ข่าว

ตร.โยธาฯรังสรรค์งานสร้างเรียลเอสเตท"ตำรวจ"

17 เม.ย. 2554

โรงพักกว่า 1,500 แห่ง แฟลตตำรวจ โรงพยาบาลตำรวจ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตลอดจนอาคารสำนักงานต่างๆ ภายใต้ตราสัญลักษณ์ "พระแสงดาบเขนและโล่" นั้น จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า...แบบแปลน การก่อสร้าง ตลอดจนการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเหล่านี้ ล้วนเกิดจาก "สมอง" และ "สองมือ" ขอ

 ภายใต้การควบคุมของ พล.ต.ต.วิชัย เจริญผ่อง ผู้บังคับการกองโยธาธิการตำรวจ (ผบก.ยธ.) ที่เปรียบเหมือน "วิศวกรใหญ่" แห่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี พ.ต.อ.ปัทเมฆ สุนทรานุยุตกิจ รอง ผบก.ยธ. หรือ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาชีพและเชี่ยวชาญ เป็นมือขวาผู้พรั่งพร้อมด้วยทีมสถาปนิก วิศวกร และมัณฑนากร ผู้มีความเชี่ยวชาญให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนภารกิจหลักของตำรวจทุกนาย

 -ขอบข่ายความรับผิดชอบของกองโยธาธิการตำรวจ
 พล.ต.ต.วิชัย : จะดูแลการบริหารที่ดินและสิ่งก่อสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นโรงพัก ที่ทำการ แฟลตตำรวจ บ้านพักเรือนแถว รวมถึงโรงพยาบาลตำรวจ โรงจอดเฮลิคอปเตอร์ สนามยิงปืน อาคารจอดรถ ตลอดจนสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน้าที่ของกองโยธาธิการตำรวจ โดยจะดูแลเรื่องการออกแบบ ซึ่งเราจะมีแบบมาตรฐานอยู่แล้ว เช่น โรงพักจะมีแบบมาตรฐานขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ในการก่อสร้างแต่ละครั้งต้องดูทั้งจำนวนคนและขนาดพื้นที่ด้วย อย่างการก่อสร้างโรงพัก ถ้ามีพนักงานสอบสวนไม่เกิน 4 นาย จะใช้เป็นแบบมาตรฐานขนาดเล็ก หากมีพนักงานสอบสวน 4-10 นาย จะใช้แบบมาตรฐานขนาดกลาง และมีพนักงานสอบสวนตั้งแต่ 10 นายขึ้นไป ต้องเป็นแบบมาตรฐานขนาดใหญ่

 พ.ต.อ.ปัทเมฆ : ไม่เฉพาะการก่อสร้างเท่านั้น รวมไปถึงการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารต่างๆ ด้วย อย่างกรณีน้ำท่วมภาคใต้ก็ต้องลงไปสำรวจความเสียหายของอาคารต่างๆ หรือรอในพื้นที่แจ้งความเสียหายมาก่อน

 -โรงพักเก่าๆ ดูแลซ่อมแซมอย่างไร
 พ.ต.อ. ปัทเมฆ : จะดูเป็นกรณีไปว่าจะอนุรักษ์ไว้แบบเดิม หรือรื้อเพื่อสร้างใหม่ อย่างโรงพัก สน.มีนบุรี ก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แถมยังขึ้นเป็นทะเบียนของกรมศิลป์ จึงต้องย้ายไปสร้างที่ใหม่ การที่จะรื้อหรือไม่นั้น ต้องประเมินด้วยว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์หรือไม่ ถ้าไม่เข้าข่ายก็รื้อได้ ส่วนเกณฑ์พิจารณาว่าจะทุบทิ้งหรือสร้างใหม่ต้องดูจำนวนปี และดูประวัติความเป็นมาของแต่ละพื้นที่ด้วย อย่างกรณีวังปรารุสก์ ที่ตั้งของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กรมศิลป์ก็ขึ้นทะเบียนไว้ เพราะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ก็กำลังปรับปรุงซ่อมแซมใหม่ทั้งหมด

 -การปรับปรุงอาคารพักตำรวจ
  พ.ต.อ.ปัทเมฆ : จะทำงานร่วมกับกองสวัสดิการตำรวจถึงรูปแบบการซ่อมแซม หรือทุบทิ้ง อย่างบ้านพักลือชา อยู่แถวพญาไท เป็นตึกแถวเก่าแก่ 5 ชั้น จะมีการทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่เป็นอาคาร 8 ชั้น ตามกฎหมายเทศบัญญัติว่า เนื่องจากพื้นที่นี้รถดับเพลิงเข้าไม่ได้ โดยออกแบบใหม่ใช้พื้นที่ 100 ยูนิต โดยเริ่มก่อสร้างอาคารในพื้นที่สนามฟุตบอลเก่าก่อน 3 หลัง ให้มีลักษณะคล้ายคอนโดมิเนียม มีขนาดห้องใหญ่กว่าเดิม มีแอร์ด้วย เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงให้ย้ายจากอาคารเก่า 5 ชั้น มาอยู่พักในอาคารใหม่ ก่อนทุบอาคารเก่าทิ้งเพื่อสร้างใหม่อีก 5 หลัง

 พล.ต.ต.วิชัย :  ตำรวจบางคนกลัวไม่มีที่อยู่ อยากจะบอกเลยว่า ไม่ต้องกลัว อาคารหลังใหม่มีพื้นที่กว้างกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม เราได้เสนอแบบการก่อสร้างใหม่เสนอให้ผู้มีอำนาจพิจารณา เมื่อมีการอนุมัติแล้ว แต่ถ้าไม่มีงบก็ต้องรอปีต่อไป

 -ข้อจำกัดของการสร้างที่พักให้อยู่ใกล้โรงพัก
  พ.ต.อ.ปัทเมฆ :  ตามหลักแล้วตำรวจต้องมีที่พักบริเวณโรงพัก เพราะหากเกิดเหตุจะสามารถมาตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริงทำได้ยาก โดยเฉพาะโรงพักเก่าๆ ที่สร้างอยู่ในเมืองนั้นเลิกคิดได้เลย หากเป็นต่างจังหวัดอาจจะพอมีพื้นที่ให้สร้างที่พักอยู่บ้าง แต่ถ้าเป็นในเมืองต้องพยายามหาคอนโดที่อยู่ใกล้โรงพักให้อยู่แทน บางแห่งก็แก้ปัญหาด้วยการสร้างแฟลตไว้บนโรงพักเลย อย่าง สน.พลับพลาไชย สน.บุคคโล สน.จักรวรรดิ

 -ตำรวจมีบ้านพักไกลจากที่ทำงาน มีมากน้อยเพียงใด
   พ.ต.อ.ปัทเมฆ : น่าจะมีอยู่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการแก้ปัญหานั้น หน่วยงานเขาต้องยื่นเรื่องขอให้มีการสร้างที่พักอาศัยเข้ามา เพื่อพิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วน

 -โครงการก่อสร้างที่กำลังเดินการอยู่
 พ.ต.อ.ปัทเมฆ : ตอนนี้กำลังก่อสร้างแฟลตตำรวจ 163 หลังทั่วประเทศ และสัญญาการสร้างโรงพัก 390 แห่งกำลังจะเริ่มทำเดือนหน้า แล้วก็มีงานโรงพยาบาลตำรวจสร้างตึก 20 ชั้นเพิ่ม

 -โรงพัก หรือที่พักตำรวจ ต้องเป็นแบบมาตรฐานเดียวกันหรือไม่
 พล.ต.ต.วิชัย : แต่ละหน่วยสามารถคิดแบบเองได้ อย่างกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 มีการเสนอแบบก่อสร้างเข้ามาให้ เพื่อให้เข้ากับท้องถิ่น โดยที่แบบมาตรฐานของเราไม่มีก็สามารถทำได้ ก็สามารถเสนอแบบอาคารมาได้

 -ตำรวจสังกัดกองโยธาฯ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
 พล.ต.ต.วิชัย : ตำรวจที่นี่ไม่ใช่จบโรงเรียนนายร้อยแล้วจะเข้ามาอยู่ที่นี่ได้ ต้องมีวุฒิทางวิชาชีพและความเชี่ยวชาญทางด้านก่อสร้างด้วย "หน่วยอื่นอาจจะถือปืนจับผู้ร้าย แต่หน่วยเราพกแต่ปากกาดินสอ" จึงจำเป็นที่ต้องมีความรู้ทางด้านนี้ โดยไม่ต้องไปจ้างวิศวกรเอกชน

 พ.ต.อ.ปัทเมฆ : การออกแบบงานหลังหนึ่งจำเป็นต้องมีสถาปนิก วิศวกรโยธาฯ วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรเครื่องกลระบบประปา วิศวกรสุขาภิบาล เป็นต้น ตำรวจโยธาฯ ต้องวิศวะ สถาปนิกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตำรวจชั้นประทวนก็จะจบ ปวช. ปวส. ด้านช่างก่อสร้างด้วย เพราะต้องทำหน้าที่ในการคุมงานก่อสร้างด้วย ตลอดจนการตกแต่งภายในอาคารด้วย

 -ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน
 พล.ต.ต.วิชัย : คงเป็นปัญหาคนไม่พอ (หัวเราะ) มันเป็นปัญหาทุกที่ กรณีมีงานมากก็ไม่สามารถที่ทำงานได้เต็มที่ ตำรวจกองโยธาฯ มีอยู่ 100 นาย ต้องบริหารคนให้เพียงพอโดยไม่ต้องไปจ้างคนเพิ่ม ยกตัวอย่าง โรงพักหนึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ ถ้าคนไม่พอต้องทำข้อตกลงกับโยธาฯจังหวัดได้ รับผิดชอบในการจ้างคนมาดำเนินการเพิ่ม โดยที่มีตำรวจโยธาฯ เป็นผู้ควบคุมงานนั้น

 อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาเรื่องอาคาร สถานที่ หรืออยากได้อะไรเกี่ยวกับงานก่อสร้าง งานปรับปรุง ตลอดจนงานซ่อมแซมทรัพยากรอาคารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้บอกกองโยธาฯ ตำรวจ จะคอยช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างเต็มที่