วัฒนธรรมบ้านเชียง มรดกโลกมีทั้งสองฝั่งโขง
บ้านเชียง แหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียง (ที่ อ.หนองหาน จ.อุดรธานี) เป็นชื่อใหม่ที่มีชาวบ้านบอกว่าน่าจะเพิ่งเรียกราว 100 ปีมานี้
คำว่า เชียง มีหลายความหมาย เช่น เมือง นักบวช สามเณรลาสิกขา ฯลฯ ขณะนี้ยังไม่พบคำอธิบายว่าเชียงในชื่อบ้านเชียงหมายถึงอะไรแน่!
วัฒนธรรมบ้านเชียง หมายถึงเครื่องมือเครื่องใช้ขุดพบที่บ้านเชียง มีอายุไม่เกิน 4,000 ปีมาแล้ว เช่น เครื่องมือทำด้วยโลหะ สัมฤทธิ์ เหล็ก และเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสี ฯลฯ มีพบทั้งในเขตอีสานเหนือตลอดสองฝั่งโขงถึงหนองหานหลวง (สกลนคร) และเวียงจันทร์ (ลาว)
เทคโนโลยีในวัฒนธรรมบ้านเชียงนี้ มีคนในชุมชนบ้านเชียงยุคนั้นทำสืบเนื่องต่อมาจนถึงราวหลัง พ.ศ. 1000 หรือ ยุคทวารวดี กระทั่งราวหลัง พ.ศ. 1600 แล้วไม่มีทำอีก แสดงว่าร้างผู้คนแล้ว
เพราะคนในชุมชนโยกย้ายไปตั้งหลักแหล่งที่อื่นที่เจริญก้าวหน้ากว่า เช่น ไปอยู่ทางอีสานใต้ และทางลุ่มน้ำยม-น่าน เขตรัฐสุโขทัย แล้วทำเทวรูปและพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ยุคสุโขทัย
งานมรดกโลกบ้านเชียง ควรแบ่งปันความรู้ที่แท้จริงตามพยานหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีที่พบจริงๆ ไม่ควรอธิบายตามใจชอบ
" เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"