
ระทึกกรุงเทพฯ..6ริกเตอร์ตึกเก่าทลาย
แผ่นดินไหวขนาด 6.7 ริกเตอร์จาก "รอยเลื่อนน้ำมา" ในประเทศพม่า รับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ถึงกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะอาคารสูง ทำให้เกิดคำถามว่า ตึกในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีสภาพดินอ่อนตัวด้วยนั้น จะมีโอกาสพังทลายลงมาหรือไม่ หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีเรื่องความปลอดภัยของผู้พักอาศัยที่มีความเสี่ยงหากตึกขนาดใหญ่ถล่มทับลงมา
ขณะเดียวกัน กทม.โดยนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าฯ ได้สั่งให้ตรวจสอบความเสียหายตึกสูงบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นใน อาทิ ตึกใบหยก,โรงแรมดุสิตธานี, ศูนย์การค้ามาบุญครอง รวมถึงอาคารพาณิชย์ย่านสาทร, สีลม และถนนวิทยุ ที่สร้างก่อนปี 2550 ซึ่งพ.ร.บ.ควบคุมอาคารปี 2550 ประกาศใช้ โดยให้อาคารสูงกว่า 23 เมตร หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ พื้นที่มากกว่า 1 หมื่นตารางเมตร โครงสร้างอาคารต้องรับแรงสั่นสะเทือนได้ตั้งแต่ 5 ริกเตอร์ขึ้นไป ทั้งตัวอาคารจะต้องมีสิ่งยึดกระจกหรือโครงสร้างภายนอกเพื่อป้องกันการปลิวจากแรงลมด้วย
รศ.อำนวย พานิชกุลพงศ์ กรรมการสภาวิศวกร ยืนยันว่า ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลหากแผ่นดินไหวแค่ 6 ริกเตอร์ ที่มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศไทย อาคารเก่าจะถล่มลงมา ขนาดแผ่นดินไหวในพม่าห่างจากเชียงใหม่ถึง 200 กิโลเมตร บ้านเราก็ได้รับผลกระทบแล้ว
"ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างอาคารสูงเพื่อรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ตึกที่สร้างขึ้นหลังปี พ.ศ.2550 ไม่ค่อยน่าเป็นห่วง แต่ตึกเก่าที่สร้างมาก่อนหน้านี้จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ต้องมีการตรวจสอบแบบแปลนการปลูกสร้างย้อนหลัง แล้วมาวิเคราะห์กันทีละตึกว่าจะต้องมีการเสริมป้องกันอย่างไร นอกจากตึกสูงแล้ว ยังมีอาคารพาณิชย์ที่สร้างมาเป็นเวลานาน ตัวอย่างที่ญี่ปุ่นมีการแตกร้าวของอาคารพาณืชย์ ประเทศไทยก็ควรตรวจสอบตึกเก่าเหล่านี้ด้วย" รศ.อำนวย กล่าว
ด้าน รศ.ดร.อมร พิมานมาศ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ตึกไหนเสี่ยงคงต้องไปดูรายละเอียดเพราะทีมของกทม.เข้าไปสำรวจเบื้องต้น เป็นการสำรวจด้วยตา ต้องดูรายละเอียดการเสริมเหล็กและมีแบบโครงสร้างเข้ามาประกอบ ตึกเสี่ยงก็คือตึกที่มีความสูง 8 ชั้นขึ้นไป และก่อสร้างโดยที่ไม่ได้ใช้คาน จำพวกลานจอดรถ และอีกประเภทคือบ้านจัดสรรที่นิยมใช้แบบบ้านสำเร็จรูปที่เอาอุปกรณ์มาวางต่อกัน แล้วตึกแถวที่ไม่ได้ควบคุมคุณภาพและไม่มีวิศวกรมาคุมงาน พวกนี้มีความเสี่ยง
"ตึกสูงถึงแม้จะมีความเสี่ยงในการโยกตัว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าตึกจะเสียหาย หรือถล่มลงมา จริงๆ แล้วการก่อสร้างตึกสูงจะมีวิศวกรควบคุมงาน มีเสาขนาดใหญ่ มีการรองรับน้ำหนักมีความแข็งแรง ยกเว้นตึกสูงๆ ที่มีลูกเล่นเยอะมีส่วนเว้าส่วนโค้งส่วนยื่นมาก ตึกพวกนี้น่ากลัว แต่ถ้าเป็นตึกที่เป็นแท่งสี่เหลี่ยมขึ้นไปมีเสาวางเรียงกันสม่ำเสมอ พื้นที่ล่างไม่ได้เปิดเป็นที่โล่งจนเกิดไป ก็เป็นตึกที่มีความปลอดภัย" ดร.อมร อธิบาย
"คม ชัด ลึก" ได้ออกสำรวจตึกสูงเช่น ออลซีซันส์ เพลส หนึ่งในตึกเสี่ยงที่อาจเกิดผลกระทบจากแผ่นดินไหวในกทม.พบว่า ประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นยังคงกังวลกับความเสี่ยงดังกล่าว อัคคนิตย์ บุญลาภรัตน์ เจ้าของร้าน Angeli บอกว่า แผ่นดินไหวเริ่มเกิดขึ้นใกล้ตัวมากขึ้น ส่วนตัวก็กังวลอยู่บ้าง ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็พยายามติดตาม ถามว่าจะรับมือยังไงก็ยังไม่ได้คิดเพราะถ้ามีอะไรทางตึกก็คงจะแจ้ง ตอนนี้พยายามอ่านคู่มือแผ่นดินไหวว่าต้องทำยังไง
เมืองแก้ว หล้ากอง หัวหน้าชุดรักษาความปลอดภัย ของตึกออลซีซั่นส์ เพลส บอกว่าภายในห้องซีซีทีวี มีการเตรียมพร้อมไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิต ถังดับเพลิงและอุปกรณ์ป้องกันไฟไหม้ รวมถึงทีมเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินอีก 30 คน มีการฝึกซ้อมเป็นประจำ มั่นใจโครงสร้างตึก แต่ถ้ามาเกิดในบ้านเราก็น่าเป็นห่วง
"แพรพรรณ” นักศึกษาที่มาเรียนภาษาญี่ปุ่นในตึกเอ็มไพร์ทาวเวอร์ หนึ่งในตึกเสี่ยงตามข้อมูลของกทม.บอกว่า หวั่นอยู่เหมือนกัน เพราะคาดการณ์ไม่ได้ แต่ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวอยู่แล้ว ของเราตอนสร้างตึกก็ไม่ค่อยคิดถึงเรื่องความปลอดภัยไม่เหมือนญี่ปุ่นที่คำนึงถึงตรงนั้น แต่เราก็มั่นใจว่าตึกนี้น่าจะเตรียมการรองรับมาอย่างดี เราก็มีการศึกษามาเรื่องทำยังไงหากเกิดจากแผ่นดินไหว
ส่วน สุนี บัวนาค พนักงานที่อยู่ชั้น 20 ของตึกนี้บอกว่า ตอนเกิดเหตุที่พม่าก็ไม่ได้รู้สึกถึงความสั่น ถามว่ากลัวไหมก็ตอบว่าไม่กลัวนะ เพราะมั่นใจในคุณภาพตึก แล้วก็ไม่มีรอยร้าว รอยแตกอะไร ไม่ได้รู้สึกอะไรถึงแม้จะเป็นหนึ่งในสิบสองตึกเสี่ยง เรามีการซ้อมรับแผ่นดินไหว มีการเตรียมพร้อมสอนการป้องกันตัวเองเช่นไม่ให้ใช้ลิฟต์แต่ใช้บันไดหนีไฟแทน