
เชียงใหม่ปลื้มปริมาณขยะลด เปิดจุดทิ้งวัตถุอันตราย100แห่ง
เชียงใหม่-ทน.เชียงใหม่ ปลื้ม หลังรณรงค์คัดแยกขยะปริมาณฝังกลบลดลงอย่างเห็นได้ชัด รุกต่อจัดการปัญหาขยะอันตราย พร้อมกระจายจุดรับทิ้งขยะเพิ่ม ระบุต้องใช้งบเพื่อจัดการด้านนี้คิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ของที่ได้รับทั้งปี
นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ขยะในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ที่ส่งไปฝังกลบที่ อ.ฮอด มีวันละ 280 ตัน ลดลงจากก่อนหน้านี้ ที่มีวันละ 320 ตัน ซึ่งเป็นผลเนื่องจากการรณรงค์ให้มีการคัดแยกประเภทขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล เป็นการจัดการขยะแบบครบวงจร โดยขยะจะถูกแบ่งเป็นขยะอินทรีย์ที่มีวันละ 20-30 ตัน ซึ่งจะนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนขยะติดเชื้อ เช่น เข็มฉีดยา ผ้าพันแผล อุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งในเขตเมืองเชียงใหม่มีโรงพยาบาลจำนวน 18 แห่ง คลินิกอีกกว่า 300 แห่ง ในอนาคตจะประสานให้เข้าร่วมในการจัดการขยะทั้งหมด รวมถึงขยะอันตราย เช่น กระป๋องสเปรย์ ภาชนะบรรจุสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ซากเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
นายทัศนัย กล่าวว่า จะเห็นว่าก่อนหน้านี้กำหนดจุดทิ้งขยะอันตรายกว่า 15 จุด แต่เมื่อเร็วๆ นี้ได้ลงนามความร่วมมือในการจัดการขยะอันตรายกับ 6 หน่วยงาน ทั้งบริษัท เชียงใหม่สยามทีวี จำกัด สมาคมสตรีนักธุรกิจเชียงใหม่ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 เชียงใหม่ไนท์ ซาฟารี และบริษัท ฟิลลิปส์ แห่งประเทศไทย จำกัด และยังมอบภาชนะรองรับของเสียอันตรายให้แก่ 100 องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนกระจายทั่วเมืองเชียงใหม่
"ยอมรับว่า หากไม่มีการวางแผนการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ในอนาคตในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่จะมีปริมาณขยะพุ่งสูงกว่าวันละ 540 ตัน เป็นขยะที่ต้องทำลายด้วยการฝังกลบวันละกว่า 350 ตัน ซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณในการจัดการกว่า 17 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณที่เทศบาลนครเชียงใหม่ได้รับทั้งปี เพราะต้องนำขยะไปฝังกลบที่ อ.ฮอด ระยะทางห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่กว่า 100 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นการใช้งบประมาณมหาศาลมาก" นายทัศนัย กล่าว
นายซาตะ มาซาฮิโกะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโส สภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นญี่ปุ่นเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประจำประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า ที่ จ.เชียงใหม่ การเติบโตด้านเศรษฐกิจทำให้ประชากรในเขตเมืองมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่อีกด้านก็นำมาซึ่งการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหานี้องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในส่วนภูมิภาคได้ให้ความสำคัญอย่างมาก และต้องการเห็นการพัฒนาเศรษฐกิจสอดคล้องควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ในส่วนของเทศบาลนครเชียงใหม่ ทางองค์กรก็อยากเห็นความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม