"คนกล้า" กับการอุทิศตนเพื่อสังคม
ในสังคมไทยปัจจุบัน น้อยนักที่จะมีคนกล้าลุกขึ้นมาเผชิญกับอันตราย และอุปสรรคเพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม หรือทำความดีให้แก่สังคมที่ตนอาศัยอยู่โดยไม่หวังผลตอบแทน
ล่าสุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ได้ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สำนักงานเขตปทุมวัน มูลนิธิฟรีดริช เนามัน มูลนิธิเอเชีย เครือข่ายจิตอาสา และทีวีไทย ทีวีสาธารณะ จัดพิธีมอบรางวัลให้แก่พลเมืองที่มีความกล้าหาญ ต่อสู้เพื่อพิทักษ์ความถูกต้องในสังคม อาทิ การปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ การต่อสู้เพื่อคนไร้สัญชาติ
รวมถึงการต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าในทุ่งใหญ่นเรศวร ทุกๆ ผลงานสะท้อนต้นแบบของความกล้าที่จะเผชิญกับสิ่งท้าทาย หรืออันตรายจากกลุ่มอิทธิพล พร้อมที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้องและยุติธรรมในสังคมไทย เพื่อเชิดชูเกียรติให้แก่กลุ่มคนเหล่านั้น ภายใต้ “โครงการพลเมืองคนกล้า” มุ่งหวังกระตุ้นจิตสำนึกให้ประชาชน เยาวชนไทย ตระหนักถึงการเป็นพลเมืองที่กล้ายืนหยัดเพื่อพิทักษ์ความถูกต้องให้เกิดขึ้นในสังคม เหมือนกับเหล่าผู้กล้า อาทิ
ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกร ผู้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ ด้วยต้องการทำประโยชน์ให้แก่สังคมและช่วยเหลือคนยากไร้ โดยมิได้หวังสิ่งตอบแทน แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ มากมายที่เข้ามารุมเร้าในการผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ ตั้งแต่เรื่องการขัดผลประโยชน์ของบริษัทยาต่างๆ รวมไปถึงการถูกฟ้องร้องคดีการผลิตยาที่มีราคาต่ำกว่าบริษัทเอกชนรายอื่น ดร.กฤษณา เล่าว่า สิ่งที่ทำมันออกมาจากจิตใต้สำนึก อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ปัจจุบันหลังจากที่ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ จนได้รับการยอมรับจากประเทศไทยแล้ว ตนก็เดินสายออกต่างประเทศ โดยเฉพาะการเดินทางเข้าประเทศในแถบแอฟริกา เพื่อสอนการผลิตยา มอบความรู้ให้แก่ประเทศยากจนได้พัฒนาเอาสูตรยาไปใช้ สิ่งที่ได้ทำไปเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่มีความสุขที่มอบให้แก่ตัวเองได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการมอบความสุขให้แก่ผู้อื่นให้เขาเหล่านั้นได้เห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น
ขณะที่ "ป้ามล" ทิชา ณ นคร คนพลิกด้านดีให้ชีวิตเด็ก ผู้บุกเบิกและต่อสู้เพื่องานส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิเด็กและครอบครัว แห่งบ้านกาญจนาภิเษก เล่าว่า การเข้ามาทำงานด้านนี้เราต้องการจะแก้ปัญหาสังคมด้วยการขัดเกลาความคิดของเด็กที่กระทำความผิด โดยในความคิดแล้วเชื่อว่าเด็กที่เข้ามาทุกคนไม่ได้เกิดมาเป็นคนเลว แต่เขาเหล่านั้นมีความคิดที่ผิดพลาด การเข้ามาบ้านกาญจนาภิเษกเหมือนกับเขาเข้ามาซ่อมความคิดใหม่ ด้วยการมอบความรัก ความเมตตา ปลอบโยนให้แก่เด็กๆ ได้สัมผัสว่าการที่เขาเข้ามาที่นี่มันไม่ใช่สถานที่ที่เลวร้าย แต่เป็นบ้านอีกหลังหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาความคิดเขาใหม่ ขัดเกลาเขาให้เป็นคนดี และก้าวออกไปสู่สังคมภายนอกเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมประเทศชาติต่อไปอย่างภาคภูมิใจ
ด้าน นฤมล บัวเงิน หญิงพิการวัย 29 ปี แม้ร่างกายจะพิการแต่ใจไม่เคยพิการ เล่าว่า เธอได้เป็นอาสาสมัครผู้พิการ ที่ชักนำผู้คนมาร่วมกันทำกิจกรรมดีๆ ให้แก่สังคม โดยไม่สนใจว่าความพิการจะเป็นอุปสรรคขัดขวางความตั้งใจที่จะทำกิจกรรมเพื่อสังคม นอกจากนี้ยังทำงานกับผู้พิการที่มีอาการหนัก ช่วยเหลือตัวเองแทบไม่ได้ โดยจะไปเยี่ยมที่บ้าน พูดคุยให้กำลังใจ มุ่งหวังเพื่อให้ผู้พิการเหล่านั้นมีกำลังใจ ไม่ย้อท้อต่อความพิการ และต่อสู้ใช้ชีวิตต่อไป
นี่คือเพียงตัวอย่างของคนกล้าที่กล้าต่อสู้ต่อความอยุติธรรมในสังคม หากสังคมไทยมีบุคคลที่กล้าหาญ ไม่เกรงกลัวต่ออุปสรรคเหมือนกับคนกล้าเหล่านี้ ประเทศชาติของเราคงจะเป็นประเทศที่มีสันติภาพที่ยั่งยืนอย่างแน่นอน