ข่าว

เขมรเปิดฉากยิงอีกเคลื่อนพลชิดตาควาย

26 เม.ย. 2554

เขมรเปิดฉากปะทะทหารไทยอีกรอบ พร้อมเคลื่อนกำลังพลกว่า 2 พันคนพร้อมอาวุธหนัก ตรึงพื้นที่ประชิดชายแดนไทยบริเวณปราสาทตาควาย-ตาเมือนธม บุรีรัมย์ตื่นฝูงบินขับไล่เอฟ5บินว่อนเหนือตะเข็บชายแดน

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 25 เม.ย. เกิดเหตุอีกระลอกระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชา ตลอดแนวชายแดนหลังหยุดยิงเมื่อช่วงค่ำวันที่ 24 เม.ย. ที่บริเวณทิศตะวันออก ปราสาทตาควาย บ้านหนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ โดยมีเสียงปืนกลเล็ก และปืนใหญ่ ดังอยู่ต่อเนื่อง

 พ.อ.ประวิทย์  หูแก้ว โฆษกกองทัพภาคที่ 2  กล่าวว่า เมื่อช่วงเวลา 18.00 น. ทหารกัมพูชาได้ยิงปืนเข้าใส่กองกำลังทหารไทย บริเวณปราสาทตาควาย บ้านหนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์  เรียบชายแดนมาจนถึงบริเวณทิศตะวันตก ปราสาทตาเมือนธม บ้านไทยสันติสุข ต.บักได อ.พนมดงรัก โดยการปะทะกันบริเวณปราสาทตาควายทหารกัมพูชา ได้เริ่มจากการใช้อาวุธปืนเล็ก ลูกระเบิดมือ จากนั้นมีการปรับกระบวนการโจมตี โดยเริ่มใช้อาวุธหนัก อาธิอาพีจี ปืนใหญ่ ส่วนบริเวณปราสาทตาเมือนธม ทหารกัมพูชาเริ่มยิงเข้าใส่ด้วยปืนกลเล็ก จากนั้นเริ่มใช้เครื่องยิงลูกระเบิด และตามมาด้วยปืนใหญ่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือไม่ เพราะยังคงมีเสียงปืนปะทะกันอยู่ต่อเนื่อง

 "ทั้งนี้ทางกองทัพภาค 2 ได้กำชับไปยังผู้บังคับบัญชาที่อยู่ในพื้นที่ และทหารที่อยู่หน้าแนว ให้ปกป้องอธิปไตยในดินแดนของประเทศไทยอย่างเต็มที่  และตอบโต้ตามกรอบที่ควรปฏิบัติ " พ.อ.ประวิทย์  กล่าว

 พ.อ.ประวิทย์  กล่าวอีกว่า หลังจากที่ พล.ท.ฮุน มาเน็ต เข้ามาควบคุมและบัญชาการการรบในครั้งนี้ ได้มีการขนกองกำลัง รบพิเศษ กองพัน 911 จำนวน 200 นาย พร้อมกับอาวุธยุทโธปกรณ์ เข้ามาสมทบกับกองกำลังทหารเขมร กองพลน้อย 42 กองพลทหารภูมิภาคที่ 4 ประเทศกัมพูชา ที่มี พล.ท.เจียมอน ผบ.กองพลภูมิภาคที่ 4 รับผิดชอบพื้นที่ จ.พระวิหาร-จ.อุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา และเป็นผู้บัญชาการ  ซึ่งขณะนี้มีกำลังทหารเขมรที่อยู่บริเวณปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาความ ประมาณ 2,000 นาย มีอาวุธหนัก อาทิปืนใหญ่ รถถัง อาร์พีจี  ปืน ค.เป็นต้น

 แหล่งข่าวสายทหารรายงานว่าขณะนี้ได้มีกองกำลังทหารกัมพูชาที่อยู่บริเวณบ้านโกนเกวียน ต.โอเสม็ด อ.โอเสม็ด จ.อุดรมีชัย ได้เคลื่อนกำลังพลกซึ่งมาจากกองพัน 425 จำนวน 4 กองร้อย ประกอบด้วย ร้อย ร.,ร.3,ร.4 และ ร้อย ร.6 ประมาณ 400 นาย พร้อมอาวุธหนักอาทิ รถถัง ปืนใหญ่ ปืนไร้แสงสะท้อนถอยหลัง (ปรส.)  74 กระบอก ปืน ค.120 มม. 12 กระบอก ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน 12.8 จำนวน 4 กระบอก  รถถัง T55 จำนวน 3 คัน เพื่อเข้าไปสมทบทหารกัมพูชาที่ฐานช่องกร่าง  บ้านทะมอโดน ต.โคกหมอน อ.บันเตียอำปึล จ.อุดรมีชัย ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับฐาน กองร้อย ตชด.ที่ 21 ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์

 บุรีรัมย์ตื่นฝูงบินขับไล่เอฟ5บินว่อนเหนือตะเข็บชายแดน

  เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. วันที่ 25 เม.ย. ที่ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ชาวบ้านได้ยินเสียงเครื่องบินขับไล่ บินอยู่เหนือท้องฟ้า เสียงดังกึกก้อง สร้างความตกใจให้กับชาวบ้าน ต่างพากันมองขึ้นไปบนท้องฟ้า และจับกลุ่มพูดคุยกันต่างๆนาน ว่าเกิดเหตุการณ์ใดขึ้น
               
 จากการสอบถาม แหล่งข่าวทหาร กองทัพภาคที่ 2 บอกว่า เป็นการฝึกบินตามปกติของ ทหารอากาศ กองบิน 1 นครราชสีมา  โดยใช้เครื่องบินขับไล่ แบบเอฟ 5 จำนวน 1 ชุด 3 ลำ ทำการบินในระดับความสูงห่างจากภาคพื้นดินไม่น้อยกว่า  8 กิโลเมตร ซึ่งจะบินในระดับที่ต่ำกว่านี้ไม่ได้ เพราะจะทำให้ผิดสนธิสัญญาการบินระหว่างประเทศได้

                โดยการฝึกบินครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ยิงปะทะระหว่างไทยกับกัมพูชา  ที่ชายแดน อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ พร้อมขอแจ้งให้พี่น้อง ประชาชนตามแนวชายแดนอย่าได้ตื่นตระหนก ให้ดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติ เพราะไม่ใช่การสู้รบ แต่เป็นฝึกบินเท่านั้น

 "องอาจ"ลงพื้นที่บุรีรัมย์เยี่ยมผู้อพยพหนีภัยสงคราม

 เมื่อเวลา 16.30 น.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาที่โรงเรียนโนนเจริญพิทยาคม ต.โนนเจริญ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ เพื่อประชุมและรับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรวมทั้งแนวทางปฏิบัติ ในการช่วยเหลือประชาชนผู้อพยพ ซึ่งขณะมีกว่า 700 ครัวเรือน 4,433  คน จาก 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ต.สายตะกู, ต.จันทบเพชร และ ต.โนนเจริญ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ โดยมี นายอภิชาต งามกมล รองผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ นายณัฐ ชาติ วัฒนศิริ นายอำเภอบ้านกรวด บรรยายสรุปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งการประชุมหารือใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงได้เดินทางไปเยี่ยม ปลอบขวัญ และให้กำลังใจประชาชนที่ศูนย์อพยพ พร้อมกับมอบถุงยังชีพให้กับประชาชน และขนมของเล่นให้กับเด็กๆ ภายในศูนย์ จากนั้นได้เดินทางไปที่โรงเรียนบ้านละหานทรายใหม่ ต.หินลาด อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์

            นายองอาจ กล่าวว่า ถึงแม้ จ.บุรีรัมย์จะไม่เกิดการสู้รบ แต่เหตุการณ์ปะทะที่เกิดขึ้นฝั่ง จ.สุรินทร์ก็ยังไม่คลี่คลายและน่าไม่ไว้วางใจ จึงจำเป็นต้องให้ชาวบ้านออกมายังศูนย์อพยพ เพื่อความปลอดภัยก่อน เพราะชีวิตของพี่น้องประชาชนสำคัญที่สุด  ซึ่งได้ให้เจ้าหน้าที่เร่งทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเหตุการณ์ปะทะจะเกิดขึ้นอีกเมื่อใด

 อย่างไรก็ตาม ได้ฝากให้ทางจังหวัดและอำเภอ ช่วยดูแล 3 เรื่องหลัก คือ ความปลอดภัยของชีวิตพี่น้องประชาชน โดยให้ทางภาครัฐทำความเข้าใจกับชาวบ้าน 2.ดูแลเรื่องทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยจัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ อส. และชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน(ชรบ.) ตรวจตราตลอด 24 ชั่วโมง  3.ดู และด้านสุขอนามัย อาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงสาธารณูปโภค เครื่องอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ ยังห่วงเด็กอ่อน และเด็กเล็กๆ ที่ยังไม่หย่านม มาอยู่ในศูนย์ให้จัดหาถุงยังชีพทั้งสำหรับผู้ใหญ่และเด็กควบคู่กันไปด้วย

 “ขอให้ประชาชนได้มั่นใจว่ารัฐบาลจะไม่ทอดทิ้ง  ส่วนจังหวัดตามแนวชายแดนที่หลุมหลบภัยในหมู่บ้านไม่เพียงพอ  ให้ทางจังหวัดสำรวจและรายงานไปยังสำนักนายกฯ   เพราะขณะนี้ได้มีการพูดคุยกับกระทรวงมหาดไทยในด้านงบประมาณแล้ว” นายองอาจ กล่าวและว่า

 จากการประเมินสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา  ขณะนี้ยังไม่น่าไว้วางใจ และยังไม่อนุญาตให้ชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัยกลับเข้าบ้าน  จนกว่าเหตุการณ์จะคลี่คลายเพื่อความปลอดภัยของชาวบ้าน โดยจะมีการติดตามสถานการณ์ทุกวัน ส่วนการเจรจาหยุดยิงนั้นยอมรับว่าค่อนข้างจะเป็นเรื่องลำบาก เพราะขณะนี้ยังมีการปะทะอยู่อย่างต่อเนื่อง  และเรื่องดังกล่าวไม่สามารถทำฝ่ายเดียวได้ ต้องมีความเห็นพ้องกันตรงกันทั้งสองฝ่าย  ซึ่งทางรัฐบาลพยายามทุกวิธีทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้คลี่คลายลงโดยเร็ว   แต่ก็ยืนยันว่าไทยไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะไปรุกรานใคร  ที่ทำอยู่ขณะนี้ก็เพียงปกป้องอธิปไตยเท่านั้น

รมต.สธ.เยี่ยมกำลังพลที่ได้รับบาดเจ็บที่สุรินทร์

 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ประชุมวางแผนจัดบริการด้านการแพทย์สาธารณสุขรองรับเหตุปะทะชายแดนไทย-กัมพูชา พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจทหารบาดเจ็บจากการปะทะกับทหารกัมพูชา ที่นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์  6  คน หลังจากนั้น เดินทางไปเยี่ยมประชาชนในศูนย์อพยพที่นิคมปราสาท อ.ปราสาท และ ตรวจเยี่ยมให้กำลังเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานที่โรงพยาบาลพพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ พร้อมเยี่ยมทหาร ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะ เมื่อคืนที่ผ่านมา จำนวน 4 ที่เข้ารับการรักษา ที่โรงพยาบาลพนมดงรัก ซึ่งทั้ง  4 นายขณะนี้ อาการปลอดภัยแล้ว

 นายจุรินทร์กล่าวว่า  กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ดูแลเป็นพิเศษ 3 เรื่อง คือ 1.จัดระบบส่งตัวผู้ป่วยฉุกเฉินหรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ซึ่งปัจจุบันเรารับมืออยู่ และมีการจัดระบบการส่งต่อชัดเจนอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ 2.ด้านสุขภาพจิตของประชาชนในศูนย์อพยพทั้ง 33 แห่ง เป็นเรื่องปกติ เมื่อเกิดสถานการณ์ไม่ปกติ ต้องมีความเครียด จากสภาพความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปอย่างกระทันหัน ความห่วงทรัพย์สิน รวมทั้งสถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านความปลอดภัยนำไปสู่ความเครียด  โดยในช่วง 3-4วันที่ผ่านมาได้คัดกรองด้านสุขภาพจิตผู้อพยพ จำนวน 8,000 คน พบเครียด 98 คน เครียดสูง 29 คน เครียดและซึมเศร้า 69 คน เสี่ยงฆ่าตัวตาย 16 คน  อาการรุนแรงที่ต้องเฝ้าระวัง 36 คน ต้องพบจิตแพทย์และให้ยา 84 คน โดยให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดูแลใกล้ชิด ให้ประกบดูแลเป็นรายบุคคล  และ3.ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม น้ำ อาหาร สุขา สภาพที่อยู่อาศัยในศูนย์อพยพ ขณะเจ้าหน้าที่ทำได้ดีปัญหาน้อยมากเพราะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปดูแลตั้งแต่ต้น รวมทั้งการควบคุมไม่ให้เกิดโรคระบาด เพราะคนอยู่รวมกันมากๆอาจเกิดปัญหาได้ และกำชับการจัดสร้างหลุมหลบภัย ภายในศูนย์บริการสาธารณสุข ระดับตำบล และอำเภอ ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ โดยให้ใช้รูปแบบหลุมหลบภัยแบบเดียวกับของทหารและของฝ่ายปกครองโดยจะนำเรื่องนี้หารือ ในคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้

 ทั้งนี้ ตั้งแต่ 22-25 เมษายน 2554 มีทหารได้รับบาดเจ็บจากการปะทะ จำนวน 33 ราย เสียชีวิต 5 ราย มีประชาชนได้รับผลกระทบ ที่อำเภอกาบเชิง และพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ 57,055 คน อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ 15,884 คน  กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์ดูแลในศูนย์อพยพ ทุกแห่ง 33 แห่ง ใน จังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ มีประชาชนในศูนย์อพยพ ประมาณ 27,000 คน  โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดสุรินทร์  จัดทีมแพทย์เข้าไปดูแล  รวมทั้งระดมทีมแพทย์พร้อมรถพยาบาล จากจังหวัดนครราชสีมา  ขอนแก่น และบุรีรัมย์   เข้าช่วยเสริม  จนถึงวันนี้มีประชาชนในศูนย์อพยพเข้ารับบริการ จำนวน 2,841 คน ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ1,690 คน ระบบทางเดินอาหาร378 คนปวดศีรษะ 340 คน ปวดหลัง กล้ามเนื้ออักเสบ 223 คน และโรคอื่นๆ 210  คน