะ อันทำให้หลงเชื่อว่าเป็นอาวุธปืน จะเป็นเพียง "สิ่งเทียมอาวุธปืน" ไม่ใช่ "อาวุธปืน" และจากคำนิยามดังกล่าว ลำพังชิ้นส่วนของปืนบีบีก็ไม่ใช่อาวุธปืน เพราะชิ้นส่วนของปืนบีบีไม่อาจทำให้ผู้ที่พบเห็นหลงเชื่อว่าเป็นอาวุธปืน ซึ่งคำนิยามของคำว่า สิ่งเทียมอาวุธปืนจะแตกต่างจากนิยามของคำว่า "อาวุธปืน" ที่กฎหมายให้ความหมายรวมถึงว่า เพียงส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืน ก็ให้ถือเป็นอาวุธปืนด้วย
"แม้ว่าปืนอัดลมและบีบีกันจะเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืนก็ตามที เราก็มีการตรวจตราอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ทั้งเรื่องการพกพาหรือการขาย แต่ถึงกระนั้นก็ตามแม้ว่ากฎหมายชี้ชัดว่าปืนอัดลมนั้นเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืน ต้องดูด้วยว่าเจตนาที่เอาไปใช้นั้นเอาไปใช้ทำอะไร อย่างเช่น พกปืนไปปล้นนั้นก็เข้าข่ายการกระทำผิดต่อกฎหมายด้วยเช่นกัน เราต้องดูที่เจตนาเป็นสำคัญ" พล.ต.ต.วรศักดิ์ ระบุ
"โอ๊ต" ผู้ประกอบการธุรกิจสนามบีบีกันรายหนึ่งย่านรามอินทรา ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันนั้นยอมรับว่า ไม่สามารถที่จะแยกออกระหว่างปืนบีบีกัน ปืนอัดลม หรือปืนจริง เนื่องจากปัจจุบันผู้ผลิตปืนบีบีกันและปืนอัดลมนั้นก๊อบปี้ได้เหมือนมากทั้งรูปร่างและน้ำหนักในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 นอกจากนี้ยังมีการโมดิฟายด้วยการติดกล้องเพิ่มแรงในการยิงได้อีกด้วย
"ผมมองว่าหากต้องการที่จะป้องกันปัญหาเรื่องการก่ออาชญากรรมด้วยการนำเอาปืนบีบีกัน หรือปืนอัดลมไปก่อเหตุนั้น อย่าไปจำกัดในเรื่องของอุปกรณ์เลย ต้องยอมรับว่าการควบคุมอุปกรณ์เหล่านี้เป็นไปได้ยาก เพราะตอนนี้มีการนำเข้ามาขายกันจำนวนไม่น้อย ทั้งนี้ไม่ได้นำเป็นกระบอกแต่นำมาเป็นชิ้นส่วนและนำมาประกอบภายหลัง ยิ่งไม่สามารถที่จะจดทะเบียนปืนเหล่านี้ได้ การควบคุมควรจะมุ่งไปที่คนพกอุปกรณ์กีฬาประเภทนี้เป็นรายบุคคลโดยให้ไปแจ้งความจำนงต่อเจ้าหน้าที่และพิจารณาออกใบอนุญาต ทั้งนี้รวมถึงร้านขายอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย" โอ๊ต ระบุ
ขณะที่ ไตรสิทธิ์ เชาว์ธนกิจติ์ เจ้าหน้าที่สนามบีบีกันทับช้าง บอกว่าเป็นเรื่องที่ควบคุมยากมากสำหรับปืนอัดลมหรือบีบีกัน เพราะปัจจุบันอุปกรณ์กีฬาดังกล่าวนั้นมีราคาถูกเริ่มตั้งแต่ 2,000 บาทจนถึงหลักหมื่นบาทเลยทีเดียว กลุ่มคนที่นิยมบีบีกันนั้นแบ่งกันเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มลูกค้าที่ซื้อปืนไว้เพื่อการกีฬา กลุ่มที่สอง ซื้อปืนบีบีกันไว้เพื่อยิงนกหรืออะไรต่างๆ นานา
"ลูกค้ากลุ่มแรกผมมั่นใจว่ากลุ่มคนกลุ่มนี้รู้จักกติกามารยาท รู้ว่าเล่นกีฬาอย่างไร ใช้อย่างไร ไม่ให้เกิดอันตราย อย่างสนามที่ผมทำงานอยู่นี้ หรือสนามอื่นๆ จะมีการตรวจปืนที่ใช้ลงเล่นว่ามีความแรงไม่เกิน 400 ฟุตต่อวินาที หากตรวจแล้วพบว่าเกินกว่านั้นจะไม่ให้เอาปืนกระบอกนั้นลงสนามเด็ดขาด ทั้งนี้หากความแรงของปืนแรงมากกว่านี้ถึงแม้จะยืนห่าง 10 เมตรก็ทำให้กระสุนฝังในร่างกายได้ ส่วนลูกค้ากลุ่มที่สองนั้นมักจะโมดิฟายให้ปืนมีความแรง ซึ่งเป็นอันตรายมากหากนำไปใช้ไม่ถูกวิธี" ไตรสิทธิ์ ระบุ