ข่าว

ทุกข์ซ้ำหนีระเบิดเจอโจรเขมรปะทะไทย

ทุกข์ซ้ำหนีระเบิดเจอโจรเขมรปะทะไทย

09 ก.พ. 2554

น้ำตาของ "ฉวีวรรณ บุญเสนอ" หญิงชราวัย 70 ปี ชาวบ้านภูมิซรอล หมู่ 12 ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ไหลพราก ตัวสั่นเทาด้วยความชราและทุกข์โศกแสนสาหัส มือสองข้างกอดสุนัข สมบัติชิ้นเดียวที่เหลือไว้แน่น

โดยมีเพื่อนบ้านคอยปลอบโยนอยู่ภายในศูนย์อพยพ อ.กันทรลักษ์ หลังจากที่ต้องเผชิญกับสิ่งน่ากลัวที่สุดในชีวิต เมื่อเสียงปืนเสียงระเบิดดังขึ้นในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เธอทำได้เพียงอุ้มหมาและหนีเพื่อเอาชีวิตรอด ทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลัง

 แต่เมื่อเสียงปืนห่างไป สถานการณ์ดีขึ้น หญิงชรากลับต้องทุกข์หนักแทบยืนไม่อยู่ เมื่อได้รับข่าวจากเพื่อนบ้านที่กลับไปดูทรัพย์สินบอกว่า บ้านเธอถูกงัด สมบัติทุกชิ้นอันตรธานหายไป!!

 ยายฉวีวรรณ เล่าว่า สามีเสียชีวิตไปแล้วหลายปี ไม่มีลูกหลาน ที่ผ่านมาอาศัยอยู่เพียงตามลำพังกับสุนัข 1 ตัว หลังเกิดเหตุปะทะวันแรกก็ทิ้งบ้านไว้อพยพหนีภัยสงครามมาอยู่ที่ศูนย์อพยพ แต่เมื่อได้ทราบข่าวจากเพื่อนบ้านว่าถูกงัดบ้าน

  “สิ่งที่เสียดายมากที่สุดคือ ขันเงินแท้ สินสอดวันแต่งงานกับสามีที่เก็บรักษาเอาไว้นานกว่า 50 ปี นอกจากมีค่ามีราคาแล้ว ยังมีค่าสูงมากทางจิตใจ จะนำมามองดูทุกครั้งที่คิดถึงสามี เก็บไว้อย่างดีแต่กลับถูกขโมยไป พวกผ้าไหม ผ้าถุง ถูกเอาไปหมด แม้แต่หม้อไหก็ไม่เว้น หมดตัวแล้ว..อยากให้ตำรวจช่วยด้วย ที่สำคัญอยากได้ขันเงินคืนมา" หญิงชรา กล่าวทั้งน้ำตา

 สถานการณ์การสู้รบที่ไม่รู้ว่าจะยุติเมื่อใด ระเบิดจะตกลงมาสร้างความสูญเสียกับทรัพย์สินอีกหรือไม่ แถมยังถูกกระหน่ำด้วยโจรร้ายขโมยทุกอย่างที่ขวางหน้า ทำให้ชาวบ้านภูมิซรอลต่างตัดสินใจนำสมบัติไปขายแปรเปลี่ยนเป็นเงิน เอาไปฝากกับธนาคาร ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดปลอดภัยที่สุดสำหรับทรัพย์สินในภาวะศึกสงครามเช่นนี้
 
 "หนูจันทร์  แสงคำ" ชาวบ้านภูมิซรอล หมู่ 13 หนึ่งในชาวบ้านที่ต้องตัดใจขายข้าวเปลือก ซึ่งเดิมตั้งใจเก็บไว้กินตลอดปี แต่ด้วยภาวะไม่ปลอดภัยจึงตัดสินใจขายไปเกือบหมด

 หนูจันทร์บอกว่า หลังจากเห็นยุ้งฉางของเพื่อนบ้านใกล้เคียง เกิดไฟลุกไหม้จากกระสุนปืนใหญ่ของทหารกัมพูชาจนเสียหาย จึงรีบนำข้าวเปลือกในยุ้งฉางที่มีอยู่กว่า 300 ถังขึ้นรถบรรทุกไปขายที่โรงสีข้าวในตัวเมืองศรีสะเกษ เหลือติดยุ้งไว้กินในครอบครัวเพียง 4-5 กระสอบ เพราะเกรงว่าหากไม่นำไปขายอาจจะถูกมิจฉาชีพเข้ามาขโมยข้าวที่มีอยู่ หรืออาจถูกกระสุนปืนของทหารกัมพูชาได้รับความเสียหาย

 นายบรรยงค์ ตั้งสุข  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 13 เล่าว่า หมู่บ้านภูมิซรอลมีกว่า 300 หลังคาเรือน ขณะนี้ชาวบ้านทั้งหมดอพยพหนีภัยสงครามออกไปอยู่ที่ศูนย์อพยพชั่วคราวทั้งหมดแล้ว  ส่วนทรัพย์สินภายในบ้าน ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะขายเกือบหมดเพื่อให้ง่ายต่อการเดินทางอพยพ เหลือเพียงบ้านเปล่าและของไม่มีค่าไว้เท่านั้น

 สำหรับชาวบ้านที่ต้องการขนข้าวเปลือกไปขายที่โรงสีได้จัดเตรียมรถบรรทุกช่วยขนข้าวไปขาย ส่วนชาวบ้านบางรายที่ไม่ต้องการขายทรัพย์สินมีค่าหรือข้าวเปลือก ทาง อบต.เสาธงชัย ได้จัดเจ้าหน้าที่ 1 ชุดเข้ามาช่วยดูแลทรัพย์สิน คอยเป็นตำรวจบ้าน ที่คอยสอดส่องดูแลทรัพย์สิน เพื่อป้องกันกลุ่มมิจฉาชีพที่เข้ามาลักขโมยในช่วงที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน

 เมื่ออยู่ภาวะคับขันเช่นนี้ ผู้นำชุมชนและผู้ชายในหมู่บ้าน ต่างก็ต้องระดมกำลังกันมาช่วยเหลือ ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของคนในหมู่บ้าน รวมตัวกันตั้ง "มิสเตอร์เตือนภัย" ขึ้น

 "โชคชัย แสนแก้ว" นายก อบต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ เล่าว่า คิดร่วมกันว่าต้องหาทางเตือนภัยชาวบ้าน เพื่ออพยพหนีให้ทันระเบิด และเมื่อบ้านร้างไม่มีผู้คน กลุ่มมิสเตอร์เตือนภัยก็ต้องทำหน้าที่ "ผู้กล้า" คอยพิทักษ์ทรัพย์สินของชาวบ้านอีกทางหนึ่งด้วย

 "มิสเตอร์เตือนภัย" จะต้องมีอาวุธประจำกายแล้วแต่จะหามาได้ ส่วนใหญ่เป็นปืนลูกซอง ต้องมีไฟฉาย วิทยุสื่อสาร โทรโข่ง ไฟแช็ก ตะเกียงเจ้าพายุ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ อาหารและน้ำ ต้องพกไว้เตรียมพร้อมเสมอ เข้าเวรยามเฝ้าระวังกระสุนปืนใหญ่ที่หลุมหลบภัยใน อบต. เฝ้าฐาน 6-7 คน ทำหน้าที่คอยประสานสายข่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร ที่อยู่บนเขตชายแดนว่ามีความเคลื่อนไหวของทหารกัมพูชาหรือไม่ จากนั้นก็รายงานไปยังเจ้าหน้าที่สมาชิก ส.อบต.ที่ประจำอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ ทั้ง 13 หมู่บ้านในตำบล หากเกิดเหตุก็รีบประสานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อป่าวประกาศผ่านหอกระจายข่าวให้อพยพชาวบ้านทันที

   นอกจากนี้ ยังต้องคอยซุ่มเฝ้าดูคนแปลกหน้าที่เข้ามาในพื้นที่ ทั้งเป็นสายข่าวของกัมพูชา และพวกหัวขโมยที่เข้าสร้างความเดือดร้อนเพิ่มทวีคูณให้คนในพื้นที่ หากตรวจพบมิสเตอร์เตือนภัยก็จะจับกุม ประสานเจ้าหน้าที่มารับตัวไปสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
        
    -  สมโภชน์ สมบัติ - มนูญ มุ่งชู  -