ข่าว

ชาวสยามในมาเลเซีย

25 ม.ค. 2554

ผมไปมาเลเซียครั้งล่าสุดเมื่อหลังปีใหม่ นอกจากจะแวะไปเกนติ้งไฮแลนด์หลังจากที่ไม่ได้แวะไปมานานมากกว่าสองปี ยังมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยียนมะละกา หรือที่ชาวมาเลเซียออกเสียงว่า “เมละกา” ซึ่งเป็นเมืองที่ผมชอบมากอีกเมืองหนึ่งของมาเลเซีย

ตำนานการเกิดขึ้นของเมืองมะละกาเล่าเอาไว้ว่า เจ้าชายพระองค์หนึ่งในอินโดนีเซียทำการต่อสู้เพื่อแย่งชิงราชสมบัติ แต่ท้ายที่สุดพระองค์พ่ายแพ้จนต้องหนีมาถึงประเทศมาเลเซีย ขณะที่เจ้าชายประทับอยู่ที่ริมแม่น้ำแห่งหนึ่ง และกำลังคิดท้อถอยถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย

 พระองค์ทอดพระเนตรเห็นกระจงตัวหนึ่งถูกหมาป่าไล่ล่ามาจนมุมอยู่ที่ริมแม่น้ำใกล้กับที่พระองค์ประทับอยู่ เมื่อกระจงจนมุมไม่รู้จะหนีไปทางไหนได้ จึงหันกลับไปต่อสู้กับหมาป่าอย่างสุดชีวิต ท้ายที่สุดกระจงเป็นฝ่ายชนะทำให้หมาป่าล่าถอยไป ทำให้เจ้าชายพระองค์นั้นฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ขนาดกระจงยังไม่ยอมตายง่ายๆ แล้วพระองค์จะยอมท้อถอยไปทำไม

 เจ้าชายจึงหันไปถามบรรดาทหารที่ติดตามมา ว่าสถานที่แห่งนั้นชื่ออะไรแต่ไม่มีใครรู้จักสักคนเดียว นอกจากเห็นมีต้นมะขามป้อมขึ้นอยู่เต็มไปหมด พระองค์จึงทรงตั้งชื่อแห่งนั้นว่า “เมละกา” ซึ่งแปลว่ามะขามป้อมนั่นเอง และจากนั้นมา มะละกาหรือเมละกา ก็กลายเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า ระหว่างพ่อค้านักเดินทางจากแดนไกลทั้งหลาย 

 จากมะละกาผมเดินทางมากราบไหว้พระที่วัดนิโครธาราม ในเมืองไทรบุรี วัดนี้หลวงปู่ทวด แห่งวัดช้างให้ เป็นผู้มาสร้างและท่านมามรณภาพที่วัดนี้ด้วย ปัจจุบันนี้ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ยังมีคนไทยในมาเลเซีย หรือที่เรียกกันว่า “เสียม” รวมทั้งคนเชื้อชาติอื่นไปเรียนหนังสือไทยกันอย่างคับคั่ง

 คนไทยหรือเสียมในมาเลเซียถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของมาเลเซียมาตั้งแต่สมัยของท่าน ตนกู อับดุลเราะห์มาน ผู้ซึ่งมีมารดาเป็นคนไทยและท่านเคยมาเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ว่า คนสยามหรือเสียม (ซึ่งปัจจุบันนี้มีจำนวนถึง 4 แสนคน) มีศักดิ์และสิทธิเท่ากับคนมลายูทุกประการ ซึ่งคนเชื้อสายเผ่าพันธุ์อื่นๆ ในมาเลเซียไม่ได้ถูกกำหนดเอาไว้ และในความเป็นจริงก็มีสิทธิน้อยกว่ามลายูและเสียมหรือสยาม

 ในเมืองไทรบุรีนอกจากจะมีวัดนิโครธารามแล้ว ยังมีหอกลองที่ใช้ตีบอกเวลาแบบไทยตั้งตระหง่านอยู่กลางลานเมืองอีกด้วย และที่ใกล้ๆ กันมีการสร้างหอนาฬิกาซึ่งถือว่าเป็นเครื่องบอกเวลาสมัยใหม่เอาไว้เคียงคู่ โดยมีพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จมาเมื่อครั้งยังทรงครองราชย์ เพราะขณะนั้นไทรบุรีเป็นดินแดนของไทย ตั้งไว้ในบริเวณใกล้กันอีกด้วย

 นอกจากวัดนิโครธารามแล้วผมยังขับรถไปที่เมืองจิตรา ไปไหว้พระที่วัดไทยหรือวัดพุทธอีกแห่งหนึ่ง ที่มีคนไปเรียนหนังสือกันมากมายไม่แพ้กันด้วย โดยคนไทยหรือเสียมในมาเลเซียนั้นยังใช้ภาษาไทยเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ศัพท์แสงบางคำได้ยินแล้วก็น่าชื่นใจที่ยังไม่หายไปไหน เช่นเมื่อจะพูดถึงกางเกงเขาจะเรียกกันว่า “สนับเพลา” เหมือนกับที่เราใช้เป็นราชาศัพท์กันในปัจจุบัน

 ผมเล่าเรื่องมาเลเซียขึ้นมาเพราะว่าคนมาเลเซียทุกวันนี้เมื่อถึงวันศุกร์วันเสาร์ ยังพากันนั่งรถข้ามมาเที่ยวปัตตานีนราธิวาสอย่างสนุกสนานสบายใจ โดยไม่ได้กลัวข่าวร้ายเรื่องการลอบยิงลอบวางระเบิดแต่อย่างใด ว่ากันว่าบรรดานักก่อการร้ายเหล่านั้นจะไม่ทำร้ายคนมาเลเซียและรถยนต์ที่ตีทะเบียนมาเลเซีย จริงเท็จประการใดและเป็นเพราะอะไรผมไม่ทราบ เพราะเป็นเพียงแค่คนเดินทางท่องเที่ยวคนหนึ่งเหมือนกันครับ

 

พัฒนเดช  อาสาสรรพกิจ