
ตึกชิโน-โปรตุกีสที่เมืองภูเก็ต ตะวันตกผสมตะวันออก
ชื่อ จ.ภูเก็ต เดิมสะกดด้วย จ ว่า ภูเก็จ รัชกาลที่ 6 ทรงอธิบายว่า ภูเก็จ และ ภูเก็ต มาจากคำมลายูว่า บูกิต แปลว่า ภูเขา แล้วแผลงเป็นพูเก็ต และภูเก็ต
ชาวทมิฬ เมื่อ พ.ศ.1568 เรียกพื้นที่นี้ว่า "มณินครัม" หมายถึง เมืองแก้ว (มณิ หรือ มณี หมายถึง แก้ว, นครัม คือนคร หมายถึง เมือง) เลยมีคำอธิบายว่า ภูเก็จ ตั้งชื่อตาม มณินครัม
แต่ชื่อเก่าสุดในเอกสารเมื่อ พ.ศ.700 ของคลาดีอุส ปโตเลมี (Cladius Ptolemy) นักปรัชญาชาวกรีก ระบุตำแหน่งที่ตรงกับภูเก็ตเรียกว่า จังค์ ซีลอน (Junk Cylon) มาจาก "Ajung-Selan" ในภาษามลายู หมายถึง ท่าจอดพักเรือสินค้าที่ศรีลังกาน้อย หรือท่าบนคาบสมุทรมลายู (ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับลังกา) คำว่า Ajung แปลว่า เรือใหญ่ ส่วน Selan หมายถึงชื่อ Ceylon หรือศรีลังกา
ชิโน-โปรตุกีส คือ ชื่อเรียกสถาปัตยกรรมแบบผสมระหว่างจีนกับโปรตุเกสพบมากในบ้านเมืองแถบแหลมมลายู เช่น มะละกา ปีนัง ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ มาเก๊า ไทย รวมถึงใน จ.ภูเก็ต
อาคารรูปแบบนี้เกิดเมื่อราวหลัง พ.ศ.2200 โปรตุเกส เข้าไปเช่าเมืองเกาลูนจากจีน มีอาคารโปรตุเกสที่สร้างโดยช่างชาวจีนจึงเกิดการผสมผสานรูปแบบและวัฒนธรรมตะวันตก-ตะวันออก เมื่ออังกฤษเข้ามามีอิทธิพลในฮ่องกง สิงคโปร์ จนถึงปีนัง ก็ได้นำเอารูปแบบการก่อสร้างมาปรับปรุงเพิ่มเติมจนเป็นแบบ ชิโน-โปรตุเกส ที่แพร่หลายในดินแดนแถบนี้
ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส อาคารมีโครงสร้างแบบตะวันตก แต่อากาศถ่ายเทได้สะดวกแบบตะวันออก แปลนนอกอาคารจะมีช่องให้แสงส่องเข้ามาได้ ไม่ให้อากาศอบอ้าวมีบ่อน้ำในบ้านอย่างน้อยหนึ่งบ่อแบบบ้านจีนสำหรับบริโภค มีหน้าต่างหรือบัลโคนียื่นจากตัวบ้านแบบยุโรป กรุบานประตูหน้าต่างด้วยกระจก ตกแต่งลวดลายอาคารแบบจีน ปูพื้นกระเบื้องลายฝรั่ง หลังคามุงกระเบื้องดินเผาทรงกระบอกผ่าครึ่งแบบจีน
อาคารชิโน-โปรตุกีส ในภูเก็ตส่วนใหญ่สร้างใน พ.ศ.2444-2456 สมัยรัชกาลที่ 5 ครั้งพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต ภูเก็ตมีความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับปีนัง นักธุรกิจชาวจีนที่เข้ามาทำธุรกิจเหมืองแร่ดีบุกนำเอาอาคารแบบชิโน-โปรตุกีส เข้ามาเผยแพร่ในครั้งนั้นเพราะสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมผสมของภูเก็ต
สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) จึงร่วมมือกับเทศบาลนครภูเก็ตดันย่านเก่าชิโนโปรตุกีสเป็นพิพิธภัณฑ์เมือง เตรียมเสนอยูเนสโกประกาศเป็นเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์
"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"