ข่าว

อุตฯเพิ่มโควตา ก สกัดน้ำตาลขาดตุนไว้รวม28ล้านกระสอบ-ยันผลผลิตมากไร้ปัญหา

อุตฯเพิ่มโควตา ก สกัดน้ำตาลขาดตุนไว้รวม28ล้านกระสอบ-ยันผลผลิตมากไร้ปัญหา

02 มี.ค. 2554

กระทรวงอุตฯ ห่วงน้ำตาลมีปัญหาซ้ำรอยปาล์ม วางแผนสกัดสั่งเพิ่มโควตา ก อีก 6 ล้านกระสอบ รวมเป็น 28 ล้านกระสอบ เชื่อไม่มีปัญหาแน่ ด้าน สอน.เร่งผลิตน้ำตาลทรายถุง 1 กิโลกรัมวางในห้างค้าปลีก

 นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานถึงสถานการณ์น้ำตาลทรายต่อที่ประชุม ครม. โดยระบุว่าผลผลิตอ้อยจะมีปริมาณมากจึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาการขาดแคลน แต่ก็เตรียมมาตรการรับมือไว้แล้วหากเกิดปัญหา โดยได้เพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายเพื่อบริโภคภายในประเทศ หรือโควตา ก ในปีนี้ขึ้นอีก 25% หรือเพิ่มอีก 6 ล้านกระสอบ เป็น 28 ล้านกระสอบ

 พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดออกตรวจสอบสต็อกน้ำตาลทรายอย่างเข้มงวด และขอให้หน่วยงานความมั่นคงดูแลและตรวจสอบการขนน้ำตาลทรายไปขายต่างประเทศด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมไปร่วมกันดูแล

 นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ขณะนี้ สอน.ได้ขอความร่วมมือโรงงานผลิตน้ำตาลถุง 1 กิโลกรัม ทั้ง 4 ราย ให้ส่งน้ำตาลทรายเข้าห้างค้าปลีกสมัยใหม่ หรือโมเดิร์นเทรดตามปกติ เพื่อไม่ให้ขาดแคลน ดังนั้น ประชาชนจึงไม่ต้องตื่นตระหนกเหมือนปัญหาน้ำมันปาล์ม ซึ่งการที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้เพิ่มโควตา ก เพราะต้องการเพิ่มปริมาณน้ำตาลเข้าสู่ตลาดให้มากขึ้น เพื่อดับกระแสน้ำตาลขาดแคลน

 นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานคณะทำงานด้านนโยบายและบริหารอุตสาหกรรม บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า การเพิ่มน้ำตาลโควตา ก เป็น 28 ล้านกระสอบ ถือว่าเป็นปริมาณสูง และจะทำให้ภายใน 2 ปี น้ำตาลโควตา ก จะเพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านกระสอบ อาจสูงเกินความต้องการจริง อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ในระบบแบ่งปันผลประโยชน์

 "ขณะนี้น้ำตาลในตลาดโลกราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลให้น้ำตาลโควตา ก ไหลออกนอกประเทศ ผ่านการลักลอบส่งออกและผ่านการผลิตอาหารส่งออก ซึ่งที่ผ่านมาผู้ผลิตน้ำตาลได้สนับสนุนเรื่องการลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ เพื่อให้ราคาน้ำตาลในประเทศสะท้อนกับราคาน้ำตาลที่แท้จริง" นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

 นายวัชระ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบให้โรงงานน้ำตาล 7 แห่ง เปลี่ยนแปลงการย้ายสถานที่ตั้งหรือการขอนำกำลังการผลิตไปตั้งที่ใหม่ และขยายกำลังการผลิตด้วย ได้แก่ 1.เห็นชอบให้บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด จาก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ไป อ.เมือง จ.กาญจนบุรี 2.บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลชลบุรี จำกัด จาก อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ ไป อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ 3.บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด ตั้งใหม่ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย 4.บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด ตั้งใหม่ที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ 5.บริษัท น้ำตาลระยอง จำกัด ตั้งใหม่ที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ 6.บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด ตั้งใหม่ที่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว 7.บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด ตั้งใหม่ที่ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร