"ไส้เดือนดิน"พยากรณ์พิบัติภัย?!!
หลังจากมนุษย์ต้องเผชิญหน้ามหาพิบัติภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบโลก ทั้งที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันไม่ทันตั้งตัว หรือค่อยๆ ก่อเกิดขึ้นมาอย่างช้าๆ จนไม่ทันรู้ตัว แต่สรรพสัตว์ที่อยู่ร่วมกับมนุษย์ต่างหากที่เป็นผู้อ่อนไหวและรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแม้เพียงเ
นักวิจัยในหลายประเทศถึงเริ่มเบนเข็มมาศึกษาพฤติกรรมสัตว์ต่างๆ ที่อาจช่วยเตือนภัยพิบัติที่มนุษย์ไม่อาจรับรู้ได้ ส่วนในประเทศไทยเริ่มมีนักวิจัยที่หันมาสนใจพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของสัตว์เลือดเย็นตัวเล็กๆ ที่เรียกว่า "ไส้เดือนดิน" อาจจะช่วยไขปริศนาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่คนไทยต้องเผชิญ
เมื่อ 3 ปีก่อน รศ.ดร.อานัฐ ตันโช นักวิชาการภาควิชาทรัพยากรดินและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เริ่มทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการกำจัดขยะสดโดยใช้ไส้เดือนดินมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ และได้เปิดโรงเรือนไส้เดือนดินขนาดใหญ่ หรือ “บ้านไส้เดือนดิน” 6 หลัง เพื่อศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมทางกายภาพและสิ่งแวดล้อมของไส้เดือนอย่างจริงจัง จนพบว่าไส้เดือนเริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิมโดยเฉพาะไส้เดือนทางภาคเหนือและภาคอีสาน
"โดยปกติแล้วธรรมชาติของไส้เดือนนั้น จะมีการอพยพย้ายถิ่นฐาน เคลื่อนที่ออกจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมไปสู่สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะเป็นช่วงที่ไส้เดือนอพยพมาก เนื่องจากไส้เดือนเป็นสัตว์เลือดเย็น ไม่มีตา หู จมูก และฟัน จะใช้ต่อมรับรู้ใต้ผิวหนังในการดูด หายใจ ฟังเสียงและสัมผัสทั้งหมด จึงต้องการแหล่งที่อยู่ที่มีความชื้นและไม่แฉะ แต่เมื่ออากาศหนาว อย่างบนดอยก็จะอพยพลงมาบนพื้นราบ หากถูกน้ำท่วมขังจะอพยพขึ้นมาบนพื้นดิน" รศ.ดร.อานัฐเล่าถึงพฤติกรรมของไส้เดือนดิน
แต่การศึกษาวิจัยและการเก็บข้อมูลจากชาวบ้านทำให้ รศ.ดร.อานัฐ พบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมของไส้เดือนดิน เช่นในทุกๆ ปี ที่บ้านป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ จะมีไส้เดือนนับล้านตัวอพยพลงมาจากบนดอยเนื่องจากอากาศหนาวจัด ซึ่งจะใช้เวลาอพยพนานนับสัปดาห์จนทำให้ชาวบ้านไม่กล้าลงจากบ้าน โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอน แต่ในช่วง 2-3 ปีผ่านมา ไม่พบการอพยพของไส้เดือนนับล้านตัวอีกเลย อาจเป็นสิ่งที่บ่งชี้ได้ว่าสภาพอากาศเริ่มเปลี่ยนแปลง หรือกำลังอยู่ใน "สภาวะโลกร้อน" ซึ่งมีผลทำให้ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงสัตว์ต่างๆ และมนุษย์ ต้องรับมือกับวิกฤติความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ผศ.สุพจน์ เอี้ยงกุญชร อาจารย์คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เสริมว่า สภาพอากาศที่แปรปรวนได้ส่งผลกระทบต่อพืชและสัตว์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพืชที่ไวต่ออุณหภูมิที่มีผลต่อการติดดอกออกผล ขณะที่สัตว์ต้องล้มตายจำนวนมากจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน
"สองปีที่ผ่านมาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติมีมากขึ้นตามลำดับ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจเรียกได้ว่า "อากาศวิปริต" อย่างช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่เกิดอากาศหนาวกลางฤดูร้อน เกิดน้ำท่วมกลางฤดูแล้ง คงเป็นผลมาจากความเปลี่ยนของสภาพอากาศ ประชาชนและเกษตรกรต้องเตรียมการป้องกันด้วยการรู้เท่าทันและติดตามความเคลื่อนไหวของการเปลี่ยนแปลงสภาพของอากาศอย่างใกล้ชิด" ผศ.สุพจน์แนะนำ
ด้าน นสพ.ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม สัตวแพทย์ด้านการจัดการภัยพิบัติ สมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (WSPA Asia) ให้ความเห็นสนับสนุนถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปมีผลกระทบต่อลักษณะทางกายภาพของสัตว์และสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้อย่างแน่นอน เช่น ปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ซึ่งทำให้กระแสน้ำในทะเลเปลี่ยนทิศทาง การหากินของสัตว์ทะเลก็ต้องเปลี่ยนไป นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้สัตว์ประจำถิ่นต้องอพยพย้ายแหล่งหากินด้วย
แม้ว่าจะยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไส้เดือนดิน จะส่งสัญญาณถึงภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น!! แต่ทุกวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ต้องคอยระวังและรับมือกับภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ ที่กำลังถาโถมเข้ามาอยู่แล้ว
ล่าสุด นายรักชัย ศรีนวล เวรพยากรณ์อากาศ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ประกาศเตือนประชาชนในภาคเหนือตอนบนให้เตรียมการรับมือกับพายุฝนและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะ จ.แพร่ และ จ.น่าน ระหว่างวันที่ 5-6 เมษายนนี้ ซึ่งเป็นผลจากอิทธิพลจากความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่แผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนกระจายในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนร้อยละ 20-30 แต่จะไม่ทำให้อากาศหนาวเย็นเหมือนที่เคยเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 มีนาคม ที่ผ่านมา
นายธวัช เพชรวีระ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน แจ้งว่า นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้ลงนามหนังสือด่วน แจ้งเตือนไปยังทุกอำเภอให้เตรียมการรับมือกับภัยธรรมชาติช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่ ปภ.น่าน ได้แจ้งเตือนผ่านสื่อรายการวิทยุในจังหวัดทุกสถานีให้ประชาชนเตรียมความพร้อมในการดูแลความมั่นคงแข็งแรงของที่อยู่อาศัย เนื่องจากที่ผ่านมามีบ้านเรือนเป็นจำนวนมากต้องเสียหายจากพายุฤดูร้อน ขณะเดียวกันได้แจ้งเตือนไปถึงเกษตรกรให้เก็บเกี่ยวผลผลิตที่อาจได้รับผลกระทบด้วย