
ชายชาติอาชาไนย
ปีนี้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีชาตกาลครบรอบ 90 ปี นอกจากเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทยและผู้ก่อตั้งพรรคชาติพัฒนา และร่วมก่อตั้งพรรคชาติไทยแล้ว ยังนับได้ว่าท่านเป็นบุคคลที่มีประวัติโลดโผนคนหนึ่ง ที่มีชีวิตเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติรัฐประหารหลายครั้งหลา
พล.อ.ชาติชายเกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2463 เป็นบุตรของจอมพลผิน ชุณหะวัณ อดีตหัวหน้าคณะปฏิวัติ พ.ศ.2490 เพื่อคืนอำนาจให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พล.อ.ชาติชายมีพี่สาว 3 คน คือคุณหญิงอุดมลักษณ์ ศรียานนท์ ภริยา พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ คุณพร้อม ทัพพะรังสี มารดาของนายกร ทัพพะรังสี และท่านผู้หญิงเจริญ อดิเรกสาร ภริยา พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งแต่ละคนล้วนมีบทบาทในทางการเมืองสืบเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน จนถึงรุ่นลูกหลาน
ในส่วนของ พล.อ.ชาติชายเองได้เข้าร่วมการปฏิวัติ 2 ครั้ง คือใน พ.ศ.2490 ขณะมียศเป็น ร.ต. และ พ.ศ.2494 เมื่อมียศเป็น ร.อ. แต่เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจากจอมพล ป. ใน พ.ศ.2500 พล.จ.ชาติชาย (ยศขณะนั้น) ถูกส่งไปเป็นอัครราชทูตที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา และเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย กับเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ
จนถึงปี พ.ศ.2515 (หลังจอมพลถนอม กิตติขจร ปฏิวัติตัวเอง ใน พ.ศ.2514) จึงกลับมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ และในปีเดียวกันนั้น ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลของจอมพลถนอม จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้จอมพลถนอมต้องเดินทางออกไปนอกประเทศ
ใน พ.ศ.2517 พล.อ.ชาติชายได้ร่วมกับ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร และ พล.อ.ศิริ สิริโยธิน ก่อตั้งพรรคชาติไทย และในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2518 พล.อ.ชาติชายได้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งได้รับการเลือกตั้งติดต่อกัน 5 สมัย รวมทั้งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พ.ศ.2518) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (พ.ศ.2519) รองนายกรัฐมนตรี (พ.ศ.2529) และนายกรัฐมนตรี ใน พ.ศ.2531
อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ.2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ภายใต้การนำของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล และ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี ได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจจาก พล.อ.ชาติชาย ด้วยข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น และเผด็จการทางรัฐสภา
จากเหตุการณ์ รสช. ทำให้ พล.อ.ชาติชายต้องเดินทางไปพำนักอยู่ที่ประเทศอังกฤษ แต่ภายหลังกรณีพฤษภาทมิฬ ใน พ.ศ.2535 จึงกลับมาตั้งพรรคชาติพัฒนา และลงสมัครรับเลือกตั้งที่ จ.นครราชสีมา โดยได้รับการเลือกตั้งเช่นเดิม เมื่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2540 พรรคร่วมรัฐบาลมีมติสนับสนุน พล.อ.ชาติชาย ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน
แต่พรรคกิจสังคม ของนายมนตรี พงษ์พานิช ได้หันไปสนับสนุนนายชวน หลีกภัย ส่วนพรรคประชากรไทย ของนายสมัคร สุนทรเวช ก็เกิด “กลุ่มงูเห่า” ที่แยกไปสนับสนุนนายชวนเช่นกัน ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาล และนายชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2541 ที่ประเทศอังกฤษ ขณะมีอายุได้ 78 ปี โดยฝากผลงานไว้แก่บ้านเมืองหลายประการ อาทิ การมีบทบาทในการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี พ.ศ.2518 ในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และเมื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ได้ประกาศนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” ด้วยการประสานงานให้มีการเจรจายุติการสู้รบระหว่างเขมร 4 ฝ่าย และสนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐบาลของสมเด็จเจ้านโรดม สีหนุ เป็นผลสำเร็จ นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานของประเทศ ทั้งด้านคมนาคม โทรคมนาคม ขนส่งมวลชน พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ และอุตสาหกรรม เป็นต้น
ครับ อ่านเรื่องของ พล.อ.ชาติชายแล้ว คุณผู้อ่านคงจะรู้สึกเหมือนผมว่า แม้ในวันนี้แล้ว การเมืองไทยก็ยังคงวนเวียนอยู่ในวังวนเดิมๆ โดยไม่ได้พัฒนาไปไหนเลยแหละครับ