ข่าว

ซีเอสอาร์ลวงโลก

ซีเอสอาร์ลวงโลก

29 มี.ค. 2554

5-6 ปีที่ผ่านมาคนที่ติดตามข่าวคราวประชาสัมพันธ์ขององค์กรต่างๆ ทั้งองค์กรทางการค้าและหน่วยงานทางราชการทั้งหลาย คงจะคุ้นเคยกับคำว่า ซีเอสอาร์ (CSR)

 จนแทบจะกลายเป็นคำไทยทับศัพท์ไปแล้ว ซึ่งโดยความหมายแท้จริงทางทฤษฎีจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ความหมายของคนส่วนใหญ่ที่เข้าใจเกี่ยวกับซีเอสอาร์ ก็คือ การทำงานสาธารณประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนทุกระดับ โดยไม่หวังผลตอบแทนโดยตรงในด้านธุรกิจ

 ยิ่งมีข่าวคราวเกี่ยวกับภัยทางธรรมชาติเกิดขึ้นมากเท่าไหร่ หรือเมื่อมีการพูดถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านลบ เช่น ภาวะโลกร้อน หรือปฏิกิริยาเรือนกระจกเกิดขึ้น การประชาสัมพันธ์ผลงานในเชิงซีเอสอาร์ ก็ยิ่งถูกตีปี๊บกันมากขึ้น

 การทำงานที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น ชักชวนพนักงานและคู่ค้าไปปลูกป่า การรณรงค์ให้คนทั่วไปตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี การพยายามอนุรักษ์สัตว์โลกที่หายาก หรือแม้แต่การเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชน เพื่อรักษาวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นเอาไว้ กลายเป็นงานหลักของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เดิม หรือบางองค์กรถึงกับยกระดับ ด้วยการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาดูแลแยกออกไปต่างหาก

 ยุคนี้ พ.ศ.นี้หากองค์กรหรือหน่วยงานใด ไม่มีผลงานในเชิงซีเอสอาร์ ออกมาบอกกับผู้คนในสังคม ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรนั้น คงเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจได้ไม่เต็มที่ เพราะไม่สามารถเอามาอวดอ้างได้ว่า องค์กรของตนเองคือผู้ที่ห่วงใยและเอาอกเอาใจ คอยดูแลสังคมและผู้อื่นที่อยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้

 แต่ท่ามกลางกระแสการทำงานแบบซีเอสอาร์กำลังเชี่ยวกราก สังคมก็ยังได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเชิงลบเกิดขึ้นทุกวี่วัน ข่าวโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลองโดยไม่ทำการบำบัดเสียก่อน ทำให้ปลาตายลอยเป็นแพเต็มแม่น้ำ ทั้งที่โรงงานนั้นมีข่าวทำความดีเพื่อสังคมในรูปแบบอื่นปรากฏอยู่หลายครั้ง

 หรือข่าวสินค้าที่ผลิตจากโรงงานใหญ่ที่มีชื่อเสียง เป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นมาต่ำกว่าระดับมาตรฐาน ทำให้ผู้บริโภคบาดเจ็บหรือเจ็บไข้ได้ป่วย จากการใช้หรือบริโภคสินค้านั้น ในขณะที่ฝ่ายดูแลภาพลักษณ์องค์กร ก็เดินหน้าสร้างกิจกรรมให้เห็นว่า องค์กรของตนเองนั้นดูแลเอาใจใส่ต่อสัตว์โลกทุกชีวิต   

 ธนาคารเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ใช้งบประมาณสำหรับการเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กรปีละหลายร้อยล้านบาท ทั้งการบริจาคเพื่อสาธารณกุศล การสร้างกิจกรรมเพื่อชุมชนระดับประเทศ และการเข้าร่วมกับองค์กรและหน่วยงานระดับอื่นๆ จัดงานการกุศลขึ้นมา จนทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาเชื่อมั่น ถึงขั้นอยากที่จะนำเงินไปฝากเอาโครงการไปกู้ ไปร่วมทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารดังกล่าว  ด้วยความรู้สึกตื้นตันและรู้สำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมของธนาคารนั้น

 ครั้นธนาคารดังกล่าวต้องการก่อสร้างอาคารใหม่ขึ้นมา แทนที่จะให้ผู้รับเหมาก่อสร้างใช้เส้นทางด้านหน้าของธนาคาร ซึ่งเป็นถนนหลวงใหญ่ ทำการขนวัสดุก่อสร้างทั้งหินดินทรายและปูนซีเมนต์ กลับให้รถขนวัสดุเหล่านั้นไปใช้เส้นทางด้านหลังของธนาคารที่เป็นทางซอยเล็กในหมู่บ้านจัดสรรหรือชุมชนที่อยู่อาศัย อ้อมเข้าประตูด้านหลังของธนาคาร
 
 โดยไม่คำนึงถึงว่ารถบรรทุกขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมาก และบางครั้งเป็นรถพ่วง 18 ล้อที่มีทั้งความยาวเก้งก้าง และบรรทุกน้ำหนักมากถึงขั้นที่บ้านเรือนไหวโยนตัวเมื่อวิ่งผ่าน จะทำให้การจราจรในซอยเล็กติดขัดหรือจะทำให้ผิวถนนซอยเสียหาย หรือจะทำให้ชีวิตในวันหยุดพักผ่อนของคนในหมู่บ้านเล็กๆ ต้องเดือดร้อนจากการกระทำดังกล่าวเพียงใด

 การบริหารงานในลักษณะดังกล่าวที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนั้นจะเห็นได้ว่า งานซีเอสอาร์ที่ตามหลักการดูจะเป็นงานที่สวยหรูเชิดชูองค์กร บางครั้งก็เป็นเพียงผลงานจอมปลอมลวงโลก เข้าลักษณะ “มือถือสาก ปากถือศีล” ที่ทำไปก็เสียดายงบประมาณเปล่าๆ นั่นเองครับ

พัฒนเดช  อาสาสรรพกิจ