ข่าว

วังหน้า และวัดพระแก้ววังหน้า

วังหน้า และวัดพระแก้ววังหน้า

11 พ.ค. 2554

กรมศิลปากรกำลังศึกษาข้อมูลบริเวณ “ภูมิทัศน์แม่น้ำเจ้าพระยา” เตรียมขอเสนอขึ้นบัญชีเบื้องต้น (Tentative List) ของมรดกโลก ในปี 2555 เน้นอาคารสถานที่อันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งฝั่งธนบุรีและพระนคร

  ในจำนวนนั้นรวมถึงพระราชวังบวรสถานหรือวังหน้า ตรงเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งพระนคร ที่กระทรวงวัฒนธรรม อนุมัติให้ปรับปรุงเป็นศูนย์รักษ์ศิลป์และโรงละครวังหน้าไว้ด้วย

 กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณสถานบริเวณวังหน้าทั้งหมดไว้ตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, โรงละครแห่งชาติ, โบสถ์วัดพระแก้ววังหน้า, จนถึงคลองหลอดใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า

 วังหน้า หรือพระราชวังบวรสถานมงคล เดิมคือที่ประทับของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา พระอนุชารัชกาลที่ 1) ปัจจุบันถูกรื้อลงเป็นสถานที่ราชการดังกล่าว

 กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ วังหน้าในรัชกาลที่ 3 โปรดให้สร้างวัดพระแก้ววังหน้า แต่มาสำเร็จในรัชกาลที่ 4 แล้วได้ชื่อวัดบวรสถานสุทธาวาส ภายในอุโบสถวัดพระแก้ววังหน้า มีภาพจิตรกรรมสำคัญ เล่าเรื่องตำนานพระพุทธสิหิงค์

 ที่เรียกกันว่า วัดพระแก้ววังหน้า เพราะเรียกตามอย่างวัดพระแก้ว ของวังหลวง
 หลัง พ.ศ.2475 รัฐบาลตั้งกรมศิลปากร ใช้บริเวณวัดพระแก้ววังหน้าเป็นโรงเรียนสอนนาฏศิลป์, ดนตรี, และช่างศิลป์ ปัจจุบันเรียกรวมว่า สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

 สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ มีอาคารที่ปรับปรุงขึ้นรับการท่องเที่ยว บดบังทัศนียภาพอุโบสถวัดพระแก้ววังหน้า กระทรวงวัฒนธรรมจึงมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 18 มกราคม 2551 ให้ย้ายไปอยู่สถานที่ใหม่ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม แต่ให้อยู่ตรงโบสถ์พระแก้ววังหน้าเป็นการชั่วคราวเท่านั้น
         
"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"